backup og meta

ทารก กับพฤติกรรมทั่วไปของทารกที่ควรรู้

ทารก กับพฤติกรรมทั่วไปของทารกที่ควรรู้

ทารก โดยเฉพาะในวัยแรกเกิดมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ และอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติและพฤติกรรมบางประการที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ เช่น ตาเขเป็นครั้งคราว หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นศึกษาพฤติกรรมทั่วไปของทารก เช่น การนอนหลับ การหายใจ การมองเห็น เพื่อให้ทราบว่าพฤติกรรมใดที่เป็นปกติ และพฤติกรรมใดที่อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของทารก หากพบว่าทารกอาจมีพฤติกรรม หรือพัฒนาการผิดปกติ จะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที

พฤติกรรมทั่วไปของทารก

พฤติกรรมทั่วไปของทารก อาจมีดังนี้

การนอนหลับ

ทารกมักนอนหลับประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะนอนหลับรอบละ 20 นาที ถึง 4 ชั่วโมง และเนื่องจากกระเพาะอาหารทารกยังมีขนาดเล็ก จึงมักต้องตื่นขึ้นมากินนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เมื่ออายุได้ 3 เดือน ทารกอาจหลับได้นานถึง 6-8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และทารกแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมการนอนไม่เหมือนกัน เช่น ทารกบางคนตื่นมาในช่วงกลางดึกประมาณ 3-4 ครั้ง ในขณะที่ทารกบางคนสามารถหลับได้ตลอดคืน นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจประสบปัญหาทารกนอนหลับยากและพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการให้ทารกอาบน้ำอุ่น ให้ทารกดูดจุกนมหลอก ร้องเพลงกล่อมนอน เป็นต้น

การมองเห็น

ในช่วงหลังคลอด ทารกอาจมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน บางคนอาจมีอาการตาเข ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทารกที่การเคลื่อนไหวของดวงตายังไม่พัฒนาเต็มที่ อาการนี้สามารถหายเองได้ในเวลาไม่นาน โดยทั่วไป เมื่ออายุได้ 2-3 เดือน ทารกจะสามารถขยับลูกตาไปมาและโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น มองหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้นานขึ้น มองตามสิ่งของที่มีการเคลื่อนไหวได้

การได้ยินเสียง

สำหรับทารก ภาษาเปรียบเหมือนเสียงดนตรีที่มีโทนและจังหวะแตกต่างกันไป ทารกสามารถแยกแยะเสียงและจดจำเสียงของคนคุ้นเคยได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพูดคุยกับทารก หรืออ่านนิทานให้ฟังบ่อย ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ลูกจะจำได้ว่าเป็นเสียงของคนที่ใกล้ชิดและรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วย อีกทั้งยังอาจช่วยพัฒนาทักษะด้านการฟัง ภาษา และการสื่อสารให้ทารกได้ด้วย

การร้องไห้

ทารกร้องไห้หลายครั้งในแต่ละวัน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น หิว เหนื่อย ต้องการให้กอดปลอบ ร้อนหรือหนาวเกินไป รู้สึกกลัว รู้สึกป่วย รู้สึกไม่สบายตัวและต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม เนื่องจากทารกยังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้ จึงมักใช้การร้องไห้เป็นวิธีสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ถึงความต้องการของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งเฉยเมื่อทารกร้องไห้ เพราะหากเกิดจากปัญหาสุขภาพ จะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที

การหายใจ

บางครั้งทารกอาจมีวงจรการหายใจที่ดูไม่ปกติและทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวล เช่น การหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมทั่วไปของทารก ทารกมักมีสูดหายใจลึกและหายใจถี่ ก่อนจะค่อย ๆ หายใจช้าลง แล้วหยุดหายใจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วินาที แล้วจึงหายใจเข้าอีกครั้ง

การส่งเสียง

ทารกมักส่งเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงพูดอ้อแอ้ที่ไม่มีความหมาย เสียงหาว เสียงจาม เสียงสะอึกเมื่อกระเพาะอาหารขยายตัวหลังกินนม เสียงเรอเบา ๆ เสียงกรนเมื่อหลับลึก เสียงหวีดเบา ๆ ขณะหายใจ เนื่องจากทารกมีช่องจมูกที่แคบจึงทำให้เกิดเสียงแบบนี้ได้ และในบางครั้ง ทารกอาจเลียนแบบการออกเสียงของผู้ใหญ่ด้วย

การเคลื่อนไหว

ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด ทารกอาจแสดงท่าทางคล้ายกับตอนอยู่ในครรภ์ โดยจะกำมือเข้าด้วยกัน แล้วเอียงข้อศอก สะโพก เข่า แขนและขาไปทางด้านหน้าของร่างกาย อาการนี้จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน

ปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ

ปฏิกิริยาตอบสนองของทารกที่พบได้ทั่วไป เช่น

  • ปฏิกิริยาการค้นหา (Rooting reflex) ทารกจะพยายามหันหน้าไปตามทิศทางที่คิดว่ามีอาหาร เช่น หากสัมผัสแก้มของทารก ทารกจะหันมาพยายามดูดนิ้วมือ เพราะคิดว่าเป็นเต้านมของคุณแม่
  • ปฏิกิริยาการดูด (Sucking reflex) หากนำของเล่นหรือนิ้วเข้าไปใกล้หน้าทารก ทารกจะพยายามคว้าของสิ่งนั้นไปดูด
  • ปฏิกิริยาเมื่อตกใจ (Startle response) เมื่อได้ยินเสียงดังหรือตกใจ ทารกจะเกร็งตัวแล้วยกแขนและขาขึ้นโดยอัตโนมัติ พร้อมแบมืออก ก่อนจะกลับไปอยู่ในท่างอแขนขาอีกครั้ง
  • ปฏิกิริยาของคอ (Tonic neck reflex) ขณะนอนหงาย ทารกจะหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง พร้อมเหยียดแขนข้างหนึ่งไปทางเดียวกัน
  • ปฏิกิริยาการกำมือ (Grasp reflex) เมื่อวางของบนฝ่ามือ ทารกจะกำมืออัตโนมัติ
  • ปฏิกิริยาการก้าว (Stepping reflex) เมื่ออุ้มทารกขึ้นและให้เท้าสัมผัสกับพื้นแข็ง ทารกจะทำท่าเหยียดขา และขยับเหมือนกับกำลังเดินอยู่ แม้ว่าจะยังทรงตัวไม่ได้

พฤติกรรมทารกที่ผิดปกติ

หากทารกมีพฤติกรรมหรือภาวะผิดปกติเหล่านี้ ควรพาไปพบคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง

  • หายใจเข้า-ออกลึกจนเห็นกระดูกซี่โครงเคลื่อนขึ้น-ลงชัดเจน
  • หยุดหายใจนานกว่า 10 วินาที หรือหยุดหายใจไปเลย
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนยากขึ้น ไม่ยอมเข้านอนในตอนกลางคืน ไม่นอนกลางวัน
  • ทารกอายุ 2 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่มองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวได้ หรือไม่จ้องหน้าคุณพ่อคุณแม่แม้จะอยู่ตรงหน้า คล้ายกับมองเห็นไม่ชัด
  • ตาบวมแดง มีเมือกในตา อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ตา
  • เป็นไข้ มีอุณหภูมิร่างกายเกิน 38 องศาเซลเซียส
  • มีภาวะขาดน้ำ เช่น ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา ถ่ายปัสสาวะน้อย ปากแห้งแตก เบ้าตาดูลึกโหล
  • ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นเลือด
  • ไอเรื้อรังหรือไอเสียงแหลมสูง อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางเดินหายใจอักเสบ
  • อาเจียนออกมาภายใน 8 ชั่วโมงหลังกินนม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your newborn baby. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/after-the-birth/getting-to-know-your-newborn/. Accessed March 8, 2022

Newborn Reflexes and Behavior. https://familydoctor.org/newborn-reflexes-behavior/. Accessed March 8, 2022

Bringing Your Baby Home. https://familydoctor.org/bringing-baby-home/. Accessed March 8, 2022

Newborn Reflexes and Behavior. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9706-pregnancy-newborn-behavior. Accessed March 8, 2022

Sick baby? When to seek medical attention. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/healthy-baby/art-20047793. Accessed March 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัยทารก กับเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

พัฒนาการทารก 2 เดือน และวิธีดูแลทารกที่เหมาะสม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา