backup og meta

โรคตาในเด็ก ปัญหาสุขภาพดวงตาของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ควรระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

    โรคตาในเด็ก ปัญหาสุขภาพดวงตาของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ควรระวัง

    เด็ก ๆ มักจะพบกับปัญหาสุขภาพตาได้บ่อย ๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหาสุขภาพตาของเด็กรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะสุขภาพที่รุนแรง โรคตาในเด็ก ที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะตาขี้เกียจ ตาเหล่ ตากุ้งยิง ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลย เพื่อไม่ให้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพตา หรือสุขภาพโดยรวมที่รุนแรงขึ้น

    โรคตาในเด็ก ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง

    ปัญหาเกี่ยวกับ สุขภาพดวงตา ที่สามารถพบได้บ่อย ๆ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนี้

    ภาวะตาขี้เกียจ 

    ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) เป็นภาวะที่สายตามีระดับการมองเห็นที่ผิดปกติ โดยที่การมองเห็นของสายตาข้างใดข้างหนึ่งอาจเห็นได้ไม่ชัดเท่ากับสายตาอีกข้างหนึ่ง ส่งผลให้เกิดภาวะตาเหล่ ภาวะหนังตาตก รวมถึงโรคต้อกระจกตามมา อย่างไรก็ตาม โรคตาขี้เกียจสามารถรักษาหายได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เด็ก ๆ อาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคตามัวชนิดถาวร

    ตาเขหรือตาเหล่

    อาการตาเขหรือตาเหล่ในเด็ก เกิดจากการที่ตำแหน่งของดวงตาชี้ไปในทิศทางที่ต่างกัน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ความผิดปกติของเส้นประสาท หรือเป็นผลมาจากภาวะตาขี้เกียจ อย่างไรก็ตาม อาการตาเหล่ ตาเขในเด็ก สามารถที่จะรักษาได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่ควรปล่อยเอาไว้จนโต เพราะอาจตาเหล่ถาวร

    ตากุ้งยิง

    ตากุ้งยิง (Chalazion) เป็นปัญหา สุขภาพดวงตา เกิดจากการอักเสบหรืออุดตันที่บริเวณต่อมไขมันของเปลือกตาบนหรือล่าง หรือเกิดการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุตา ทำให้เกิดอาการบวมแดงจนนูนเป็นตุ่ม

    ภาวะน้ำตาเอ่อ

    ภาวะน้ำตาเอ่อ (Epiphora) เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำตา ส่งผลให้มีอาการตาแฉะ และมีน้ำตาไหลออกมาอยู่บ่อย ๆ รวมถึงทำให้มีขี้ตาออกมามากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวสามารถดีขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าหากมีภาวะน้ำตาเอ่อบ่อย ๆ หรือใช้ระยะเวลานานกว่าจะหาย ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจหรือผ่าตัดท่อน้ำตาไม่ให้มีการอุดตัน

    เยื่อบุตาอักเสบ

    อาการเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) หรือตาแดง เกิดจากการระคายเคือง หรือการอักเสบที่บริเวณเนื้อตาส่วนสีขาว ที่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้มีอาการคันที่ดวงตา บริเวณเนื้อตาสีขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดง มีน้ำตาไหลเอ่อ สำหรับตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจเป็นโรคติดต่อไปยังผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้ อย่างไรก็ตาม อาการตาแดงสามารถดีขึ้นได้ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์  

    สัญญาณอันตรายต่อ สุขภาพดวงตา ในเด็กที่ควรระวัง

    หากพบว่าเด็กมีอาการเกี่ยวกับดวงตาดังต่อไปนี้ ควรระวังเพราะอาจนำไปสู่อันตรายต่อ สุขภาพดวงตา ที่รุนแรงได้

    • เกิดความผิดปกติที่รูม่านตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยมีฝ้าสีขาวเกิดขึ้นที่ดวงตาอย่างเห็นได้ชัด
    • มีน้ำตาล้นออกมาที่ดวงตาอย่างต่อเนื่อง
    • ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งขยับได้ไม่ดี หรือขยับบ่อยจนเกินไป
    • ดวงตาไวต่อแสงเป็นพิเศษ
    • ศีรษะของเด็กจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด
    • เด็กนั่งดูโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือในระยะที่ใกล้มาก
    • ดวงตาของเด็กมีขนาดไม่เท่ากัน หรือดวงตาข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด 

    ดูแลสุขภาพดวงตาของเด็กได้อย่างไรบ้าง

    ผู้ปกครอง คุณพ่อและคุณแม่สามารถเฝ้าระวังและดูแล สุขภาพดวงตา ของเด็ก ๆ ได้ง่าย ๆ ดังนี้

    • เริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสารอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้าง สุขภาพดวงตา เช่น ลูทีน ซีแซนทีน วิตามินอี วิตามินซี
    • เด็กควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ เพื่อช่วยบำรุงสายตา โดยเฉพาะลูทีนและซีแซนทีน รวมถึงผักและผลไม้หลากสีที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสายตา
    • คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตาในเด็ก ๆ อยู่เสมอ หากเกิดความผิดปกติใด ๆ ควรรีบพาไปพบคุณหมอ
    • เลือกของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านการมองเห็น 
    • จัดสรรเวลาในการดูโทรทัศน์ การเล่นเกม หรือเล่นสมาร์ทโฟนให้เด็กอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กใช้สายตาไปกับการเพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป
    • หากเด็ก ๆ ต้องไปทำกิจกรรมด้านนอกบ่อย ๆ ควรหาอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดเพื่อช่วยถนอมสายตาของเด็ก ๆ เวลาอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า 
    • พาเด็กไปตรวจสุขภาพสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่ว่าหากมีความผิดปกติใดเกี่ยวกับดวงตา จะได้สามารถรับมือและทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา