backup og meta

ทารกมองเห็นตอนไหน และพัฒนาการด้านการมองเห็นที่พ่อแม่ควรรู้

ทารกมองเห็นตอนไหน และพัฒนาการด้านการมองเห็นที่พ่อแม่ควรรู้

คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า ทารกมองเห็นตอนไหน คำตอบคือ พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนพัฒนาเต็มที่ในวัย 2 ขวบ ทารกสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด เพียงแต่อาจมองเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่ทักษะด้านการมองเห็นจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโตในแต่ละเดือน คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมการมองเห็นของทารก หากพบว่ามีความผิดปกติบางประการ เช่น ตาเหล่ ตากระตุก โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงตาพัฒนาค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว อาจต้องพาทารกไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม หากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

ทารกมองเห็นตอนไหน

ทารกสามารถมองเห็นสิ่งรอบตัวได้ตั้งแต่เกิด และทักษะด้านการมองเห็นจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

  • อายุ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ในช่วงแรกทารกจะมองเห็นเลือนราง สามารถมองเห็นได้ในระยะใกล้เพียง 20-40 เซนติเมตร หรือระยะห่างจากหน้าแม่ในขณะกินนม และเห็นเพียงสีดำ ขาวและเทาเท่านั้น ทารกจะจดจำใบหน้าของคุณแม่ได้เมื่อให้นม เริ่มมีอาการตาเหล่ เนื่องจากดวงตาแต่ละข้างยังแยกกันทำงาน และประสานงานกันได้ยังไม่ดีนัก
  • อายุ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน ทารกสามารถจำหน้าคนที่อยู่ด้วยบ่อย ๆ ได้ การมองเห็นพัฒนาไปอีกขั้น มักมองตามสิ่งที่เคลื่อนไหว กลอกตาไปมาได้อย่างอิสระ และให้ความสนใจกับของเล่นและสิ่งของรอบตัว
  • อายุ 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ทารกรับรู้ใบหน้าได้ดีขึ้น สนใจแสดงสีหน้าและแววตาของคนที่อยู่ตรงหน้า เริ่มรับรู้ระยะใกล้-ไกล ดวงตาทำงานดีขึ้นและมองเห็นชัดขึ้น ทั้งนี้ ควรใช้ของเล่นสีสดใสเพื่อกระตุ้นการมองเห็นสีของทารก และให้ทารกมองตาม
  • อายุ 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน ดวงตาของทารกจะทำงานได้สมบูรณ์ขึ้น เริ่มหายจากอาการตาเหล่ ระดับการมองเห็นจะชัดเจนขึ้น ใกล้เคียงกับการมองเห็นของผู้ใหญ่ เห็นภาพเป็นสี มองเห็นสิ่งของที่มีคนเอามาโบกใกล้ ๆ ได้ชัดเจน และเอื้อมมือไปหยิบจับของเล่นที่เห็นว่าวางอยู่ใกล้ ๆ มาเล่นได้แล้ว
  • อายุ 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน ทารกมีทักษะในการใช้สายตามากขึ้น สามารถใช้ทั้งศีรษะและสายตาหันมองวัตถุที่เคลื่อนไหวไปรอบ ๆ ห้องได้แล้ว เช่น หันศีรษะตามคนที่เดินผ่าน
  • อายุ 12 เดือน ทารกมีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นอย่างดี มีการมองเห็นที่พัฒนามากขึ้น ดวงตาและมือสามารถทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี ใช้สายตามองและใช้มือหยิบจับสิ่งของตามต้องการได้อย่างคล่องแคล่ว

 สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพสายตาในทารก

  • เมื่ออายุได้ 2 เดือน แต่ยังไม่มีการตอบสนองอย่างกระตือรือร้นเมื่อมีคนมามองหน้าใกล้ ๆ หรือไม่มีการตอบสนองเมื่อเห็นแสงที่ส่องผ่านวัตถุ เช่น แสงที่ส่องจากหน้าต่าง
  • เมื่อทารกหันไปให้ความสนใจสิ่งอื่นอย่างกะทันหันในระหว่างที่กำลังมองหน้ากันอยู่
  • เมื่ออายุมากกว่า 4 เดือน แต่ยังมีอาการตาเหล่อยู่
  • เมื่อทารกขยับลูกตาไปมาอย่างรวดเร็ว ไม่อยู่นิ่ง และกระตุก
  • มีขี้ตามาก น้ำตาไหลเยอะ ติดเชื้อบ่อยครั้ง
  • แก้วตา หรือเลนส์ตาขุ่นขาว ตาวาว อาจสังเกตได้จากในรูปถ่าย
  • ไม่ค่อยสบตาเวลาคุยเล่นด้วย

ปัญหาการมองเห็นแบบไหน ควรพบคุณหมอ

ความผิดปกติด้านการมองเห็นของทารกที่อาจต้องให้คุณหมอวินิจฉัย มีดังนี้

  • ตาเหล่ เป็นภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่งของทารก เฉหรือเหล่ไปยังทิศทางที่ผิดปกติ เช่น เฉไปทางซ้าย ขวา บน หรือล่าง อาการนี้เป็นอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยในทารก แต่หากทารกมีอายุมากกว่า 3 เดือน แล้วภาวะนี้ยังไม่หายไป อาจแสดงว่ามีพัฒนาการการมองเห็นที่ด้อยกว่าทารกปกติ
  • ตากระตุก เป็นภาวะความผิดปกติของการเคลื่อนไหวดวงตาทารก ลูกตาจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วอย่างเป็นจังหวะ หากทารกอายุเกิน 3 เดือนแล้ว อาการนี้ควรหายไป
  • ตาขี้เกียจ (Lazy eye) เป็นภาวะที่การหักเหของแสงของดวงตา ตาทั้งสองข้างมีพัฒนาการการมองเห็นที่ไม่เท่ากัน ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับข้างที่เป็นปกติ และทำให้เกิดมองเห็นภาพไม่ชัด อาการนี้ควรทำการรักษาก่อนอายุ 8 ปี ถ้ารักษาช้าอาจทำให้ตามัว และการมองเห็นลดลงอย่างถาวรได้

ปัญหาการมองเห็นในทารกเป็นภาวะความผิดปกติที่สามารถรักษาได้หากวินิจฉัยพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพตาของทารก ควรรีบพาทารกไปพบคุณหมอ เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที ทารกจะได้กลับมามีพัฒนาการด้านการมองเห็นที่เป็นปกติโดยเร็ว

โดยทั่วไปในเด็กแนะนำให้ตรวจตาอย่างละเอียดเมื่อมีอายุ 3-5 ปี ยกเว้นถ้าสังเกตว่ามีความผิดปกติ ให้พบจักษุแพทย์ทันที

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How Well Can Newborn Babies See?. https://www.webmd.com/parenting/baby/newborn-vision. Accessed March 14, 2022

Eye Exams in Your Baby’s First Year. https://www.webmd.com/eye-health/what-to-expect-eye-exam-your-babys-first-year. Accessed March 14, 2022

Current Understanding of What Infants See. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC4243010/. Accessed March 14, 2022

Assessing vision in a baby. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC4995840/. Accessed March 14, 2022

Baby Development: 12 Ways to Help Your Infant Learn and Grow. https://www.webmd.com/parenting/baby/ss/slideshow-baby-development. Accessed March 14, 2022

Vision impairment. https://raisingchildren.net.au/disability/guide-to-disabilities/assessment-diagnosis/vision-impairment. Accessed March 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการทารก ในช่วงขวบปีแรก และวิธีดูแลทารกที่เหมาะสม

โรคตาขี้เกียจในเด็ก สาเหตุ การรักษา และการตรวจดวงตาในเด็ก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา