ปัญหาทารกหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นและร้องไห้กลางดึก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น หิว นอนกลางวันมากเกินไป ไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีที่ช่วยทำให้ทารกหลับสนิทตลอดคืน เพื่อช่วยให้ทารกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เสริมสร้างพัฒนาการและการเจริญเติบโต และลดความอ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ทารกหลับไม่สนิท เกิดจากอะไร
ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มีชั่วโมงการนอนที่ค่อนข้างยาวนานประมาณ 16 ชั่วโมง/วัน ขึ้นอยู่กับอายุ โดยแบ่งเป็นนอนกลางวัน 8 ชั่วโมง นอนกลางคืน 8 ชั่วโมง แต่จะมีระยะการนอนที่สั้น แต่ละครั้งมักจะนอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง หากทารกหลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- สภาพแวดล้อมรอบข้าง เช่น เสียงรบกวน แสงไฟที่สว่างเกินไป การเคลื่อนไหวของคุณพ่อคุณแม่ อาจรบกวนการนอนของทารก ทำให้ทารกนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นได้
- รู้สึกหิว เนื่องจากทารกมีกระเพาะอาหารขนาดเล็ก ทำให้จุอาหารได้น้อย และย่อยอาหารได้เร็ว ส่งผลให้ทารกรู้สึกหิวบ่อยจนอาจรบกวนการนอนหลับ และทำให้มักตื่นขึ้นในช่วงเวลากลางคืน
- นอนกลางวันมากเกินไป การงีบหลับในช่วงกลางวันมากเกินไป อาจทำให้ทารกไม่รู้สึกง่วงนอน และนอนหลับไม่สนิทในเวลากลางคืน
- อาการเจ็บป่วย อาจทำให้ทารกนอนหลับไม่สนิท และตื่นบ่อยช่วงเวลากลางคืน โดยอาจสังเกตได้จากอาการร้องไห้เป็นเวลานาน ท้องเสีย กินอาหารได้น้อย มีไข้
- อยู่ในช่วงปรับตัว ทารกแรกเกิดอาจยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในโลกภายนอก ยังไม่รู้ช่วงเวลาการนอนหลับที่เหมาะสม ทำให้การนอนหลับไม่สมดุล นอนหลับมากเกินไปจนทำให้อาจหลับไม่สนิทตื่นบ่อยครั้งตอนกลางคืน
ชั่วโมงการนอนของทารกที่เหมาะสมตามช่วงอายุ มีดังนี้
- ทารกแรกเกิด ควรนอนหลับวันละ 16 ชั่วโมง/วัน แบ่งออกเป็นกลางวัน 8 ชั่วโมง กลางคืน 8 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 1 เดือน ควรนอนหลับวันละ5 ชั่วโมง/วัน แบ่งออกเป็นกลางวัน 7 ชั่วโมง กลางคืน 8-9 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 3 เดือน ควรนอนหลับวันละ 15 ชั่วโมง/วัน แบ่งออกเป็นกลางวัน 4-5 ชั่วโมง กลางคืน 9-10 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 6 เดือน ควรนอนหลับวันละ 14 ชั่วโมง/วัน แบ่งออกเป็นกลางวัน 4 ชั่วโมง กลางคืน 10 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 9 เดือน ควรนอนหลับวันละ 14 ชั่วโมง/วัน แบ่งออกเป็นกลางวัน 3 ชั่วโมง กลางคืน 11 ชั่วโมง
- ทารกอายุ 1 ปี ควรนอนหลับวันละ 14 ชั่วโมง/วัน แบ่งออกเป็นกลางวัน 3 ชั่วโมง กลางคืน 11 ชั่วโมง
สัญญาณปัญหาการนอนหลับไม่สนิทของทารก
สัญญาณปัญหาการนอนหลับไม่สนิทของทารก อาจสังเกตได้จาก
- ทารกตื่นหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ทารกพลิกตัวมากเกินไปขณะนอนหลับ
- ไม่ยอมนอนแม้คุณพ่อคุณแม่กล่อมนอน
- ทารกร้องไห้งอแง
- ขยี้ตา
- หาวบ่อย
หากสังเกตว่าลูกหายใจเสียงดังขณะหลับ หายใจลำบาก เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อีกทั้งหากสังเกตว่าลูกเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติขณะหลับบ่อยครั้ง เช่น แขนขากระตุก โยกศีรษะไปมา ควรเข้าพบคุณหมอในทันที
เคล็ดลับที่ช่วยให้ทารกนอนหลับสนิท
เคล็ดลับที่ช่วยให้ทารกนอนหลับสนิท อาจทำได้ดังนี้
- อาบน้ำให้ทารกรู้สึกสบายตัว
- เปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ ระหว่างพาทารกเข้านอน
- อุ้มทารกและเดินอย่างช้า ๆ ตบหลังเบา ๆ หรือไกวเปล อาจทำพร้อมกับเปิดเพลงกล่อมเด็กเพื่อช่วยกล่อมให้ทารกนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
- ใช้ของเล่น ผ้าห่ม และหมอนข้างนุ่ม ๆ ล้อมรอบตัวทารก เพื่อให้รู้สึกทารกปลอดภัย เหมือนมีคนอยู่เคียงข้าง ลดความกลัว ควรระวังไม่ให้อยู่บริเวณใกล้ใบหน้าเพราะอาจเสี่ยงทำให้ทารกหายใจไม่ออก
- ฝึกกิจวัตประจำวันการนอนหลับให้ทารก และฝึกให้ทารกเรียนรู้ถึงช่วงเวลากลางวันและกลางคืน โดยในเวลากลางวันคุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาเล่นกับทารก ทำพื้นที่โดยรอบให้สว่าง ไม่ให้ทารกนอนนานเกินกว่าชั่วโมงที่กำหนดตามอายุ เพราะอาจทำให้นอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลากลางคืนคุณพ่อคุณแม่ควรกล่อมทารกเข้านอน หรี่ไฟ งดส่งเสียงดัง เพื่อลดการกระตุ้นและให้ทารกได้ปรับตัว จดจำช่วงเวลาที่ควรนอน
หากทารกร้องไห้งอแงและตื่นช่วงเวลากลางคืนเพราะความหิวอาจใช้จุกนมหลอก หรือเปิดไฟที่มีแสงสลัวขณะให้นม ไม่ควรเปิดไฟสว่างมากเกินไป เพราะอาจกระตุ้นให้ทารกตื่นและหลับอีกครั้งได้ยาก