backup og meta

สนามเด็กเล่น มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกน้อยอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    สนามเด็กเล่น มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกน้อยอย่างไร

    สนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นและใช้เวลาทำกิจกรรมนอกบ้านของเด็กหลากหลายช่วงวัย ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย การแก้ไขปัญหา การแบ่งปัน การมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นในวัยใกล้เคียงกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรปล่อยให้ลูกได้เล่นและสำรวจอย่างอิสระ แต่ก็ควรดูแลสอดส่องลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นขณะที่ลูกอยู่ในสนามเด็กเล่น

    ประโยชน์ของ สนามเด็กเล่น

    การออกไปเล่นนอกบ้านของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นในบริเวณ สนามเด็กเล่น ของชุมชน โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ รวมถึงได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในวัยเดียวกัน นอกจากจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยลดความเครียด ช่วยเพิ่มช่วงความสนใจ (Attention span) หรือระยะเวลาที่ลูกสามารถมีสมาธิและจดจ่อกับกิจกรรมได้โดยไม่มีสิ่งรบกวน และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยได้ ดังนี้

  • พัฒนาการด้านร่างกาย เมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อเล่นสนุกในสนามเด็กเล่น ลูกจะได้พัฒนาทักษะการประสานงาน การเคลื่อนไหว การทรงตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งยังเสริมสร้างนิสัยที่ดีทางสุขภาพ อาจช่วยให้ลูกกระตือรือร้นในการออกไปทำกิจกรรมทางกาย และอยากใช้เวลากับโลกภายนอกมากกว่าที่จะนั่งเฉย ๆ เพื่อดูโทรทัศน์หรืออยู่หน้าจอมือถือ
  • พัฒนาการด้านสติปัญญา การออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นถือเป็นโอกาสดีที่ลูกจะได้เคลื่อนไหว คิดวิเคราะห์ หาวิธีแก้ปัญหา และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งอาจช่วยให้ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ การปีนป่ายเครื่องเล่นต่าง ๆ ยังอาจช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะการตระหนักรู้ทางร่างกาย (Body awareness) และได้เรียนรู้ว่าตัวเองต้องอยู่ในท่าทางแบบไหนเพื่อจะปีนขึ้นไปได้
  • ทักษะทางสังคมและความมั่นใจในตนเอง สนามเด็กเล่นเป็นพื้นที่ที่ให้เด็กได้เรียนรู้วิธีสื่อสารความต้องการ การแสดงความคิดเห็น การแบ่งปันพื้นที่กับคนอื่น และได้ฝึกความอดทนผ่านการรอคิวเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ ได้รู้จักการแพ้ชนะในเกม และได้วางแผนร่วมกับคนอื่น ไปพร้อม ๆ กับการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ ช่วยให้ลูกได้ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีทั้งกับเพื่อนในวัยใกล้เคียงกันและเด็กที่มีอายุน้อยกว่าหรือมากกว่า ทั้งยังทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตั้งแต่อายุยังน้อย
  • วิธีสอนให้ลูกเล่นเครื่องเล่นอย่างปลอดภัย

    วิธีสอนให้ลูกเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นและดูแลลูกขณะเล่นอย่างปลอดภัย อาจทำได้ดังนี้

  • สอนให้ลูกใช้อุปกรณ์และเครื่องเล่นอย่างเหมาะสมและตรงกับจุดประสงค์ เช่น ไม่ให้ลูกยืนบนชิงช้า ไม่ให้ลูกกระโดดลงมาจากสไลเดอร์ และอาจให้ลูกทบทวนกฎการเล่นในสนามเด็กเล่นเพื่อให้แน่ใจว่าลูกเข้าใจและจะปฏิบัติตามกฎที่ตกลงกันไว้
  • สอนให้ลูกระมัดระวังและใช้เครื่องเล่นอย่างถูกวิธี เช่น ไม่ให้หย่อนตัวลงมาตามสไลเดอร์หากมีเด็กคนอื่นขวางทางอยู่ด้านล่าง งอเข่าเล็กน้อยขณะไถลตัวลงมาจากสไลเดอร์และลงพื้นด้วยเท้าทั้ง 2 ข้าง ไม่เหวี่ยงตัวแรงเกินไปหรือนอนคว่ำแล้วแกว่งชิงช้าจนอาจตกลงมาบาดเจ็บ
  • ให้ลูกสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ปั่นจักรยานหรือเล่นสกู๊ตเตอร์ และควรถอดหมวกกันน็อกออกเมื่อไปเล่นในสนามเด็กเล่น เพื่อป้องกันไม่ให้สายรัดหมวกกันน็อกรัดคอหรือเกี่ยวกับเครื่องเล่นจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ
  • ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีสายรัด เชือกเส้นยาว กระเป๋า หรือสร้อยคอ ที่อาจไปติดอยู่ในซอกเครื่องเล่นและทำให้ลูกเจ็บตัว
  • ให้ลูกสวมรองเท้าที่ปิดนิ้วเท้าขณะเล่น หลีกเลี่ยงการให้ลูกใส่รองเท้าแตะหรือเดินเท้าเปล่า
  • หลีกเลี่ยงการเล่นเครื่องเล่นที่เปียกน้ำ เพราะอาจลื่นล้มหรือพลัดตกจากเครื่องเล่นได้
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นในช่วงหน้าร้อนหรือตอนอากาศร้อน เพราะบางส่วนของเครื่องเล่น เช่น พื้นสไลเดอร์ ขั้นบันได ราวจับ อาจทำจากโลหะหรือสะสมความร้อนเอาไว้มาก จนทำให้ผิวหนังของลูกที่สัมผัสกับพื้นผิวดังกล่าวถูกลวกจนพองหรือเป็นแผลได้ หากสัมผัสแล้วรู้สึกว่าพื้นผิวร้อนเกินไป ให้เลือกเครื่องเล่นอื่นหรือค่อยกลับมาเล่นในภายหลัง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องเล่นที่มีขอบแหลมคมหรือเป็นสนิม เพราะอาจทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บ เป็นแผล หรือติดเชื้อได้
  • ทาครีมกันแดดให้ลูกก่อนออกไปเล่นข้างนอกอย่างน้อย 15-30 นาที เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวลูก และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากต้องอยู่กลางแจ้งตลอด
  • คุณพ่อคุณแม่ควรสอดส่องลูกขณะอยู่ในสนามเด็กเล่นไม่ให้คลาดสายตา ดูแลให้ใช้อุปกรณ์อย่างระมัดระวัง และกันไม่ให้เด็กผลักกันหรือทะเลาะกันขณะเล่น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา