เด็กแต่ละคนจะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ สไตล์การเรียนรู้ (Learning Style) หรือรูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เพราะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการศึกษาของเด็กได้ และในบางกรณีอาจมีส่วนช่วยแก้ไขภาวะบกพร่องด้านต่าง ๆ เช่น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities หรือ LD) โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD)
[embed-health-tool-vaccination-tool]
สไตล์การเรียนรู้ คืออะไร
รูปแบบการเรียนรู้แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การฟัง (Auditory) การเคลื่อนไหวร่างกาย (Kinesthetic) การสัมผัส (Tactual) และการมองเห็น (Visual) คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มประเมินรูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก เมื่ออายุ 6-7 ปี และรูปแบบการเรียนรู้จะเริ่มตกผลึกจริง ๆ เมื่อเข้าสู่การเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
นอกจากนี้ วิธีการสอนวิธีเดียวอาจไม่ได้ผลสำหรับเด็กทุกคน หรือแม้แต่กับเด็กส่วนใหญ่ ความตระหนักของผู้สอนเกี่ยวกับสไตล์การเรียนรู้ที่หลากหลาย และความพยายามที่จะปรับเรียนการสอนให้เข้ากับสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ อาจช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กทุกคนได้ดีกว่า นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้ ดังต่อไปนี้
สไตล์การเรียนรู้ 4 รูปแบบ
1. การมองเห็น (Visual learners)
เด็กที่มีสไตล์การเรียนรู้ผ่านการมองเห็น มักจะเรียนรู้ข้อมูลได้ดีที่สุดผ่านการมองเห็นสิ่งใหม่ ๆ โดยสัญญาณที่บอกว่าเด็กถนัดที่จะเรียนรู้จากการมองเห็น ได้แก่
- ชอบเรียนรู้จากรูปภาพ ภาพประกอบ และจากการดูวิดีโอหรือรายการในโทรทัศน์
- จดจำวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ จากการเห็นคนอื่นทำ
- สามารถจดจำรูปร่าง สี และตัวอักษร ได้อย่างรวดเร็ว
คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนเด็ก ๆ ที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบนี้ได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ นำเสนอผลงานที่เป็นภาพ เช่น ให้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิชาประวัติศาสตร์เป็นภาพ นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังสามารถได้ประโยชน์จากการอธิบายเนื้อหาวิชาการ ผ่านการวาดแผนผังหรือแผนภาพ และการใช้สีที่แตกต่างกันก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ มากไปกว่านั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการมองเห็นของเด็กได้ ดังนี้
- ให้เรียนรู้ผ่านหนังสือรูปภาพ ที่มีภาพมากมาย
- ให้ดูรายการหรือวิดีโอเพื่อการศึกษา
- สาธิตวิธีการทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
- ใช้แผนผังหรือแผนภาพในการสรุปเนื้อหาต่าง ๆ
2. การฟัง (Auditory learners)
เด็ก ๆ ที่มีสไตล์การเรียนรู้ผ่านการฟัง จะได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ได้ดีที่สุดจากการฟัง โดยสัญญาณที่บอกว่าเด็กถนัดที่จะเรียนรู้จากการฟัง ได้แก่
- สามารถจดจำคำศัพท์ ไปจนถึงเรื่องราวต่าง ๆ และจดจำเพลงได้อย่างรวดเร็ว
- สามารถทำตามคำสั่งได้อย่างง่ายดาย
- มักจะพูดทวนสิ่งที่ได้ยินและความคิดเห็นต่าง ๆ
เด็ก ๆ ที่มีสไตล์การเรียนรู้ผ่านการฟัง มักจะมีความสุขกับการสื่อสารความคิดของพวกเขาผ่านการพูดคุยในคาบเรียนหรือที่บ้าน เด็ก ๆ สามารถได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมวงสนทนา หรือพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กผ่านการฟัง ได้ดังนี้
- เด็ก ๆ จะชอบฟังเรื่องเล่า หรือเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องที่แต่งขึ้น รวมถึงลูกจะชอบเล่าเรื่องด้วยตนเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าเรื่องราวให้เด็ก ๆ ฟัง และเป็นผู้ฟังที่ดีในเวลาที่เด็ก ๆ เล่าเรื่อง
- ยิ่งพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์มากเท่าไหร่ เด็ก ๆ ก็จะยิ่งได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
- เพลงและจังหวะต่าง ๆ เป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
3. การเคลื่อนไหวร่างกาย (Kinesthetic learners)
เด็กที่มีสไตล์การเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย จะชอบใช้ร่างกายในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และแนวคิดใหม่ ๆ โดยสัญญาณที่บอกว่าเด็กถนัดที่จะเรียนรู้จากการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้แก่
- สนุกกับการเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เช่น สนุกกับการเล่นสไลด์เดอร์ซ้ำ ๆ ไม่ยอมหยุด
- ชอบแสดงละครเป็นตัวละครต่าง ๆ จากหนังสือนิทาน หรือเลียนแบบการกระทำของตัวละครในเรื่อง
- ชอบเล่นของเล่น และทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย
เด็ก ๆ ที่มีสไตล์การเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย มักจะสนุกกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จะชอบแสดงละครมากกว่าการนั่งเขียนบทละครลงในกระดาษ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้เรียนรู้ผ่านเกม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และอาจลองใช้วิธีเหล่านี้
- สนับสนุนให้มีการแสดงบทบาทสมมติเพื่อการเรียนรู้
- สอนข้อมูลใหม่ ๆ ผ่านเกมหรือกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย
4. การสัมผัส (Tactual learners)
เด็กที่มีสไตล์การเรียนรู้ผ่านการสัมผัส มักจะต้องการที่จะรู้สึกและสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจ โดยสัญญาณที่บอกว่าเด็กถนัดที่จะเรียนรู้จากการสัมผัส ได้แก่
- ชอบสัมผัสวัตถุและพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ชอบเล่นของเล่นไม้ที่เป็นรูปทรงต่าง ๆ
- ต้องการรู้สึกถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ต้องการสัมผัสน้ำแข็งเพื่อรับรู้ว่าความเย็นจัดเป็นอย่างไร
- มักจะมีปัญหาในการทำตามคำสั่งที่ไม่คุ้นเคย
คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการสัมผัส ได้ดังนี้
- ให้เด็กลองเรียนรู้สิ่งใหม่จากการลงมือทำ
- ใช้ดินน้ำมัน แป้ง หรือทราย ทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ เพื่อเสริมการเรียนรู้
เด็ก ๆ แต่ละคนย่อมมีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน โดยบางคนอาจเรียนรู้ผ่านการมองเห็นได้ดีกว่ารูปแบบอื่น เช่น สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้จากการดูรูปภาพ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตว่า ลูกสามารถเรียนรู้ได้ดีจากรูปแบบการเรียนรู้แบบใด และสนับสนุนให้เด็ก ๆ ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด เพื่อประโยชน์การเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมวัย