backup og meta

เล่านิทาน ให้ลูกฟังก่อนนอน มีประโยชน์อย่างไร

เล่านิทาน ให้ลูกฟังก่อนนอน มีประโยชน์อย่างไร

เล่านิทาน ให้ลูกฟัง เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อาจช่วยส่วนในการเพิ่มทักษะและพัฒนาการของเด็ก เสริมสร้างจินตนาการ ฝึกให้ลูกรู้จักเรียนรู้ ช่างสังเกต อีกทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกได้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับพัฒนาการของลูก และควรหลีกเลี่ยงหนังสือที่อาจมีเนื้อหารุนแรงหรือสยองขวัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลัวจนฝังใจอีกด้วย

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ประโยชน์ของการ เล่านิทาน ให้ลูกฟังก่อนนอน

คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจมีปัญหากับการบอกให้ลูก ๆ เข้านอน แต่จนแล้วจนรอดเด็ก ๆ ก็ยังคงนั่งทำตาแป๋ว ทำอย่างไรก็ไม่ยอมง่วงสักที หลายครอบครัวจึงหันมาใช้วิธีทำกิจกรรมร่วมกันก่อนเข้านอน โดยเฉพาะ การเล่านิทาน อ่านหนังสือ ให้ลูกฟังก่อนนอน ซึ่งกิจกรรมเช่นนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ พร้อมที่จะเข้านอนแล้ว ก็ยังให้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย ดังนี้

พัฒนาทักษะทางภาษา

การเล่านิทานหรือการ อ่านหนังสือ ก่อนนอน มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะทั้งการฟังและการอ่าน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กลไก ทักษะทางภาษาผ่านถ้อยคำ รูปประโยค และบริบทต่าง ๆ แรกเริ่มผู้ปกครองอาจจะอ่านให้ลูกฟัง จากนั้นจึงค่อย ๆ ผลัดเปลี่ยนมาให้เด็กอ่านให้ฟังบ้าง หรือต่างคนต่างอ่านแล้วมาสรุปพูดคุย แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้อ่านจบลงไป เพื่อให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนทางภาษาเกิดขึ้นหลังการอ่าน หรืออาจเลือกอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่แท้จริง

เสริมสร้างจินตนาการ

จินตนาการก็สำคัญไม่แพ้ความรอบรู้ มีผลการศึกษาเกี่ยวกับเด็กวัยก่อนเข้าเรียนว่า หากเด็กในวัยนี้มีการ อ่านหนังสือ แบบออกเสียง จะเป็นการกระตุ้นให้สมองส่วนที่ควบคุมจิตใจเกิดการทำงาน สมองส่วนนี้จะช่วยปลดปล่อยจินตนาการของเด็ก ๆ ในขณะที่อ่านเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เด็กสามารถที่จะเข้าใจเรื่องราวที่กำลังอ่านอยู่ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เด็กได้เรียนรู้ที่จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ผ่านการ อ่านหนังสือ ในขณะที่กำลังอ่านหนังสือหรือเล่านิทาน เด็ก ๆ จะจดจำตัวละคร และจินตนาการภาพการกระทำในช่วงต่าง ๆ ของตัวละคร มีการเรียนรู้รูปแบบคำพูดของตัวละครที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ และเด็กจะได้รู้จักการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้หากรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้จุดนี้มอบแง่คิด และยกตัวอย่าง เช่น เห็นไหมว่าตัวละครตัวนี้พบจุดจบยังไง เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น และทำไมเราไม่ควรทำตัวแบบเดียวกับตัวละครนั้น

เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์

เด็กที่อยู่ในช่วงวัยกำลังหัดพูด เป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้จะสามารถจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ ได้ดีมาก จากผลการวิจัยของโรงพยาบาลโรดไอแลนด์ (Rhode Island Hospital) พบว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เด็กจะมีความสามารถในการรับสาร คำศัพท์และความหมายของคำได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับการ อ่านหนังสือ ในข้อนี้จะสังเกตได้ว่าเมื่อมีคำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เด็กมักจะทวนคำนั้นซ้ำ ๆ หรือพูดตามอยู่หลายรอบ นั่นถือเป็นการเรียนรู้และการจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ ผ่านการอ่านและการฟัง เป็นการเพิ่มทักษะในด้านความจำได้อีกทางหนึ่งด้วย

ฝึกให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต

วัยเด็ก ยังเป็นช่วงวัยที่ประสบการณ์ชีวิตน้อยหรือแทบจะไร้ประสบการณ์ บางช่วงบางตอนที่ อ่านหนังสือ ลูกอาจสับสน งง ไม่เข้าใจประโยคต่าง ๆ และมีการยกมือถามข้อสงสัยขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังอ่านหนังสืออยู่ การกระทำดังกล่าวแม้จะขัดจังหวะการอ่านหนังสือ แต่นับเป็นโอกาสที่ดีที่เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องราวที่มากกว่าในหนังสือ เด็กรู้จักที่จะสงสัย และต้องการที่จะหาคำตอบ คุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มกลยุทธ์โดยการให้เป็นการบ้านแยกย้ายกันไปหาคำตอบแล้วพรุ่งนี้มาเฉลยพร้อมกัน เป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความกระหายใคร่รู้

กระชับความสัมพันธ์

การเป็นผู้ปกครองไม่จำเป็นจะต้องวางบทบาทเข้มงวด ดุ หรือมีความเป็นผู้ใหญ่ตลอดเวลา การอ่านหนังสือหรือเล่านิทาน ผ่านการใช้น้ำเสียงของแต่ละตัวละคร ทำเสียงเล็กเสียงน้อย ทำท่าทางต่าง ๆ ประกอบการอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ เห็นภาพ ท่าทางบางท่าอาจจะตลกขบขัน แต่เป็นการทลายเส้นกั้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว ทำให้เด็ก ๆ ผ่อนคลายและสบายใจที่ได้อยู่ใกล้ ๆ คุณพ่อคุณแม่ของพวกเขา

ควรเลือกหนังสือแบบไหนมา เล่านิทาน ให้ลูกฟัง

การเล่านิทานและ อ่านหนังสือ ให้ลูกฟังก่อนนอน มีประโยชน์มากก็จริง แต่ไม่ใช่หนังสือทุกเล่มจะเหมาะสมกับเด็ก ๆ เนื่องจากเด็กยังขาดประสบการณ์ในการใช้ชีวิต หนังสือบางเล่มเด็กอาจยังไม่สามารถที่จะแยกแยะได้มากพอ ผู้ปกครองจึงควรเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับลูกด้วย

เลือกตามความสนใจของลูก

หากลูกชอบไดโนเสาร์ สัตว์บก สัตว์น้ำ ดอกไม้ หรือแมลง หนังสือที่เหมาะจะนำมาอ่านก่อนเข้านอนก็ควรเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสนใจของเด็ก ๆ เพราะสามารถที่จะเรียกความสนใจจากลูกได้เป็นอย่างดี

เลือกตามความสนใจของคนในบ้าน

บางครอบครัวอาจมีความชอบในเรื่องเดียวกัน เมื่อทุกคนมีความชอบอย่างเดียวกัน การ อ่านหนังสือ ที่เหมาะสมก็ควรจะต้องตรงตามความสนใจนั้น ๆ และผู้ปกครองสามารถที่จะแบ่งปันประสบการณ์ตรงและแง่คิดต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย เพราะเป็นเรื่องราวที่ตนเองก็ให้ความชื่นชอบเช่นเดียวกับลูก

เลือกหนังสือบอร์ด 

เป็นหนังสือที่ทำมาจากกระดาษแข็ง มีรูปประกอบที่มีสีสันสวยงาม และทนทานกับการเขวี้ยง โยน หรือฉีกขาด เหมาะสำหรับเด็กที่ยังเล็กอยู่ หรืออายุตั้งแต่ 1-2 ปี

เลือกหนังสือภาพ

สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 2-6 ปี หนังสือภาพเป็นหนังสือที่ตอบโจทย์ เพราะมีทั้งเนื้อหาและภาพประกอบที่สวยงาม เด็ก ๆ สามารถที่จะอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย

สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป หรืออยู่ในช่วงประถมศึกษาตั้งแต่ ป.2 ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถให้อิสระกับเด็ก ๆ ที่จะ อ่านหนังสือตามความสนใจได้ เช่น นวนิยาย หนังสือภาพ นิตยสาร หนังสือที่มีเสียงประกอบหรือ Audiobooks เรื่องสั้น หนังสือนิทานแปลจากต่างประเทศ เด็ก ๆ สามารถเลือกได้ตามความสนใจ แต่ผู้ปกครองไม่ควรลืมที่จะตรวจสอบเนื้อหาด้วย เพราะหนังสือบางเล่มอาจมีเนื้อหาที่โตเกินวัยของเด็ก หรือมีเนื้อหาที่เด็กในวัยประถมอาจจะยังไม่สามารถแยกแยะและทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Pick a Great Book to Read. https://kidshealth.org/en/kids/find-book.html. Accessed on February 26, 2020.

Health Benefits of Reading to Children. https://www.webmd.com/children/health-benefits-reading-children. Accessed 30 May, 2022

Reading to Young Children: A Head-Start in Life https://www.education.vic.gov.au/documents/about/research/readtoyoungchild.pdf. Accessed 30 May, 2022

Reading with Your Child. https://www.readingrockets.org/article/reading-your-child. Accessed 30 May, 2022

Reading and storytelling with babies and children. https://raisingchildren.net.au/babies/play-learning/literacy-reading-stories/reading-storytelling. Accessed 30 May, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2022

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีสังเกต เด็กใช้ยาสีฟันมากเกินไป หรือเปล่า

อยากมีลูกชาย ควรร่วมรักอย่างไรดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา