backup og meta

ตารางอาหารทารก 6 เดือน และคำแนะนำการป้อนอาหารทารก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ตารางอาหารทารก 6 เดือน และคำแนะนำการป้อนอาหารทารก

    ทารก 6 เดือน เป็นช่วงวัยที่ควรเริ่มฝึกรับประทานอาหารแข็ง เพื่อเพิ่มสารอาหารอื่น ๆ นอกจากนม เพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัด ตารางอาหารทารก 6 เดือน อย่างเหมาะสม โดยศึกษาอาหารที่ทารกควรรับประทาน และควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่สมวัย และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์

    อาหารที่เหมาะสำหรับทารก 6 เดือน 

    อาหารที่เหมาะสำหรับทารก 6 เดือน ได้แก่

    1. อาหารประเภทแป้ง

    ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นพลังงานที่ดีสำหรับทารก โดยควรปั่นหรือบดอาหารให้ละเอียดและอาจผสมกับนมแม่ เพื่อให้ทารกรับประทานได้ง่ายขึ้น อาหารประเภทแป้งที่ทารก 6 เดือน อาจรับประทานได้ มีดังนี้

    • ข้าวโอ๊ต
    • พาสต้า
    • มันฝรั่ง มันเทศ
    • ข้าวโพด
    • ข้าว
    • ขนมปัง

    2. อาหารประเภทโปรตีน

    โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยสร้างแอนติบอดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายของทารกสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ และอาจช่วยเพิ่มการลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย  โดยควรปรุงอาหารให้สุกและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตว่าทารกมีอาการแพ้หรือไม่ เพราะอาหารบางชนิด เช่น ถั่ว ไข่ อาจทำให้มีอาการแพ้ได้

    อาหารที่มีโปรตีนเหมาะสำหรับทารก มีดังนี้

    • ไข่
    • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา
    • เต้าหู้
    • ถั่ว

    3. ผลไม้

    เป็นแหล่งรวมไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุ เช่น โพแทสเซียม โฟเลต ที่มีส่วนช่วยปรับปรุงการทำงานของลำไส้ให้แข็งแรง ช่วยป้องกันท้องผูก ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ โดยคุณแม่อาจนำผลไม้มาปั่นหรือบดเล็กน้อยให้พอมีเนื้อสัมผัส ไม่ละเอียดเป็นน้ำจนเกินไป อีกทั้งควรล้างทำความสะอาดผลไม้ให้ดีก่อนให้ทารกรับประทานทุกครั้ง

    ผลไม้สำหรับทารก มีดังนี้

    • กล้วย
    • กีวี่
    • บลูเบอร์รี่
    • ส้ม
    • แอปเปิ้ล
    • ราสป์เบอร์รี่
    • มะม่วง
    • ลูกพีช
    • ลูกพลัม
    • มะละกอ
    • สับปะรด
    • สตรอว์เบอร์รี่
    • แตงโม

    4. ผัก

    มีวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และน้ำ ที่อาจช่วยบำรุงสายตา เพิ่มพลังงาน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งบางชนิด โรคหัวใจ โดยคุณแม่ควรทำผักให้สุก นิ่ม และหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกหัดลองจับรับประทานเอง หรือบดผสมกับข้าวหุงสุกนิ่ม ๆ

    ผักที่เหมาะสำหรับทารก มีดังนี้

    • ผักกาดขาว
    • หน่อไม้ฝรั่ง
    • ผักคะน้า
    • พริกไทย
    • กะหล่ำปลี
    • ผักโขม
    • ถั่วงอก
    • แครอท
    • อะโวคาโด
    • บร็อคโคลี่

    5. ผลิตภัณฑ์จากนม

    อาหารที่ทำจากนมพาสเจอร์ไรส์ เช่น โยเกิร์ต ชีส อาจเหมาะสำหรับทารกวัย 6 เดือนขึ้นไป โดยคุณแม่ควรเลือกโยเกิร์ตแบบไม่ใส่น้ำตาล รสธรรมชาติ และไม่ควรให้ทารกรับประทานเป็นอาหารมื้อหลักเพียงอย่างเดียว  แต่ควรนำมาใช้ในการปรุงผสมกับอาหารชนิดอื่น ๆ

    อาหารที่ไม่ควรให้ทารกรับประทาน

    อาหารที่ไม่ควรให้ทารกรับประทาน มีดังนี้

    • น้ำผึ้ง รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งทุกชนิด เช่น โยเกิร์ต ซีเรียล เพราะอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคโบทูลิซึม (Botulism) ที่เกิดจากแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม (Clostridium Botulinum) อาจทำให้ทารกมีอาการเซื่องซึม ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้
    • อาหารที่มีไขมัน เกลือ น้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกระป๋อง ข้าวโพดคั่ว ฮอทด็อก เค้ก บิสกิต เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม นมข้นหวาน อีกทั้งยังอาจทำให้ไตทารกทำงานหนัก ไตเสื่อม เสี่ยงติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
    • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
    • อาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไข่ ปลา ถั่วลิสง หอย เพราะอาจส่งผลให้ทารกอาจมีอาการแพ้อาหาร เช่น หายใจไม่ออก อาหารเป็นพิษ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการระบบประสาทของทารก ก่อนให้ทารกรับประทาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่าทารกสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ไม่มีอาการแพ้หรือไม่
    • อาหารดิบไม่ผ่านการปรุงสุกและเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น น้ำผลไม้ ชีส นม เนื้อสัตว์ ผัก เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาหารเป็นพิษจากแบคทีเรีย ท้องร่วง นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กอาจยังไม่พัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยจากเชื้อโรคที่ปะปนมากับอาหารได้
    • นมวัว เพราะอาจทำให้ทารกเสี่ยงเลือดออกในทางเดินอาหาร อีกทั้งยังอาจมีปริมาณของโปรตีนและแร่ธาตุมากเกินกว่าที่ไตของทารกจะสามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม

    ตารางอาหารทารก 6 เดือน มีอะไรบ้าง

    ตารางอาหารสำหรับทารก 6 เดือน ใน 1 วัน ควรได้รับอาหารที่หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม แบ่งเป็นอาหารตามวัย 1 มื้อ และนม 5 มื้อ ดังนี้

    • นมแม่ หรือนมผง ควรให้ทารกกินนม 28-32 ออนซ์/วัน
    • ซีเรียลสำหรับทารก ควรให้ทารกกิน 3-5 ช้อนโต๊ะ ซึ่งอาจเป็นสูตรผสมธัญพืชร่วมด้วยได้
    • ผลไม้ ควรให้ทารกรับประทานวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ และอาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเป็น 4-8 ช้อนโต๊ะ
    • ผัก ควรให้ทารกรับประทานวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเป็น 4-8 ช้อนโต๊ะ
    • เนื้อสัตว์และอาหารประเภทโปรตีน ควรให้ทารกรับประทานวันละ 1-2 ช้อนโต๊ และค่อย ๆ เพิ่มเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ
    • ขนม คุกกี้ หรือของว่างสำหรับทารก ควรแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ทารกได้ฝึกจับอาหารกินเอง แต่ไม่ควรให้กินมากจนเกินไปเพราะขนมมักมีน้ำตาลและโซเดียมสูง

    คำแนะนำการป้อนอาหารให้ทารก

    เนื่องจากทารกบางคนอาจกลัวการรับประทานอาหารแข็งและรสชาติใหม่  ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้อาจไม่ยอมรับประทานอาหารในระยะแรก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อนี้

    • ไม่ควรบังคับให้ทารกกินอาหาร เนื่องจากทารกอาจยังไม่คุ้นชินกับอาหารแข็ง และอาจทำให้ทารกกลัวการกินอาหารได้ ควรใช้ระยะเวลาในการทำให้ทารกอารมณ์ดีและค่อย ๆ ป้อนอาหารทีละนิด
    • ลองผสมซีเรียลกับน้ำนมแม่และบดให้ละเอียด เพื่อให้ทารกรับประทานได้ง่ายขึ้น
    • จัดอาหารในปริมาณที่น้อย เพื่อให้ทารกลิ้มรสชาติอาหาร และควรจดเมนูอาหารแต่ละมื้อด้วยว่าทารกชอบกินอาหารอะไร และไม่ชอบอะไร อีกทั้งยังควรสังเกตว่าทารกมีอาการอาเจียน ท้องร่วง หรือมีอาการแพ้ต่ออาหารชนิดใดหรือไม่
    • ปรุงอาหารแข็งให้สุกแล้วบดหรือปั่นให้ละเอียด เพื่อให้ทารกรับประทานได้ง่ายขึ้น
    • ล้างผลไม้ให้สะอาด นำเมล็ดออก และหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือนำมาบดหรือปั่นให้ละเอียด แต่ไม่ควรละเอียดเกินไป พอมีเนื้อหยาบให้ทารกได้ฝึกเคี้ยว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา