backup og meta

อีโพรซาร์แทน (Eprosartan)

อีโพรซาร์แทน (Eprosartan)

ข้อบ่งใช้ อีโพรซาร์แทน

อีโพรซาร์แทน (Eprosartan) ใช้สำหรับ

อีโพรซาร์แทน (Eprosartan) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) การลดระดับความดันโลหิตที่เพิ่มสูงจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และปัญหาเกี่ยวกับไต ยานี้ทำงานโดยการคลายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ง่ายขึ้น ยาอีโพรซาร์แทนอยู่ในกลุ่มของยาแอนจีโอเทนซิน รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin Receptor Blockers)

วิธีการใช้ยาอีโพรซาร์แทน

  • รับประทานยานี้ โดยปกติคือวันละสองครั้งหรือตามที่แพทย์กำหนด สามารถรับประทานพร้อมกับอาหารหรือแยกต่างหากก็ได้ ควรใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา สำหรับการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงนั้น อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ถึง 3 สัปดาห์กว่าที่คุณจะได้รับประโยชน์จากยาอย่างเต็มที่
  • คุณควรจะใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรู้สึกเป็นปกติ คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนั้นจะไม่มีอาการ
  • โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณแย่ลง (เช่น ระดับความดันโลหิตของคุณเพิ่มขึ้น)

การเก็บรักษายาอีโพรซาร์แทน

ยาอีโพรซาร์แทน ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาอีโพรซาร์แทนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาอีโพรซาร์แทนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูก สอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาอีโพรซาร์แทน

  • ก่อนใช้อีโพรซาร์แทน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือยาในกลุ่มแอนจีโอเทนซิน รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์อื่นๆ เช่น ยาแคปโตพริล (captopril) หรือลิซิโนพริล (lisinopril) หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคตับ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง สูญเสียน้ำและแร่ธาตุอย่างโซเดียมในร่างกายอย่างมากหรือภาวะขาดน้ำ (dehydration)
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึม อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัวจนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย และควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการวิงเวียนและหน้ามืด ควรลุกขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน
  • ยานี้อาจจะเพิ่มระดับของโพแทสเซียมได้ ก่อนใช้อาหารเสริมโพแทสเซียมหรือสารทดแทนเกลือที่มีโพแทสเซียม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ก่อนการผ่าตัด โปรดแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม (อ่านเพิ่มเติมในส่วนของคำเตือน)
  • ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาอีโพรซาร์แทนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด D โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาอีโพรซาร์แทน

  • คุณอาจจะมีอาการวิงเวียน หน้ามืด และมองเห็นไม่ชัดในขณะที่ร่างกายกำลังปรับตัวเข้ากับยานี้ หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
  • โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแต่รุนแรงดังต่อไปนี้ หมดสติ สมรรถภาพทางเพศลดลง มีอาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นช้าหรือผิดปกติ)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่หายากแต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ ปวดกล้ามเนื้อ
  • แม้ว่ายาอีโพรซาร์แทนอาจจะช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับไตหรือรักษาผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตได้ ในนานๆ ครั้งยานี้อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตหรือทำให้อาการนี้รุนแรงขึ้นได้ แพทย์จะทำการตรวจสมรรถภาพของไตขณะที่คุณกำลังใช้ยาอีโพรซาร์แทน โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากคุณมีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

  • ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะ ยาอะลิสคิเรน (aliskiren) ยาลิเทียม (lithium) ยาที่อาจจะเพิ่มระดับของโพแทสเซียมในเลือด เช่น ยาในกลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) อย่าง เบนาเซพริล (benazepril) หรือลิซิโนพริล (lisinopril) ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของดรอสไพรีโนน (drospirenone)
  • ยาบางชนิดอาจจะมีส่วนผสมที่เพิ่มความดันโลหิตหรือทำให้อาการหัวใจล้มเหลวแย่ลงได้ โปรดแจ้งให้เภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้และสอบถามวิธีการใช้ยาเหล่านั้นอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะยาแก้ไอและแก้หวัด ยาลดความอ้วน หรือยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือนาพรอกเซน (naproxen)

ยาอีโพรซาร์แทนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาอีโพรซาร์แทนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาอีโพรซาร์แทนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาอีโพรซาร์แทนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง

ขนาดยาเริ่มต้น 600 มก. รับประทานวันละครั้งเป็นยาเพียงชนิดเดียว โดยที่สันนิษฐานว่าระดับของเลือดในร่างกายเป็นปกติ (euvolemia)

ขนาดยาปกติ 400 ถึง 800 มก. ต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน 1 หรือ 2 ครั้ง

คำแนะนำ

  • ระดับความดันโลหิตอาจจะลดลงสูงสุดภายใน 2 ถึง 3 สัปดาห์
  • หากการใช้ยาต้านความดันโลหิตสูงวันละครั้งนั้นไม่เพียงพออาจพิจารณาใช้ยาวันละสองครั้งในขนาดเดิมหรือเพิ่มขนาดยา
  • การใช้ยาในขนาดที่มากกว่า 800 มก. ต่อวันนั้นมีอยู่อย่างจำกัด

การปรับขนาดยาสำหรับไต

  • ไตวายระดับเบา ไม่มีการปรับขนาดยาเริ่มต้นที่แนะนำ
  • ไตวายระดับปานกลางถึงรุนแรง ไม่มีการปรับขนาดยาเริ่มต้นที่แนะนำ ขนาดยาสูงสุดคือ 600 มก./วัน

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

  • ไม่มีการปรับขนาดยาเริ่มต้นที่แนะนำ

คำแนะนำอื่นๆ

  • การเฝ้าระวัง ควรประเมินสมรรถภาพของไตก่อนเริ่มต้นการรักษาและเป็นระยะๆ หลังจากนั้น
  • คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับแจ้งถึงผลที่ตามมาจากการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากตั้งครรภ์

ขนาดยาอีโพรซาร์แทนสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eprosartan Dosage. https://www.drugs.com/dosage/eprosartan.html. Accessed January 25, 2018.

Eprosartan MESYLATE. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-17555/eprosartan-oral/details. Accessed January 25, 2018.

Eprosartan. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601237.html. Accessed January 25, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

เทคนิคการ ควบคุมความดันโลหิตสูง โดยไม่ต้องพึ่งยา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา