ป้อนกล้วยทารก เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกแรกเกิดขาดสารอาหาร และช่วยให้ทารกอิ่มได้นานขึ้น อาจเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินมานาน อย่างไรก็ตาม การป้อนกล้วยให้ทารกก่อน 6 เดือน อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจาก ระบบย่อยอาหารอาจยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์และยังพัฒนาไม่เต็มที่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้อนกับให้กับทารก เพื่อสุขภาพที่ดีของทารก
ป้อนกล้วยทารก ก่อน 6 เดือน อันตรายอย่างไร
การที่ร่างกายจะสามารถย่อยอาหารและดูดซึมเอาสารอาหารจากสิ่งที่รับประทานเอาไปใช้ได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบย่อยอาหารที่สมบูรณ์ และมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ในทารกแรกเกิดระบบย่อยอาหารจะยังไม่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ทั้งยังไม่มีประสิทธิภาพในการดูดซึมได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ จึงทำให้ยังไม่สามารถย่อยอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำนมได้
ดังนั้น หากป้อนอาหารอย่างอื่นที่นอกเหนือจากนมให้ทารกรับประทาน แม้ว่าอาหารนั้นจะบดมาอย่างละเอียดแล้วก็ตาม กระเพาะอาหารของทารกก็ยังไม่สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบทางเดินอาหารของเด็กทารกได้
โดยปัญหาที่อาจพบได้บ่อยจากการป้อนกล้วยให้ทารกก่อนวัยอันควร อาจมีดังนี้
- ลำไส้อุดตัน กล้วยที่รับประทานเข้าไป เมื่อไม่ได้รับการย่อยและดูดซึมอย่างเต็มที่ ก็อาจจะไปขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้ลำไส้เกิดการอุดตัน และไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกไปได้ ซึ่งอาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้ลำไส้แตก และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ลำสัก ทารกนั้นยังเล็กมาก การเคี้ยวอาหาร และการกลืนอาหารอาจจะยังทำได้ไม่ดี จึงทำให้มีโอกาสในการสำลักอาหารได้ หากเศษอาหารไปอุดกั้นหลอดลมจะทำให้หายใจไม่ออก ขาดอากาศหายใจ และอาจเสียชีวิตได้
เมื่อไหร่ถึงควรเริ่มเสริมอาหารให้ทารก
นักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า นมแม่เพียงอย่างเดียวก็ให้สารอาหารที่เพียงพอต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กทารกแรกเกิดแล้ว เมื่อทารกมีอายุ 4 เดือน ระบบทางเดินอาหารของทารกจะพัฒนามามากเพียงพอที่จะรับอาหารอื่น ๆ ได้ แต่ก็ยังไม่จำเป็นต้องรับเสริมอาหาร และควรเริ่มให้ทารกรับประทานอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ เมื่อมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
โดยอาหารที่นำมาเสริมให้ทารกรับประทานนั้น ควรเป็นอาหารอ่อนที่นิ่ม บดละเอียด เพื่อให้ง่ายต่อการกลืน เช่น ไข่แดงบด กล้วยบด ข้าวบด ตับบด หรือผักต้มสุกนิ่ม ๆ เช่น ฟักทอง โดยค่อย ๆ เสริมอาหารสลับกับการให้นม ให้เหมาะสมตามวัยของทารก และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ
ข้อแนะนำในการเสริมอาหารให้ทารก
เมื่อทารกอยู่ในวัยที่ควรรับประทานอาหารอื่นนอกจากนม ก็อาจเสริมอาหารให้กับทารกได้ดังต่อไปนี้
- ให้ทารกได้รับประทานอาหารที่หลากหลาย ทั้งอาหารจำพวกแป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม และไข่ อย่าเน้นหนักไปทางอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะอาจทำให้ทารกขาดสารอาหารได้
- พยายามให้ทารกรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงแต่งรส ไม่ใส่เกลือ น้ำตาล หรือเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เพราะสารปรุงแต่งเหล่านี้อาจจะมากเกินความต้องการของทารก และส่งผลให้เกิดภาวะอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้
- ให้ทารกดื่มน้ำเปล่า ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม กาแฟ น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้กล่อง หากต้องการให้ทารกดื่มน้ำผลไม้ ควรเป็นน้ำผลไม้คั้นสดที่ไม่เติมน้ำตาลเท่านั้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]