backup og meta

เด็กทารก กับโภชนาการที่เหมาะสมและปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    เด็กทารก กับโภชนาการที่เหมาะสมและปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย

    เด็กทารก หมายถึง เด็กในช่วงอายุ 0-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพัฒนาการ รวมถึงสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับลูกน้อย ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต การรับประทานอาหาร การสื่อสาร หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อรักษาหรือรับมือได้อย่างทันท่วงที

    เด็กทารก คือช่วงวัยใด 

    เด็กทารก หมายถึง เด็กในช่วงอายุ 0-12 เดือน เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อย่างน้ำหนักและส่วนสูง รวมถึงพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเดือน เช่น การพลิกคว่ำ การนั่ง การยืน การก้าวเดินครั้งแรก การส่งเสียงอ้อแอ้ การยิ้ม การหัวเราะ โดยปัจจัยที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ได้แก่ สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และโภชนาการ

    อย่างไรก็ตาม เด็กทารกบางคนอาจมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตเด็กทารกอยู่เสมอ เพราะอาจมีสัญญาณเตือนบางอย่างว่าเด็กมีความบกพร่องด้านใดด้านหนึ่ง จึงส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน

    พัฒนาการเด็กทารก 

    พัฒนาการที่สำคัญของทารกในแต่ละเดือน มีดังต่อไปนี้ 

    พัฒนาการด้านน้ำหนักและส่วนสูง 

    ส่วนสูงและน้ำหนักของเด็กทารกควรอยู่ในเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

    (หากตัวเลขคลาดเคลื่อนจากตารางนี้เล็กน้อย อาจสังเกตโดยใกล้ชิดไปก่อนสัก 1-2 เดือน แต่หากตัวเลขต่างจากเกณฑ์มาก แนะนำให้พาเด็กทารกไปตรวจกับกุมารแพทย์ทันที)

    อายุ

    น้ำหนักชาย น้ำหนักหญิง ส่วนสูงชาย ส่วนสูงหญิง

    1 เดือน

    4.5 กก. 4.2 กก. 54.7 ซม. 53.7 ซม.

    2 เดือน

    5.6 กก.

    5.1 กก.

    58.4 ซม.

    57.1 ซม.

    3 เดือน

    6.4 กก. 5.8 กก. 61.4 ซม.

    59.8 ซม.

    4 เดือน

    7.0 กก. 6.4 กก. 63.9 ซม.

    62.1 ซม.

    5 เดือน

    7.5 กก. 6.9 กก. 65.9 ซม.

    64.0 ซม.

    6 เดือน

    7.9 กก. 7.3 กก. 67.6 ซม.

    65.7 ซม.

    7 เดือน

    8.3 กก. 7.6 กก. 69.2 ซม.

    67.3 ซม.

    8 เดือน

    8.6 กก. 7.9 กก. 70.6 ซม.

    68.7 ซม.

    9 เดือน 8.9 กก. 8.2 กก. 72.0 ซม.

    70.1 ซม.

    10 เดือน 9.2 กก. 8.5 กก. 73.3 ซม.

    71.5 ซม.

    11 เดือน 9.4 กก. 8.7 กก. 74.5 ซม.

    72.8 ซม.

    12 เดือน 9.6 กก. 8.9 กก. 75.7 ซม.

    74.0 ซม.

    พัฒนาการด้านการเรียนรู้

    เด็กทารกอายุ 1-3 เดือน 

  • สามารถยกและหันศีรษะได้ขณะนอนหงาย
  • เริ่มเอามือเข้าปาก และเอื้อมมือคว้าวัตถุที่ห้อยอยู่
  • มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหว 
  • ใช้เสียงเพื่อส่งสัญญาณความต้องการ เช่น ความหิว ความเจ็บปวด เป็นต้น
  • เด็กทารกอายุ 4-6 เดือน

    • เริ่มพลิกตัวจากหน้าไปหลัง หรือหลังมาหน้า (คว่ำ/หงาย)
    • นั่งเองโดยไม่ต้องประคองได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ 
    • เอื้อมมือคว้าสิ่งของต่าง ๆ ได้
    • แสดงอารมณ์ท่าทาง เช่น ยิ้ม หัวเราะ ดีใจ ขัดใจ เริ่มส่งเสียง เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างให้คุณพ่อ คุณแม่รับรู้
    • ควบคุมกล้ามเนื้อตาได้ดีขึ้น มองเห็นได้ไกลขึ้น

    เด็กทารกอายุ 7-9 เดือน

    • เริ่มหัดคลาน 
    • นั่งได้มั่นคงโดยไม่ต้องประคองได้นานขึ้น
    • เริ่มมีการส่งเสียงเป็นคำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ 
    • เล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อนเอาไว้ 

    เด็กทารกอายุ 10-12 เดือน  

    • เริ่มเรียนรู้ที่จะยืนด้วยตนเอง โดยการเกาะยืนแล้วเริ่มอยากก้าวเดิน
    • พูดคำที่มี 1 พยางค์ได้ 1-2 คำ
    • เริ่มเข้าใจ และเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ เช่น โบกมือบ๊ายบาย
    • เริ่มดื่มน้ำ หรือใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบอาหารชิ้นเล็ก ๆ กินเองได้ 

    โภชนาการสำหรับเด็กทารก

    อาหารที่จำเป็นสำหรับเด็ก คือ นมแม่ เพราะน้ำนมแม่มีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกค่อนข้างครบถ้วน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กทารกเจริญเติบโตขึ้น สารอาหารในน้ำนมแม่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงแนะนำให้เริ่มอาหาร 1 มื้อควบคู่กับการรับประทานนมแม่เมื่อทารกอายุประมาณ 4-6 เดือนขึ้นไป (ปรึกษากุมารแพทย์ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน) โดยสารอาหารที่เด็กทารกต้องการเพิ่มเพื่อการเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่สมวัย และมีสุขภาพดี มีดังนี้ 

    • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน 
    • ไขมัน มีส่วนช่วยในการพัฒนาของสมอง ช่วยให้ผิวและผมให้แข็งแรง ทั้งยังอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ 
    • ธาตุเหล็ก ช่วยพัฒนาสมอง และเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือด 
    • โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย 
    • สังกะสีช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ 
    • วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ผิว ผม และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 
    • วิตามินบี 6 ช่วยบำรุงเซลล์สมอง และระบบภูมิคุ้มกัน
    • วิตามินบี 12 ช่วยบำรุงเซลล์ประสาทและเซลล์เม็ดเลือด 
    • วิตามินซี ช่วยสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ 
    • วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร
    • วิตามินเค ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว 

    คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอประจำตัวเด็ก หรือนักโภชนาการเด็กในแต่ละวัย เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมที่สุด 

    โรคและปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในเด็กทารก

    อาการที่อาจพบได้บ่อยในเด็กทารก เช่น 

    • ท้องอืด อาจเกิดจากระบบทางเดินอาหารของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงย่อยโปรตีนและแลคโตสได้ไม่ดีนัก หรืออาจเกิดจากการไม่ได้ไล่ลมให้เด็กเรอออกมาหลังดื่มนม
    • ไอหรือสำลักนมแม่ หากเด็กทารกดูดนมแม่เร็วเกินไป อาจทำให้ไอหรือสำลักได้ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่น้ำนมแม่ไหลเร็วและแรง ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้จะหายไปเมื่อเด็กดูดนมแม่เสร็จแล้ว แต่หากอาการไม่หายไปหรือมีอาการเรื้อรัง ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าปอดหรือทางเดินอาหารของเด็กทารกมีปัญหา
    • ร้องไห้หนัก เด็กทารกมักร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ หากทารกร้องไห้แม้จะกินอิ่ม เรอ และสวมผ้าอ้อมที่สะอาดแล้ว อาจใช้วิธีอุ้มทารกไว้และพูดคุยหรือร้องเพลงให้ฟังจนกว่าทารกจะหยุดร้องไห้
    • การนอนหลับ เด็กทารกมักตื่นนอนทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง กินอิ่ม ร่าเริง และตื่นตัวในตอนกลางวัน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเด็กทารกไม่ค่อยตื่นตัว ดูเหนื่อยล้า ไม่ตื่นมากินอาหาร หรือไม่อยากอาหาร ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ 
    • ถ่ายอุจจาระผิดปกติ อุจจาระสีดำหรือสีเขียวเข้ม หรือที่เรียกว่า ขี้เทา เป็นอุจจาระครั้งแรกของทารก ทารกจำเป็นต้องขับขี้เทาออกจากลำไส้ให้หมดภายใน 2-3 วันหลังคลอด หากไม่ถ่ายขี้เทาออกมาภายใน 48 ชั่วโมงแรก อาจมีปัญหาลำไส้อุดตัน นอกจากนี้ หากอุจจาระทารกเป็นสีแดง หรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นสัญญาณว่าทารกมีแผลบริเวณทวารหนักจากการถ่ายอุจจาระ บางกรณีอาจมีเลือดออกภายในลำไส้ หากปริมาณเลือดไม่เยอะและเป็นเพียง 1 ครั้ง โดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อเนื่อง หรือปริมาณเลือดออกมาก ควรแจ้งคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด 
    • บาดเจ็บจากการคลอด ปัจจัยบางประการ เช่น ทารกตัวใหญ่ คลอดยาก ใช้ระยะเวลาในการทำคลอดนาน อาจทำให้เด็กทารกบาดเจ็บจากการคลอด เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก ซึ่งอาจสามารถรักษาได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ต้องได้รับการดูแลรักษาโดยกุมารแพทย์/ศัลยแพทย์กระดูกและข้อร่วมด้วย
    • Blue Baby เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังของทารกเปลี่ยนเป็นสีฟ้า หรือม่วงอ่อน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า หัวใจ หรือปอดทำงานผิดปกติ หรือได้รับออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ หากมีภาวะนี้ควรรีบพาเด็กทารกไปพบคุณหมอทันที
    • ดีซ่าน “บิลิรูบิน” เป็นสารสีเหลืองที่ถูกเปลี่ยนมาจากฮีโมโกลบินในเลือด ผ่านกระบวนการที่ตับและขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ โดยปกติตับจะขับบิลิรูบินออกจากร่างกาย แต่สำหรับทารกในช่วง 2-3 วันหลังคลอด ตับยังทำงานไม่เต็มที่ ส่งผลให้ระดับบิลิรูบินในเลือดสูงเกินไป จึงอาจทำให้ทารกมีภาวะตัวเหลือง หรือที่เรียกว่าดีซ่าน
    • ปัญหาเกี่ยวกับสะดือ เช่น มีเลือดออกจากสะดือ หากมีเลือดออกมาก ควรรีบพาทารกไปพบคุณหมอทันที เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ทารกอาจมีปัญหาสะดืออักเสบเรื้อรัง ทำให้สะดือแฉะอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้มักหายภายในประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลาดังกล่าว หรืออาการแย่ลง ควรรีบพาทารกไปพบคุณหมอทันที

    ข้อควรระวังในการดูแลเด็กทารก

    • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ล้างขวดนมและจุกนมแล้วนึ่งหรืออบฆ่าเชื้อให้สะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่แข็งแรงพอ จึงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย 
    • ไม่ควรวางเด็กทารกบนเตียงสูง เพราะอาจทำให้ตกเตียงได้ และพยายามให้เด็กทารกนอนหงาย เพราะหากนอนคว่ำหน้าอาจทำให้หายใจไม่ออก เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้
    • ไม่ควรเขย่าตัวเด็กทารกแรง ๆ หรือโยนเด็กทารกขึ้นกลางอากาศ เพราะกล้ามเนื้อคอยังอ่อนแอไม่สามารถรองรับศีรษะได้ อีกทั้งการเขย่าทารกแรง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้เลือดออกที่เยื่อหุ้มสมอง อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้ 
    • ระวังอย่าให้เด็กคว้าของเล่น วัตถุต่าง ๆ รวมถึงอาหารแข็งหรืออาหารชิ้นใหญ่เข้าปาก เพราะอาจติดคอหรือทำให้สำลักได้
    • ปกป้องเด็กทารกจากควันบุหรี่ เพราะทารกอาจแพ้ควัน ที่สำคัญ ควันบุหรี่ยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา