backup og meta

เทคนิคการรับมือ อาการหายใจลำบาก หนึ่งในอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

    เทคนิคการรับมือ อาการหายใจลำบาก หนึ่งในอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) คืออาการผิดปกติของปอด ที่ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เหนื่อยหอบ และต้องพยายามเพื่อให้จะหายใจได้ดี หากคุณเป็นโรคนี้ บางครั้งอาจพบปัญหาหายใจขณะเดินหรือออกกำลังกายได้ลำบากมาก แค่นั่งหรือพักผ่อนเฉย ๆ ก็ทำให้คุณหายใจหอบได้ อาการหายใจลำบาก นั้นขึ้นอยู่กับความเสียหายของปอด และการที่ปอดทำงานผิดปกติ

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คืออะไร

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือ กลุ่มอาการจากความผิดปกติของปอด โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) คือสองอาการหลักในหมวดหมู่นี้

    ผู้ป่วยจำนวนมากนั้นมีทั้งสองอาการนี้พร้อม ๆ กัน ดังนั้น จึงเรียกโดยรวมว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคนี้เป็นโรคที่มีการพัฒนา หมายถึง อาการของโรคจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังก็ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นดังเดิมได้

    แม้แต่การรักษาก็ยังไม่สามารถรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้หายขาด หรือหยุดโรคนี้ได้ แต่คุณสามารถชะลอการพัฒนาของโรคและพยายามป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับปอดของคุณได้

    อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะแรก มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการเหนื่อยล้าทั่วไปหรือแค่ร่างกาย “อยู่ในสภาพไม่พร้อม’ จนกระทั่งความผิดปกตินั้นพัฒนาขึ้น และสามารถตรวจจับสังเกตเห็นอาการได้มากขึ้น

    อาการทั่วไปของ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 

  • หายใจหอบ
  • แน่นหน้าอกและเจ็บหน้าอก
  • ไอ
  • มึนงง
  • มีเสมหะในปอดที่มักจะออกมาเมื่อคุณไอ
  • รู้สึกเหนื่อยล้าบ่อย
  • ติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจบ่อย
  • ไอมีเสมหะ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทำร้ายปอดของคุณอย่างไร

    ถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ต่างโจมตีปอดในทางที่แตกต่างกัน ถุงลมโป่งพองนั้นทำลายผนังที่อยู่ในถุงลมในปอด เมื่อถุงลมใหญ่เกินไป ก็จะทำให้ผนังมีรอยแตกร้าว ส่งผลกระทบกับกระบวนการในการแลกเปลี่ยนแก๊ส การนำพาออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อในร่างกาย และการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์

    เมื่อถุงลมเสียหายและลดลง ปอดจึงไม่สามารถเก็บและเคลื่อนย้ายอากาศได้มากเท่าที่เคยทำได้ พอปอดทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็ส่งผลกระทบให้คุณไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ คุณจึงพบว่า ตัวเองหายใจหอบและเหนื่อยเร็วขึ้น

    นอกจากนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยังอาจทำให้หลอดลมอักเสบและระคายเคือง เมื่อเวลาผ่านไปอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรังจะทำให้ด้านในหลอดลมหนาขึ้น และไม่ยืดหยุ่น เสมหะส่วนเกินจะกลายเป็นปัญหา เนื่องจากหลอดลมไม่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้อย่างเหมาะสม แล้วสุดท้ายหลอดลมของคุณก็จะอุดตันไปด้วยเสมหะ ทำให้หายใจติดขัด เหนื่อยหอบง่ายขึ้น

    การวัดระดับของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

    วิธีวัดระดับของอาการหายใจหอบมีด้วยกันหลายวิธี แพทย์อาจใช้ระบบที่เรียกว่า มาตรวัดความรู้สึกเหนื่อย (Modified Medical Research Council Dyspnea Scale) รวมถึงมาตรวัดอื่น ๆ ได้แก่ ค่าดัชนีพื้นฐานการหายใจลำบาก (baseline dyspnea index) และแผนภูมิการใช้ออกซิเจน

    จากงานวิจัยในวารสาร Annals of Thoracic Medicine มาตรวัดนั้นจะเกี่ยวข้องแค่ระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นที่อาการหายใจหอบด้วยการใช้มาตรวัดความรู้สึกเหนื่อยเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงความบกพร่องทางกายภาพอื่น ๆ

    แม้ว่านักวิจัยจะให้ข้อมูลไว้ว่า มาตรวัดความรู้สึกเหนื่อยเป็นมาตรวัดที่นิยมใช้ที่สุด เพราะใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถประเมิน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม ในการใช้มาตรวัดนี้ คุณจะต้องเลือกระดับเพื่อบรรยายอาการหายใจหอบของคุณดังนี้

    • “ฉันหายใจหอบแค่ในช่วงที่ออกกำลังกายอย่างหนักเท่านั้น”
    • “ฉันมีอาการหายใจไม่อิ่ม เมื่อเร่งรีบเดินบนพื้นราบ หรือเดินขึ้นเนินเล็ก ๆ”
    • “ฉันเดินบนพื้นราบช้ากว่าคนอื่นที่อายุเท่ากัน เนื่องจากหายใจหอบ หรือต้องหยุดพักหายใจ เมื่อเดินตามจังหวะของตัวเองบนพื้นราบ’
    • “ฉันเดินบนพื้นราบไปได้สักประมาณ 50 เมตร หรือแค่ไม่กี่นาทีก็ต้องหยุดพักหายใจแล้ว”
    • “ฉันหายใจหอบมากเกินกว่าจะออกจากบ้าน” หรือ “ฉันหายใจหอบขณะที่กำลังแต่งตัว”

    แพทย์จะใช้คำตอบของคุณ เพื่อบ่งชี้การรักษา คาดเดาความอยู่รอด และเมื่อใช้ร่วมกับการตรวจสมรรถภาพปอดเอฟอีวี1 (FEV1 lung function test) ก็จะสามารถวินิจฉัยระดับของความผิดปกติได้

    อาการหายใจลำบาก ป้องกันได้อย่างไร

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยาและการรักษาสามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรคและป้องกันความเสียหาย แต่ไม่สามารถหยุดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ รวมถึงยังไม่สามารถฟื้นฟูปอดและหลอดลมที่เสียหายจากโรคปอดอุดกั้นเรื้องรังให้กลับไปเป็นดังเดิมได้อีกด้วย

    แต่หากคุณสามารถจัดการกับอาการหายใจลำบากและความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นได้ ก็อาจทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมส่วนใหญ่ได้โดยไม่เกิดปัญหา และเหล่านี้คือ วิธีในการรับมืออาการหายใจลำบากจากโรคปอดอุดกั้น

    ออกกำลังกาย

    คุณอาจคิดว่า การออกกำลังกายทำให้หายใจหอบและเหนื่อยล้า จึงหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายทุกชนิด แต่ความจริงแล้วการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มพลังกายและช่วยให้ปอดของคุณแข็งแรงขึ้น อาการหายใจหอบจึงลดลงได้

    อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป ก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม ปลอดภัย และไม่ทำให้อาการของคุณแย่ลง

    ฝึกฝนวิธีการหายใจที่เหมาะสม

    หากคุณเป็น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แพทย์อาจจะให้คุณไปพบนักบำบัดระบบหายใจ (Respiratory therapist) ที่จะช่วยคุณจัดการกับโรคนี้ได้ นักบำบัดระบบหายใจสามารถสอนวิธีการเก็บลมหายใจ ในเวลาที่คุณออกกำลังกาย คุณยังอาจจะได้เรียนรู้วิธีการออกกำลังกาย ที่จะช่วยให้คุณฟื้นฟูลมหายใจกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคุณหายใจหอบ

    กำจัดพฤติกรรมที่ไม่ดี

    การสูบบุหรี่สามารถนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นสิ่งที่คุณควรทำอย่างยิ่ง หลายคนอาจเคยเลิกบุหรี่และล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง แต่คุณไม่ควรถอดใจและควรให้กำลังใจตัวเองในการเลิกบุหรี่ และผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพที่จะตามมา

    หากเลิกบุหรี่เองไม่ได้ก็ควรปรึกษาแพทย์ การเลิกบุหรี่ไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมของคุณดีขึ้น และมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ด้วย

    รับอากาศดี เลี่ยงอากาศเสีย

    นอกจากควันบุหรี่แล้ว มลพิษในอากาศก็สามารถทำอันตรายกับปอดและทำให้คุณหายใจหอบได้เช่นกัน พยายามหลีกเลี่ยงไอควันเสีย กลิ่นสี หรือแม้แต่อุปกรณ์ทำความสะอาด ที่อาจกระตุ้นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

    แม้ว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณยังสามารถควบคุมอาการหายใจหอบได้ คุณควรสังเกตอาการของตัวเองให้ดี จะได้แจ้งให้แพทย์ทราบได้อย่างถูกต้องครบถ้วน แพทย์จะได้รักษาได้อย่างถูกวิธี

    เทคนิคข้างต้นที่เรานำมาฝากจะช่วยป้องกันอาการหายใจลำบาก ชะลอกระบวนการของ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และช่วยให้ปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อชีวิตที่สบายและแข็งแรงยิ่งขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา