ลูกดูดนิ้ว เป็นพฤติกรรมที่เด็กหลายคนชอบทำเป็นประจำ โดยส่วนใหญ่อาจไม่รู้ตัว และคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ค่อยได้ให้ความสนใจ เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็ก แต่ในความเป็นจริง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและใส่ใจพฤติกรรมการดูดนิ้วของลูก เพราะหากปล่อยให้ ลูกดูดนิ้ว จนติดเป็นนิสัยและเลิกไม่ได้ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน
ทำไมเด็กถึงชอบดูดนิ้ว
การดูด ถือเป็นสัญชาตญาณและปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติของเด็ก จึงไม่แปลกที่บ่อยครั้งเราจะเห็นภาพทารกขดตัวดูดนิ้วอยู่ในท้องแม่ หรือพยายามคว้าสิ่งต่างๆ เข้าปากตั้งแต่หลังคลอด อาการอยากดูดนี้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเด็กทารกมีอายุได้ 6 เดือน แต่เด็กส่วนใหญ่จะยังคงติดดูดนิ้วอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะตอนก่อนนอน หรือเคลิ้มหลับ เพราะการดูดนิ้วทำให้เด็กรู้สึกสงบ ผ่อนคลายและปลอดภัย และเมื่อโตขึ้น การดูดนิ้วของเด็กยังกลายเป็นเครื่องแสดงอารมณ์ หรือระบายความรู้สึกเวลาหิว หงุดหงิด หวาดกลัว เหนื่อยล้า หรือแม้กระทั่งเมื่ออยากเรียกร้องความสนใจ
ลูกดูดนิ้ว เมื่อไรที่พ่อแม่ควรห้ามปราม
สำหรับเด็กทารก หรือเด็กก่อนวัยเรียน การดูดนิ้วถือเป็นเรื่องปกติ เด็กส่วนใหญ่จะเลิกดูดนิ้วไปเองเมื่ออายุได้ 6-7 เดือน หรือ 2-4 ปี แต่หากลูกดูดนิ้วบ่อย จนเริ่มมีปัญหาในการพูด ปัญหาสุขภาพฟัน ปัญหาผิวหนัง นิ้วที่ชอบดูดเริ่มมีผิวหนังแข็งด้าน หรือลูกอายุเกิน 5 ขวบแล้วแต่ยังติดดูดนิ้วอยู่ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาวิธีแก้ไขให้ลูกหยุดดูดนิ้วโดยเร็วที่สุด
การดูดนิ้วนี้นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ยังอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังมีปัญหาหรือโรคทางอารมณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย
ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมการดูดนิ้วของเด็ก
แม้การดูดนิ้วจะช่วยให้เด็กผ่อนคลาย แต่หากปล่อยให้ดูดนิ้วจนอายุ 5-6 ปีซึ่งเป็นวัยที่ฟันแท้เริ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก โดยเฉพาะในช่องปาก เช่น ทำให้ฟันบนและฟันล่างเปิดห่างจากกันขณะสบฟัน หรือที่เรียกว่าฟันสบเปิด ทำให้ฟันหน้าบนยื่น ขากรรไกรพัฒนาผิดรูป เพดานปากผิดปกติ จนส่งผลให้ไม่สามารถเคี้ยว กลืนอาหาร หรือออกเสียงพูดได้ตามปกติ อีกทั้งเชื้อโรคจากนิ้วยังอาจทำให้เด็กเจ็บป่วย เช่น หูอักเสบจนถึงขั้นต้องผ่าตัดรักษาได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเด็กติดดูดนิ้วจนแสดงพฤติกรรมนี้ที่โรงเรียน อาจทำให้เพื่อนคนอื่นรังเกียจ จนเด็กมีปัญหาด้านจิตใจหรือการเข้าสังคมได้อีกด้วย
วิธีหยุดไม่ให้ ลูกดูดนิ้ว
กว่าเด็กจะเลิกดูดนิ้วถาวรได้อาจต้องใช้เวลานาน เด็กจะเลิกดูดนิ้วได้ช้าหรือเร็วนั้น นอกจากอายุและความสามารถของเด็กเองแล้ว ความช่วยเหลือและกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ จึงไม่ควรเร่งรัด หรือบังคับลูกจนเกินไป แต่อาจใช้วิธีเหล่านี้
- อย่าบ่นหรือลงโทษเวลาที่ลูกดูดนิ้ว เพราะอาจทำให้เด็กเครียดและเก็บกดจนดูดนิ้วบ่อยกว่าเดิม
- ลดโอกาสที่อาจทำให้ลูกดูดนิ้ว เช่น หากลูกดูดนิ้วเพราะเครียด ควรหาสาเหตุที่ทำให้ลูกเครียดและหาวิธีจัดการกับสาเหตุนั้น เป็นต้น
- ตั้งกฎในการดูดนิ้วให้ชัดเจน เช่น ให้ลูกดูดนิ้วได้เฉพาะตอนเข้านอนเท่านั้น โดยอาจมีตารางกำหนดเป้าหมาย และให้รางวัล คำชมเชย เมื่อลูกดูดนิ้วได้น้อยลงตามเป้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกเลิกดูดนิ้วได้สำเร็จ
- หากลูกมักแสดงพฤติกรรมนี้ตอนนอน คุณพ่อคุณแม่อาจสวมถุงเท้าที่มือให้ลูก เพื่อป้องกันลูกเผลอดูดนิ้วเวลาหลับ
- พูดคุยและอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรดูดนิ้ว โดยบอกถึงข้อเสีย
- เมื่อลูกเริ่มดูดนิ้ว ควรรีบเบนความสนใจของลูกด้วยวิธีอื่น เช่น ของเล่น เสียงเพลง หรือหากเป็นเด็กโตหน่อย อาจหากิจกรรมให้ทำ เช่น วาดรูป ระบายสี เพื่อไม่ให้มือว่าง
ลูกดูดนิ้ว หมอฟันอาจช่วยได้
หากคุณพ่อคุณแม่ลองทำวิธีต่างๆ แล้วไม่ได้ผล ควรรีบพาลูกไปพบหมอฟัน เพราะนอกจากลูกจะได้ตรวจสุขภาพช่องปากแล้ว การให้เด็กได้พูดคุยและเรียนรู้ข้อเสียของการดูดนิ้วจากหมอฟัน อาจทำให้เด็กเชื่อฟังและเลิกดูดนิ้วได้ง่ายกว่าการที่พ่อแม่แนะนำให้ทำ นอกจากนี้ คุณหมอบางท่านอาจแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองป้ายยารสขมบนนิ้วให้ลูก เมื่อลูกดูดแล้วเจอรสขม ก็จะเริ่มอยากดูดนิ้วน้อยลง จนเลิกดูดนิ้วได้ในที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]