backup og meta

ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง มักเป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวล ทั้งที่จริงแล้ว ช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะวัย 3-5 ขวบเป็นช่วงที่ลูกกำลังเรียนรู้ที่จะเริ่มสร้างความท้าทาย คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ช่วงเวลานี้ทำความเข้าใจและสร้างความไว้ใจให้ลูก หาวิธีรับมือลูกดื้อโดยที่ไม่จำเป็นต้องดุหรือลงโทษ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

สาเหตุที่ทำให้ ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง

การที่เด็กดื้อถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการด้านอารมณ์ ความคิด นอกจากนั้น ในบางสถานการณ์อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • เด็กกำลังจดจ่ออยู่กับบางสิ่ง หากเด็กทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือทำการบ้าน เด็กๆ อาจไม่ได้ยินสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด และไม่ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอก ให้มองในแง่ดีว่าเด็กกำลังมีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเริ่มรู้สึกว่าลูกไม่เชื่อฟัง อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการสนทนากันอย่างตรงไปตรงมา แสดงความต้องการ พูดสบตากับลูก ก็จะทำให้ลูกละจากกิจกรรมที่ทำอยู่ได้
  • ระวังน้ำเสียงและคำพูด การคิดก่อนพูดยังคงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรระวังน้ำเสียง และประโยคที่ใช้พูดกับลูก เนื่องจากการตะโกน หรือใช้อารมณ์อาจไม่เป็นผลดี และอาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมไม่เชื่อฟังมากกว่าเดิม
  • พูดหลายประเด็นเกินไป เด็ก ๆ อาจไม่สามารถจำรายละเอียดได้ทั้งหมด ดังนั้น เวลาที่ผู้ปกครองต้องการให้เด็กทำอะไรบางอย่าง ควรพูดในประเด็นที่สำคัญประมาณ 1-2 ประเด็น หากเด็ก ๆ ไม่ทำตามเนื่องจากอาจเก็บข้อมูลไม่ได้ทั้งหมด จึงดูเหมือนเป็นการไม่เชื่อฟัง และอาจทำโทษลูกโดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงถูกทำโทษ
  • เด็ก ๆ ต้องการท้าทาย บางครั้งเด็ก ๆ อยากทดสอบว่าเขาสามารถแหกกฎได้มากแค่ไหน ดังนั้น คุณควรมีกฎระเบียบที่ชัดเจน และมีบทลงโทษที่เหมาะสม หากคนในบ้านไม่ทำตามกฎกติกาต่าง ๆ

ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง รับมืออย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีรับมือ ทำความเข้าใจ และพูดคุยกับลูกอย่างมีเหตุผล ในขณะเดียวกัน ควรบอกให้ลูกรับรู้ถึงขีดจำกัดในการแสดงออกต่าง ๆ มีกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจและไว้ใจกันในครอบครัว รวมทั้งเป็นโอกาสดีที่จะฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะสื่อสารและแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง

สบตากับลูก

เวลาพูดกับลูก ควรสบตากับลูกโดยตรง แสดงถึงความตั้งใจและสนใจในสิ่งที่กำลังพูด ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกฟังแล้ว ยังเป็นการสอนมารยาทที่ดี และสอนให้ลูกฟังผู้อื่นด้วยความเคารพ เวลาที่ผู้อื่นพูดกับเขา

รับฟังลูก

การรับฟังก็เหมือนกับพฤติกรรมอื่น ๆ โดยเด็ก ๆ จะสามารถเรียนรู้จากการเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อลูกพูด ควรตั้งใจฟัง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และลูกมีแนวโน้มว่าจะทำแบบเดียวกัน

พยายามหาสาเหตุว่าทำไมลูกจึงไม่ปฏิบัติตาม

ลองคิดทบทวนดูว่าอะไรที่เป็นสาเหตุให้เด็ก ๆ ไม่เชื่อฟัง  เช่น  อาจขอให้ลูกทำในสิ่งที่ยากเกินไป ใช้อารมณ์กับลูก บังคับหรือกดดันลูกมากเกินไป หรืออาจลองถามเหตุผลกับลูกว่าเพราะอะไรเขาจึงไม่สามารถปฏิบัติตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ร้องขอหรือทำตามกฎกติกาต่าง ๆ ได้

ใจเย็น อดทน

เวลาที่ลูกไม่ฟังอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธ ควรมีสติ ใจเย็น รอให้ตนเองหายโกรธหรือหายโมโหจึงเข้าไปพูดกับลูก ไม่ควรตะโกนหรือตะคอกใส่ลูกด้วยความโกรธ หรือต่อว่าลูกด้วยคำพูดแรง ๆ แม้ลูกจะไม่เชื่อฟังบ้าง ไม่ควรเหมารวมว่าลูกกลายเป็นเด็กเกเร เนื่องจากคำพูดที่มาจากอารมณ์มากกว่าเหตุผลอาจทำให้ลูกรู้สึกแย่ หรืออาจเก็บกดจนกลายเป็นปัญหาครอบครัวในระยะยาว

สร้างความสนุก

การเพิ่มความสนุกไปในกิจวัตรประจำวันอาจทำให้ลูก ๆ เชื่อฟังมากขึ้น และทำตามกฎกติกาต่าง ๆ โดยไม่ต้องพูดซ้ำ เช่น ลูกมีทีท่าว่าจะตื่นสายและไม่ยอมไปโรงเรียน อาจชวนเขาเล่นเกมว่า ใครจะวิ่งไปถึงห้องน้ำได้ก่อนกัน การเพิ่มความสนุกเข้าไปสามารถทำให้ลูกมีความสุขและเชื่อฟังมากขึ้นได

ไม่คาดหวัง

การสร้างนิสัยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา แทนที่จะคาดหวังว่าลูกจะเชื่อฟังตั้งแต่ครั้งแรก ควรดูการพัฒนาไปเรื่อย ๆ เด็ก ๆ มักจะเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างลูกของตนเองและลูกของคนอื่นเพราะเด็กแต่ละคน ต่างมีนิสัย บุคลิกภาพ พัฒนาการและทักษะที่แตกต่างกันไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Discipline: 5 Dos and Don’ts When Your Kids Won’t Listen. https://health.clevelandclinic.org/discipline-5-dos-and-donts-when-your-kids-wont-listen/. Accessed November 11, 2022.

Why Your Child is Not Listening to You. https://www.verywellfamily.com/why-your-child-is-not-listening-to-you-620116. Accessed November 11, 2022.

How to Get Your Kids to Talk to You. https://www.webmd.com/parenting/how-to-get-your-kids-to-talk-to-you. Accessed November 11, 2022.

4 Reasons Why Your Child Is Not Listening. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-culture/202201/4-reasons-why-your-child-is-not-listening. Accessed November 11, 2022.

The Art of Talking With Children. https://www.gse.harvard.edu/news/ed/22/06/art-talking-children. Accessed November 11, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/11/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเครียดในเด็ก สัญญาณที่พ่อแม่ควรสังเกต

อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก เป็นอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 22/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา