พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ ค่อนข้างก้าวกระโดดจากขวบปีก่อนหน้า โดยจะเริ่มมีจินตนาการมากขึ้น มีความสนใจที่จะสำรวจสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น นอกจากนั้น ยังรู้จักสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มมีทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรหาวิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้เด็กเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมวัย
[embed-health-tool-child-growth-chart]
พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ มีอะไรบ้าง
พัฒนาการทั่วไปของเด็ก 3 ขวบ มีดังต่อไปนี้
พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
- กระโดดอยู่กับที่
- ปั่นจักรยาน 3 ล้อ
- แต่งตัวด้วยตัวเองขณะให้ผู้ปกครองช่วย
- วาดรูปวงกลมตามแบบด้วยดินสอหรือสีเทียน
- หมุนเปิดและปิดฝาขวด หมุนลูกบิดประตูได้
- เปิดหน้าหนังสือด้วยตัวเอง
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
- พูดเป็นประโยคได้ยาวตั้งแต่ 3 คำขึ้นไป
- เรียนรู้คำศัพท์ประมาณ 200 คำขึ้นไป
- พูดคุยโต้ตอบกับผู้ปกครองได้ บอกได้ว่าตัวเองทำอะไรหรืออยู่ที่ไหน
- คำพูดเริ่มฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น
- ทำตามคำสั่ง 2-3 ขั้นตอนได้แล้ว เช่น แปรงฟัน บ้วนปาก เช็ดปาก
พัฒนาการด้านสติปัญญา
- มีความเข้าใจและเชื่อมโยงเหตุการณ์กับการกระทำได้ เช่น เมื่อผู้ปกครองบอกให้ใส่รองเท้า เด็กจะรู้ว่าได้เวลาไปนอกบ้าน
- ทำตามคำสั่งได้ เช่น ไม่เข้าใกล้เตาหรือสัมผัสของร้อน
- เข้าใจประโยคยาว ๆ ที่คนอื่นพูดกับตัวเองได้
- มีทักษะการแก้ไขปัญหา จับคู่สิ่งของหรือรูปภาพได้ เข้าใจความแตกต่างของขนาด จดจำและแยกสีได้
- มีความกลัวในเรื่องบางอย่าง เช่น ความมืด ตุ๊กตาตัวใหญ่
- พูดขอบคุณได้
- จดจำเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นได้
- เริ่มที่จะแสดงอารมณ์ในลักษณะที่เป็นที่ยอมรับทางสังคมมากขึ้น เช่น แสดงอาการงอแงน้อยลง ขอในสิ่งที่ต้องการแทนที่จะร้องไห้
สัญญาณของปัญหา พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ
เด็กอายุ 3 ขวบ บางรายอาจมีพัฒนาการช้าหรือผิดปกติ ซึ่งหากพบว่าลูกมีสัญญาณความผิดปกติ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ปกติและเหมาะสมกับช่วงวัยมากที่สุด โดยสังเกตจากพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ปัญหาด้านการมองเห็น การฟัง และการสื่อสาร เช่น เด็กไม่ยอมสบตา เด็กพูดจาไม่ค่อยเข้าใจไม่พูดเป็นประโยคอย่างน้อย 3 คำขึ้นไป ไม่ตอบสนองต่อเสียงรอบตัว เช่น เสียงเรียก เสียงปรบมือ เสียงของตก
- ปัญหาด้านพฤติกรรมและการเล่นสนุก เช่น ไม่ยอมอยู่ห่างจากผู้ปกครอง ไม่สนใจที่จะเล่นกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ไม่เล่นแสดงบทบาทสมมติ (Pretend Play)
- ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและขยับกล้ามเนื้อ เช่น สะดุดล้มบ่อย ๆ ขณะเดินหรือวิ่ง มีปัญหาในการถือของเล็ก ๆ อย่างดินสอ สีเทียนไว้ในมือ ไม่สามารถวาดรูปเป็นรูปร่างง่าย ๆ ได้
การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ ทำได้อย่างไรบ้าง
ผู้ปกครองสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้เวลาเล่นอย่างเต็มที่ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ดีขึ้น เพราะเด็กได้ใช้เวลาสำรวจและเรียนรู้การแสดงอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสนุก ตื่นเต้น โกรธ กลัว ผู้ปกครองอาจให้เด็กเล่นหุ่นเชิด เล่นทายคำถามอะไรเอ่ย เล่นแป้งโดว์ เล่านิทานให้ฟัง เป็นต้น
- ให้เด็กไปเล่นนอกบ้าน เช่น ที่สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะใกล้บ้าน ลานเด็กเล่นที่ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน จะช่วยให้เด็กได้ไปพบกับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ และทำให้สามารถประเมินขีดจำกัดของความสามารถทางกายภาพของเด็กได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรทาครีมกันแดดให้เด็กเสมอและสวมเสื้อผ้าและหมวกที่มิดชิด เมื่อพาเด็กออกไปข้างนอกในตอนกลางวันที่มีแดดจัดเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาจากสภาพอากาศร้อนจัด
- หาเวลาให้เด็กได้ทำกิจกรรมศิลปะหรือมีความสร้างสรรค์ เช่น การทำภาพตัดปะ การวาดภาพ การเล่นเกมแต่งตัว หรือการเล่าเรื่องจากจินตนาการ นอกจากนี้ ยังอาจสร้างความเพลิดเพลินด้วยการใช้เสียงเพลงที่จะกระตุ้นให้เด็กกระโดดโลดเต้นหรือเล่นสนุกไปกับเสียงดนตรี หรือให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีง่าย ๆ เช่น เปียโนของเล่น กลองของเล่น
- กระตุ้นให้เด็กรู้จักการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง และอาจถามคำถามเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้เด็กเข้าใจปัญหามากขึ้น หรืออาจช่วยเด็กคิดหาวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ แล้วให้เด็กเลือกว่าจะจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร
- ให้เด็กช่วยเตรียมอาหารหรืองานครัวง่าย ๆ เช่น ให้ช่วยวางผักในแผ่นขนมปังแซนด์วิช หรือเตรียมโต๊ะรับประทานอาหาร กิจกรรมเหล่านี้อาจช่วยให้เด็กสนใจที่จะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพราะเด็กจะรู้สึกมีส่วนร่วม นอกจากนี้ อาจสอนให้เด็กเรียนรู้ความคิดด้านคณิตศาสตร์ง่าย ๆ เช่น เวลาอบขนม 30 นาที ตวงแป้ง 2 ช้อนโต๊ะ
- ตั้งกฎง่าย ๆ และชัดเจนที่เด็กสามารถปฏิบัติตามได้ เช่น ไม่เล่นกับสัตว์เลี้ยงแรง ๆ วางรองเท้าให้เรียบร้อย หากเด็กทำตามได้อย่างดีควรพูดชื่นชมเพื่อให้เด็กรู้ว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่หากเด็กทำผิดกฎ ให้แสดงให้เด็กดูว่าควรทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง
- ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นมือถือหรือไอแพด รวมทั้งอุปกรณ์หน้าจออื่น ๆ เป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้สายตาเด็กแย่ลงและสมาธิสั้นลง ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาที่แน่นอนและให้เด็กปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด