backup og meta

ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อย

ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อย

ทารกคลอดก่อนกำหนด คือทารกที่คลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงก่อนที่การตั้งครรภ์จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เกิด ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนด ที่อาจส่งผลในระยะสั้นหรือในระยะยาวขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของทารกและการดูแล รักษาอย่างใกล้ชิด Hello คุณหมอ จึงขอนำเสนอ ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อให้คุณได้ทราบถึงภาวะที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อย

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนด มีอะไรบ้าง

การที่ทารกคลอดเร็วกว่าที่กำหนดอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาภายหลังได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ยิ่งทารกเกิดเร็วเท่าใดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น

ภาวะแทรกซ้อนของทารกคลอดก่อนกำหนดในช่วงสัปดาห์แรก อาจมีดังต่อไปนี้

  • ปัญหาการหายใจ

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาเรื่องการหายใจ เนื่องจากปอดยังไม่แข็งแรง และขาดสารลดแรงตึงผิวที่ช่วยให้ปอดขยายตัว ทำให้ปอดไม่สามารถขยายและหดตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ทารกมีอาการหายใจลำบาก นอกจากนี้ทารกบางรายก็อาจมีอาการหยุดหายใจเป็นเวลานาน ที่เรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  • ปัญหาหัวใจ

ปัญหาหัวใจที่พบบ่อยที่สุดใน ทารกคลอดก่อนกำหนด คือ โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (PDA) หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหาหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยยา การถ่ายเลือด หรือการผ่าตัด

  • ปัญหาสมอง

ยิ่งทารกเกิดเร็วมากเท่าใด ก็ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองมากขึ้นเท่านั้น อาการเลือดออกในสมองสามารถหายขาดได้เอง แต่ทารกบางคนอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้สมองได้รับบาดเจ็บได้

  • ปัญหาการควบคุมอุณหภูมิ

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะสูญเสียความร้อนในร่างกายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผิวหนังบาง ร่างกายยังไม่มีไขมันเก็บสะสมไว้ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บความร้อนไว้ในร่างกายได้ และทำให้อุณภูมิร่างกายลดต่ำลง

ภาวะอุณหภูมิลลดต่ำกว่าปกติอาจนำไปสู่ปัญหาการหายใจและระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ในช่วงแรกจึงต้องอยู่ในตู้อบเพื่อรักษาอุณภูมิจนกว่าร่างกายจะโตพอและสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายเองได้

  • ปัญหาทางเดินอาหาร

ทารกคลอดก่อนกำหนด ระบบทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง ส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing enterocolitis NEC) เป็นภาวะร้ายแรงที่เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ได้รับบาดเจ็บ จนเสี่ยงเกิดผนังลำไส้ทะลุ ติดเชื้อทั้งในระบบทางเดินอาหารและในกระแสเลือดได้ ทารกที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวสามารถลดความเสี่ยงเกิดโรคภาวะลำไส้เน่าอักเสบได้

  • ปัญหาเลือด

เสี่ยงเกิดโรคโลหิตจาง ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงไม่พียงพอ  เนื่องจากอวัยวะไม่สมบูรณ์จากการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงร่างกายมีความต้องการเม็ดเลือดแดงเพิ่มเพื่อส่งออกซิเจนไปอวัยวะต่าง ๆ 

  • ปัญหาตัวเหลืองหรือดีซ่าน

โรคดีซ่านในทารกแรกเกิด คือการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในผิวหนังและตา เกิดจากเลือดของทารกมีบิลิรูบิน (bilirubin) ส่วนเกินซึ่งเป็นสารสีเหลืองจากตับหรือเซลล์เม็ดเลือดแดง เนื่องจากตับยังเจริญไม่สมบูรณ์และร่างกายขับสารบิลิรูบินออกจากร่างกายได้ช้า

  • ปัญหาการเผาผลาญ

ทารกคลอดก่อนกำหนด บางคนอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างผิดปกติ เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักมีกลูโคสเก็บไว้น้อย และมีปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนกลูโคสเพื่อใช้เป็นพลังงานด้วย

  • ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน

ระบบภูมิคุ้มกันทั้งการสร้างอิมมูโนโกลบูลิน และ เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ในทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์ จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และสามารถแพร่กระจายไปยังกระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว จึงติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ และในกระแสเลือดได้

ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว

ภาวะแทรกซ้อนทารกคลอดก่อนกำหนด ที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว มีดังนี้

  • สมองพิการ

สมองพิการ คือความผิดปกติของสมองที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของเนื้อสมอง การติดเชื้อ การไหลเวียนของเลือดไม่เพียงพอ หรือการบาดเจ็บของสมองในทารกแรกเกิด อาจเกิดในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์หรือในขณะที่เป็นทารก

  • การเรียนรู้บกพร่อง

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการในการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดปกติ จึงอาศัยความเข้าใจและความอดทนเป็นอย่างมากในการดูแล เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่สมบูรณ์

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาเกี่ยวกับจอประสาทตา ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดบวมมากเกินไปจากการได้รับออกซิเจนต่อเนื่อง หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเรตินาที่ผิดปกติจนเกิดแผลเป็น ทำให้การมองเห็นบกพร่อง และทำให้ตาบอดได้

  • ปัญหาการได้ยิน

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการได้ยินสูงมาก ทั้งจากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะ ผลข้างเคียงของโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และจากปัจจัยด้านการรักษาอื่น ๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อ เสียงเครื่องช่วยหายใจ

  • ปัญหาทางทันตกรรม

ทารกคลอดก่อนกำหนด มีความเสี่ยงเกิดปัญหาทางทันตกรรมเพิ่มขึ้น เช่น ฟันขึ้นช้า ฟันเปลี่ยนสี ฟันเรียงตัวไม่เหมาะสม

  • ปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจ

ทารกคลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มมีปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจมากกว่า รวมไปถึงอาจมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กทั่วไปอีกด้วย

  • ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง

ทารกคลอดก่อนกำหนด บางคนต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากมีการติดเชื้อ โรคปอดเรื้อรัง และปัญหาทางการกินจากการดูดกลืนผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคไหลตายในทารกสูง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Premature birth. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premature-birth/symptoms-causes/syc-20376730. Accessed June 21, 2021

Mortality and Acute Complications in Preterm Infants. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK11385/. Accessed June 21, 2021

Premature Birth. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21479-premature-birth. Accessed June 21, 2021

Preterm Birth. https://www.cdc.gov/reproductivehealth/maternalinfanthealth/pretermbirth.htm. Accessed June 21, 2021

Preterm birth. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/preterm-birth. Accessed June 21, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

BPD คือ โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ไหลตายในเด็กทารก หรือ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome)


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา