backup og meta

ทารกกินน้ำผึ้ง เป็นอันตรายอย่างไร

ทารกกินน้ำผึ้ง เป็นอันตรายอย่างไร

น้ำผึ้ง เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ บำรุงร่างกาย หรือเพิ่มพลังงาน อีกทั้งยังมีรสหวาน ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่รู้ว่า ทารกกินน้ำผึ้ง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากในน้ำผึ้งจะมีสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นพิษต่อร่างกายของเด็กทารก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการป้อนน้ำผึ้งให้ทารก เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของทารก

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ทารกกินน้ำผึ้ง อันตรายอย่างไร

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics ; AAP) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ อาหารต้องห้าม ที่ไม่ควรให้ทารกรับประทาน และหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ น้ำผึ้ง โดยได้กล่าวเตือนว่า “ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 12 เดือน ไม่ควรรับประทานน้ำผึ้ง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม” เนื่องจากการที่ให้ทารก รับประทานน้ำผึ้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะที่อันตราย ที่เรียกว่า โรคโบทูลิซึม (Botulism)

โรคโบทูลิซึมนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการเป็นพิษของสปอร์เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่สามารถพบได้ในน้ำผึ้ง เมื่อสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะปล่อยสารที่เป็นพิษต่อร่างกายออกมา แม้ว่าตามปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะสามารถรับมือกับสปอร์นี้ได้ แต่สำหรับทารกที่มาอายุน้อยกว่า 1 ปี ระบบภูมิคุ้มกันของทารกนั้นจะยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถรับมือกับสปอร์นี้ได้ และกลายเป็นพิษที่อันตรายต่อร่างกายได้

สารพิษนั้นจะเกิดขึ้นภายในระบบทางเดินอาหาร และถูกดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมกล้ามเนื้อของทารก และกรณีที่รุนแรง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเป็นอัมพาต ทำให้ทารกไม่สามารถหายใจได้ และเสียชีวิตในที่สุด

สัญญาณและอาการของโรคโบทูลิซึมในเด็กทารกมีดังต่อไปนี้

  • ท้องผูก
  • สีหน้าเรียบเฉย
  • ร้องไห้เบาๆ
  • อ่อนแรง
  • ไม่ค่อยกินนม
  • เคลื่อนไหวน้อยลง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หายใจไม่ค่อยออก
  • น้ำลายไหลย้อย กลืนน้ำลายไม่ค่อยได้

หากสังเกตพบอาการเหล่านี้ หรือหากเผลอป้อนน้ำผึ้งให้เด็กทารกรับประทาน ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทันที

เมื่อไหร่ลูกถึงสามารถกินน้ำผึ้งได้

หลังจากที่ได้รับรู้เกี่ยวกับอันตรายของการป้อนน้ำผึ้งให้เด็กทารกไป คุณพ่อและคุณแม่อาจจะรู้สึกกังวล และหวาดกลัว ไม่ยอมให้เด็กรับประทานน้ำผึ้งเลย แต่จริงๆ แล้ว น้ำผึ้งนั้นเป็นสารให้ความหวาน ที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินบี วิตามินซี กรดอะมิโนจำเป็น และสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ เหมาะสมกับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ขอเพียงแค่เด็กได้รับประทานน้ำผึ้ง ในปริมาณที่เหมาะสม และเริ่มรับประทานเมื่อโตพอแล้วเท่านั้น

จากคำแนะนำของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาที่บอกว่า ไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนรับประทานน้ำผึ้ง นั่นหมายความว่า คุณพ่อคุณแม่อาจสามารถให้ลูกเริ่มรับประทานน้ำผึ้งได้ หลังจากที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปนั้น จะมีระบบทางเดินอาหารที่เจริญเติบโตมากเพียงพอ และมีความเข้มข้นของกรดมากพอที่จะช่วยย่อยและกำจัดสารพิษที่สปอร์ของแบคทีเรียนั้นสร้างขึ้นมา ทำให้สามารถรับประทานน้ำผึ้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะเกิดโรคโบทูลิซึม

โดยคุณพ่อคุณแม่นั้นไม่จำเป็นจะต้องเร่งรีบให้ลูกที่มีอายุ 1 ปีรับประทานน้ำผึ้งในทันที แต่อาจจะค่อยๆ ผสมลงในนมหรืออาหารที่ลูกกิน เช่น ผสมในข้าวบด ผสมในโยเกิร์ต หรือผสมน้ำนม ทีละน้อยๆ และให้นานๆ ครั้ง เพื่อให้ลูกได้มีเวลาปรับตัว รวมถึงคอยดูปฏิกิริยา และอาการต่างๆ ของลูกด้วยว่า มีอาการแพ้ หรือผลข้างเคียงที่อันตรายอะไรหรือเปล่า หากพบอาการผิดปกติอะไร จะได้แจ้งให้แพทย์ทราบ และรักษาได้ทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Botulism and Honey. What’s the Connection? https://www.poison.org/articles/2010-jun/dont-feed-honey-to-infants

Infant Botulism https://kidshealth.org/en/parents/botulism.html

When Can a Baby Have Honey?. https://www.webmd.com/baby/when-can-a-baby-have-honey. Accessed May 14, 2022.

Foods to avoid giving babies and young children. https://www.nhs.uk/conditions/baby/weaning-and-feeding/foods-to-avoid-giving-babies-and-young-children/. Accessed May 14, 2022.

About Botulism https://www.cdc.gov/botulism/general.html#:~:text=Botulism%20(“BOT-choo-,butyricum%20and%20Clostridium%20baratii%20bacteria.. Accessed May 14, 2022..

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคในทารกแรกเกิด ที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้าง

ป้อนกล้วยทารก เสี่ยงตายได้ หากไม่ถึงวัยอันควร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา