นมแม่เป็นแหล่งอาหารหลักของทารกแรกเกิด ทารกควรกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนหลังคลอด หากเป็นไปได้ ควรให้ทารกได้กินนมสด ๆ จากอกคุณแม่ แต่ในบางครั้ง คุณแม่ก็อาจไม่สามารถให้ทารกกินนมจากเต้าได้ การปั๊มนมเก็บไว้ใช้ภายหลังจึงอาจเป็นวิธีที่สะดวกมากกว่า อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษานมแม่อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเรื่อง อายุ นม แม่ เพื่อให้สามารถวางแผนให้ลูกกินนมจากนวดได้เหมาะสมขึ้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]
วิธีเก็บรักษาน้ำนมแม่
วิธีเก็บรักษาน้ำนมแม่ที่เหมาะสม อาจมีดังนี้
- เก็บในอุณหภูมิห้อง (ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส) สามารถเก็บได้นานสูงสุด 4 ชั่วโมง แต่ควรนำมาใช้ภายใน 2 ชั่วโมง ยิ่งหากสถานที่จัดเก็บมีอุณหภูมิสูง ยิ่งควรรีบใช้ให้หมด ก่อนคุณภาพของนมแม่จะลดลง
- เก็บในกระติกเก็บน้ำนมแม่ สามารถเก็บได้นานสูงสุด 24 ชั่วโมง เมื่อแช่รวมกับเจลเก็บความเย็น นิยมใช้เมื่อต้องเดินทางและไม่สามารถเก็บนมไว้ในตู้เย็นได้
- เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา สามารถเก็บได้นานสูงสุด 4 วัน แต่ควรใส่ไว้ด้านในสุดของตู้เย็น เพื่อคงอุณหภูมิไว้ให้คงที่ และควรนำมาใช้หรือเปลี่ยนไปเก็บในช่องแช่แข็งภายใน 3 วัน เพื่อคงคุณภาพของน้ำนมให้ได้นานที่สุด
- เก็บในช่องแช่แข็ง สามารถเก็บได้นานสูงสุด 12 เดือน แต่ก็ควรนำมาใช้ภายใน 6 เดือน และเพื่อให้นมแม่มีคุณภาพที่ดีที่สุด ควรใส่ไว้ด้านในสุดของช่องแช่แข็ง และควรเขียนวันและเวลาในการเก็บน้ำนมแต่ละถุงไว้ด้วย เวลาหยิบถุงน้ำนมมาใช้ ควรเลือกถุงที่เก่าที่สุดก่อน หรือหากน้ำนมถุงไหนอายุเกินที่แนะนำ ควรทิ้งทันที ไม่ควรนำมาให้ลูกกิน
อายุ นม แม่ เมื่อจัดเก็บอย่างถูกวิธี
ระยะเวลาเก็บรักษานมแม่ได้อย่างปลอดภัย อาจมีดังนี้
- อายุนมแม่ที่เก็บไว้นอกตู้เย็น ที่อุณหภูมิห้อง หรืออุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส สามารถอยู่ได้นาน 4 ชั่วโมง แต่ควรปิดปากถุงเก็บน้ำนมแม่ให้สนิท และเก็บไว้ในที่เย็นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากห่อด้วยผ้าเย็นสะอาด ก็อาจช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำนมให้เย็นขึ้นได้ น้ำนมแม่ถุงที่แกะมาให้ลูกกินแล้ว หากกินไม่หมด ควรทิ้งภายใน 2 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อภายหลัง เนื่องจากคุณภาพของน้ำนมอาจไม่ดีเท่าเดิม
- อายุนมแม่ที่เก็บไว้ในตู้เย็น ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาได้นาน 4 วัน แต่ควรแช่ไว้ในส่วนลึกที่สุดของตู้เย็น เพื่อให้รับความเย็นได้อย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงการแช่ถุงเก็บน้ำนมไว้ที่ฝาตู้เย็น เพราะอาจทำให้อุณหภูมิของนมไม่คงที่ จนน้ำนมด้อยคุณภาพ
- อายุนมแม่ที่เก็บไว้ในช่องแช่แข็ง หากอุณหภูมิไม่เกิน -17 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 9 เดือน หรือหากอุณหภูมิไม่เกิน -15 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 12 เดือน โดยควรเก็บไว้ด้านในสุดของช่องแข็งเพื่อให้อุณหภูมิน้ำนมคงที่ แต่ทางที่ดี ควรใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน เพื่อให้ลูกได้กินนมแม่ที่คุณภาพดีที่สุด
เคล็ดลับการเก็บรักษาน้ำนมแม่
- แบ่งเก็บนมแม่ไว้ในบรรจุภัณฑ์สะอาดและปิดได้สนิท อาจเป็นถุงเก็บนมแม่ หรือขวดที่มีขนาด 2-4 ออนซ์ (ประมาณ 60-120 มิลลิลิตร) เพื่อให้เพียงพอต่อการกินนม 1 ครั้ง
- ควรให้ลูกกินนมแม่ที่ได้จากการปั๊มน้ำนมเก็บไว้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้กินนมแม่ที่คุณภาพดีที่สุด หากนานกว่านี้ควรทิ้ง และใช้ถุงใหม่
- การเก็บนมแม่ในตู้เย็น ไม่ว่าจะแช่ในช่องธรรมดา หรือช่องแช่แข็ง ควรเก็บไว้ในส่วนที่ลึกที่สุดของช่องแช่ เพื่อให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม และควรรีบใช้ เพื่อลดการสูญเสียสารอาหารในนมแม่
- การอุ่นนมแม่ที่เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ควรวางขวดหรือถุงเก็บน้ำนมแม่ในถ้วยน้ำอุ่น หรือเปิดให้น้ำอุ่นไหลผ่านสักพัก ไม่ควรอุ่นนมแม่ด้วยไมโครเวฟ เพราะอาจทำให้น้ำนมร้อนจนลวกปากลูก อีกทั้งความร้อนสูงยังอาจทำลายสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี รวมถึงสารอาหารที่มีประโยชน์ในนมแม่ เช่น โปรตีน วิตามิน
- การละลายนมแม่จากช่องแช่แข็ง ควรนำขวดหรือถุงเก็บน้ำนมแม่ออกจากช่องแช่แข็ง แล้ววางทิ้งไว้ในช่องแช่ธรรมดาข้ามคืน จากนั้นนำไปใส่ในถ้วยน้ำอุ่น หรือเปิดให้น้ำอุ่นไหลผ่านจนละลาย
- หากละลายนมแม่แล้วนำกลับไปแช่ตู้เย็นอีกครั้ง ควรรีบใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
- ไม่ควรบรรจุน้ำนมแม่ที่ปั๊มได้จนปริ่มปากขวดหรือถุงเก็บน้ำนม เพราะนมแม่จะขยายตัวเมื่อแช่ไว้จนเป็นน้ำแข็ง จนอาจทำให้ถุงปริหรือขวดแตกได้
- สีน้ำนมแม่อาจแตกต่างกันไปตามการรับประทานอาหารของคุณแม่แต่ละคน นมแม่ที่ผ่านการละลายมาแล้วอาจมีสีที่แปลกไป ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นนมแม่ที่ให้ลูกกินได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากลูกไม่ยอมกินนมที่เคยแช่แข็งมา อาจจะลองลดเวลาแช่และรีบนำมาใช้ให้เร็วขึ้น
ข้อควรระวังเรื่อง อายุนมแม่
น้ำนมแม่ที่ปั๊มเก็บเอาไว้อาจมีหลายสี เช่น ออกเป็นสีฟ้า สีเหลือง สีน้ำตาล บางครั้งน้ำนมแม่อาจแยกเป็นชั้น ๆ โดยชั้นบนสุดจะเป็นไขมันข้น ๆ เพียงแค่เขย่าถุงหรือขวดนมเบา ๆ ให้ส่วนที่เป็นน้ำและไขมันผสมกัน ก็สามารถให้ลูกกินได้ตามปกติ แต่ถ้าหากเขย่าแล้วนมแม่ยังแยกชั้นอยู่ นั่นอาจหมายถึงนมแม่ในถุงมีคุณภาพไม่ดีแล้ว ควรทิ้งแล้วให้ลูกกินนมถุงใหม่ หรือหากลองชิมนมแม่ที่เก็บไว้แล้วพบว่ามีรสเปรี้ยวและกลิ่นบูด ก็ควรทิ้งแล้วให้ลูกกินนมถุงใหม่เช่นกัน