backup og meta

ของเล่นเด็กอ่อน เลือกแบบไหนถึงจะเหมาะ

ของเล่นเด็กอ่อน เลือกแบบไหนถึงจะเหมาะ

เด็กอ่อน หมายถึง เด็กที่อยู่ในวัยแรกเกิดจนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นวัยที่การเจริญเติบโตและพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วิธีการหนึ่งที่อาจช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กได้ก็คือ การให้เด็กเล่นของเล่น อย่างไรก็ตาม ของเล่นเด็กอ่อน ควรเลือกให้เหมาะกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย โดยต้องให้ทั้งความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน และช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การเลือกซื้อของเล่นให้เด็กอ่อนควรคำนึงคุณภาพและมาตรฐานของของเล่นเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งานของเด็ก

[embed-health-tool-vaccination-tool]

พัฒนาการเด็กอ่อนในแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการของเด็กอ่อนแต่ละช่วงวัย อาจมีดังนี้

  • พัฒนาการเด็กอ่อนวัย 1-3 เดือน เด็กแรกเกิดในวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการทางร่างกายและสมอง พัฒนาการที่พบได้ทั่วไป อาจมีดังนี้
    • กำและแบมือ ขยับมือเข้าหาปากของตัวเองได้
    • หยิบสิ่งของเข้าปากได้
    • ไขว่คว้าหรือเอื้อมมือหาวัตถุที่ห้อยให้เห็นได้ เช่น โมบายหนีบรถเข็นหรือหนีบเปล
  • พัฒนาการเด็กอ่อนวัย 4-6 เดือน เด็กในวัยนี้เรียนรู้เรื่องรอบตัวมากขึ้น สามารถหยิบจับ รู้จักเรียนรู้ที่จะใช้งานสิ่งของรอบตัวได้คล่องแคล่วมากขึ้น และเริ่มส่งเสียงเพื่อสื่อสารในสิ่งที่ต้องการ พัฒนาการที่พบได้ทั่วไป อาจมีดังนี้
    • เริ่มนอนคว่ำและนอนหงายได้เอง
    • ส่งเสียงสูงต่ำด้วยภาษาของทารก
    • เริ่มหัวเราะ หยอกล้อ และเล่นกับคนรอบข้าง
    • สามารถเล่นของเล่นเองได้ และมักเอื้อมมือหยิบจับสิ่งของใกล้มือ ซึ่งอาจต้องระวังเด็กเอื้อมมือคว้าหรือดึงสิ่งของต่าง ๆ เช่น ดึงผมของคนอื่น
    • ช่วยพยุงให้นั่งได้ และควบคุมศีรษะและคอได้ดีขึ้น
  • พัฒนาการเด็กอ่อนวัย 7-9 เดือน เด็กวัยนี้เรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวไปมาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกลิ้งตัว การคลาน รวมไปถึงการเดิน เด็กบางคนอาจเริ่มตั้งไข่ตั้งแต่อายุได้ 7 เดือน ควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายภายในบ้าน เช่น ที่อุดปลั๊กไฟ ที่กั้นประตูหนีบ ที่กั้นบันได เพื่อไม่ให้เด็กที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็นได้รับอันตรายเมื่อสำรวจรอบบ้าน พัฒนาการที่พบได้ทั่วไป อาจมีดังนี้
    • สามารถนั่งเองได้
    • ปรบมือและเล่นเกมจ๊ะเอ๋กับคนอื่นได้
    • เริ่มคลานไปรอบ ๆ ด้วยการใช้ส่วนท้องพยุงตัวแล้วใช้ขาและแขนดันตัวไปข้างหน้า
    • ตอบสนองต่อเสียงที่รู้สึกคุ้นเคย อาจเริ่มเรียกคุณพ่อคุณแม่ หรือพูดตามคำที่สอนบ่อย ๆ ได้
  • พัฒนาการเด็กอ่อนวัย 10-12 เดือน เด็กอ่อนในวัยนี้มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดมาก น้ำหนักและส่วนสูงมักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเริ่มมีพฤติกรรมเหมือนเด็กวัยเตาะแตะที่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังเป็นเด็กอ่อนที่มีเรื่องต้องเรียนรู้อีกมาก พัฒนาการที่พบได้ทั่วไป อาจมีดังนี้
    • เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น รู้จักเกาะยึดเฟอร์นิเจอร์แล้วเดินไปรอบ ๆ
    • เลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง เช่น แสดงท่าทางพูดโทรศัพท์ตามที่เคยเห็นคนอื่นทำ
    • ชี้นิ้วไปยังสิ่งของที่ต้องการเพื่อเรียกร้องความสนใจ
    • เรียก “พ่อ” หรือ “แม่” หรือพูดคำได้ครั้งละ 1-2 คำ
    • อาจเริ่มเดินได้ตอนอายุ 1 ปี

ของเล่นเด็กอ่อน แบบไหนถึงจะเหมาะ

ของเล่นเด็กอ่อน ที่เหมาะกับช่วงวัย อาจมีดังต่อไปนี้

ของเล่นสำหรับเด็กอ่อนวัย 1-3 เดือน

เด็กอ่อนในช่วง 3 เดือนแรก ยังเล็กเกินไปที่จะหยิบจับสิ่งของ โดยทั่วไป มักจะชอบมองดูและสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงอาจเลือกของเล่นที่เสริมพัฒนาการด้านการมองเห็นพร้อมทำให้เด็กเพลิดเพลินได้ เช่น

  • โมบายแขวน ที่มีสีสันสดใสและมีเสียง อาจช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการมองเห็น การทำงานของดวงตา การเคลื่อนไหว และการได้ยิน การมองตามโมบายที่เคลื่อนไหวไปมาเหนือที่นอนหรือหน้ารถเข็นเด็ก อาจช่วยฝึกให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อตามากขึ้น และถ้าคุณพ่อคุณแม่เคลื่อนไหวโมบายให้เด็กหันศีรษะมองตามจากซ้ายไปขวา ก็จะฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณคอได้ เด็กในวัยแรกเกิดยังมองเห็นไม่ชัดเจน เห็นเป็นเพียงสีขาว ดำ เฉดสีเทาต่าง ๆ แต่ก็จะเริ่มมองเห็นสีได้มากขึ้นเมื่ออายุ 2-4 เดือนขึ้นไป การใช้โมบายที่มีสีสันสดใสอาจช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการมองเห็นสีของเด็ก และช่วยให้เด็กแยกเฉดสีต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น สีแดง สีเขียว สีเหลือง
  • กระจกเงาของเล่น ที่ทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก เช่น กระจกที่ทำจากพลาสติกหรือสติกเกอร์ ตุ๊กตาที่มีกระจกเงาสะท้อนแสงหรือภาพของตัวเด็ก กระจกเงาเด็กติดหลังเบาะรถ เนื่องจากเด็กในวัยนี้สนใจรูปทรงของใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าของคนที่เข้ามาใกล้หรือใบหน้าของตัวเอง เมื่อเห็นภาพสะท้อนที่เคลื่อนไหวเหมือนกันและมีปฏิสัมพันธ์ตอบกลับมา อาจทำให้เด็กรู้จักรูปร่างหน้าตาของตัวเอง และอาจช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมได้

ของเล่นสำหรับเด็กอ่อนวัย 4-6 เดือน

เด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไปส่วนใหญ่จะเริ่มเรียนรู้ที่จะหยิบจับของเล่น สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมือและนิ้วได้มากขึ้น ควรเลือกของเล่นที่เด็กหยิบจับได้ถนัดมือ แต่ไม่เล็กเกินไปจนเด็กอาจกลืนลงคอได้ เช่น

  • ยางกัดสำหรับเด็ก เช่น ยางกัดที่มีเสียง ยางกัดรูปผลไม้ ยางกัดแบบมีน้ำข้างใน ยางกัดที่เป็นทรงลูกบอล อาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และลดอาการคันเหงือกในช่วงที่ฟันน้ำนมกำลังขึ้น อีกทั้งการได้ลองสัมผัสผิวของวัตถุที่แปลกใหม่ อาจช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส การได้ยิน และพัฒนาการด้านสมองของเด็ก ให้เด็กรู้จักลักษณะของพื้นผิว สร้างความคุ้นเคยกับสีสันและรูปทรงใหม่ ๆ
  • ของเล่นที่มีเสียง จะช่วยกระตุ้นการฟังและการส่งเสียงของเด็กมากขึ้น เด็กจะหันตามเสียงของเล่น และอาจจะพยายามส่งเสียงตาม รวมถึงการร้องเพลง การพูดคุยกับลูกก็จะช่วยเรื่องพัฒนาการด้านภาษาได้ดี

ของเล่นสำหรับเด็กอ่อนวัย 6-12 เดือน

เด็กในวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น และต้องการลองทำสิ่งใหม่ ๆ มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและการคล่องตัวสูง อาจให้เล่นของเล่นที่ใช้ความคิดและส่งเสริมจินตนาการ เช่น

  • บล็อกตัวต่อ เช่น บล็อกตัวต่อคละสี ถาดบล็อกตัวต่อปริศนา บล็อกตัวต่อแม่เหล็ก เป็นของเล่นที่ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วของเด็กได้ดี และมีส่วนช่วยเสริมสร้างทักษะในการใช้มือและสายตา ช่วยให้เด็กเรียนรู้การแก้ไขปัญหาและการใช้จินตนาการ ทั้งยังช่วยฝึกให้เด็กมีสมาธิ รู้จักจดจ่อกับการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
  • การเล่นสมมติ ช่วงใกล้ 12 เดือน เด็กเริ่มเลียนแบบของใช้ผู้ใหญ่ในชีวิตประจำวัน การแสดงบทบาทสมมติ การใช้ของเล่นที่เป็นเครื่องใช้ ของเล่นอาชีพ ของเล่นเครื่องมือช่าง อาจช่วยให้เด็กเข้าใจการใช้ชีวิตในสถานการณ์จริงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจช่วยฝึกทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ

นอกจากนี้ ของเล่นเด็กที่ควรค่ากับทุกช่วงอายุ คือ หนังสือนิทานสำหรับเด็ก เช่น หนังสือนิทานทำจากซิลิโคนกันน้ำ หนังสือนิทานมุมมนที่ทำจากกระดาษหนาและแข็ง เพื่อให้เด็กสามารถหยิบจับและอาจนำเข้าปากได้โดยไม่เป็นอันตราย หนังสือนิทานจะช่วยเสริมทักษะด้านความคิด การใช้ภาษา และเสริมจินตนาการ ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาที่มีค่าร่วมกันมากขึ้นด้วย

วิธีเลือก ของเล่นเด็กอ่อน

วิธีเลือก ของเล่นเด็กอ่อน อย่างปลอดภัย อาจมีได้ดังนี้

  • เลือกของเล่นที่ได้มาตรฐานมอก. ปลอดภัยต่อการใช้งานและแข็งแรงทนทาน เหมาะกับการใช้งานของเด็กอ่อนที่มักจะเล่นของเล่นแรง ๆ หยิบไปเคี้ยว หรือโยนเล่นเป็นประจำ
  • ไม่เลือกของเล่นที่มีมุมแหลมคมที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กได้ และไม่ควรเลือกของเล่นที่สามารถยิงหรือดึงวัตถุขนาดเล็กออกจากของเล่นได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น เด็กยิงเข้าตาตัวเองหรือผู้อื่น เด็กกลืนชิ้นส่วนของเล่นขนาดเล็กลงคอ
  • เลือกของเล่นที่มีเสียงดังไม่เกิน 90 เดซิเบล เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการได้ยินของเด็ก
  • อ่านฉลากสินค้าอย่างละเอียดก่อนซื้อ ศึกษาวิธีการใช้งาน ข้อห้ามและคำเตือน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • เลือกของเล่นที่มีขนาดเหมาะสมกับเด็กอ่อน ไม่ควรมีชิ้นส่วนที่เล็กเกินไป อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 3 เซนติเมตร และยาวอย่างน้อย 6 เซนติเมตร และสายต้องไม่ยาวเกินไป เพราะอาจรัดคอและพันแขนพันขาเด็ก ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าของเล่นเด็กอ่อนอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากพบชิ้นส่วนที่หลุดออกหรือชำรุด ควรรีบซ่อมแซม หากซ่อมไม่ได้ควรทิ้งหรือซื้อใหม่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Baby’s First Year: How Infants Develop. https://www.webmd.com/parenting/baby/features/stages-of-development . Accessed March 21, 2022

Are Toys and Gadgets Good for Your Baby?. https://www.webmd.com/parenting/baby/features/baby-toys.  Accessed March 21, 2022

Toy Buying Tips for Babies & Young Children: AAP Report Explained. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/Pages/What-to-Look-for-in-a-Toy.aspx. Accessed March 21, 2022

How to Buy Safe Toys. https://www.healthychildren.org/English/safety-prevention/at-home/Pages/How-to-Buy-Safe-Toys.aspx. Accessed March 21, 2022

Choosing toys for children. https://raisingchildren.net.au/babies/play-learning/getting-play-started/choosing-toys. Accessed March 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน และวิธีเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำคัญอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา