จากสถิติชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 34 อายุน้อยกว่า 65 ปี โรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเกิดขึ้นได้ในทุกวัย นอกจากนี้สำหรับผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง มีงานวิจัยที่พบความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสมองเสื่อม กับ โรคหลอดเลือดสมอง ลองมาดูกันว่า ภาวะสมองเสื่อม กับ โรคหลอดเลือดสมอง เกี่ยวข้องกันอย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ Hello คุณหมอ มีบทความดีๆ มาให้อ่านกันค่ะ
โรคหลอดเลือดสมอง กับ ภาวะสมองเสื่อม เกี่ยวข้องกันอย่างไร
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กับภาวะสมองเสื่อม (Dementia) จากคนทั่วโลกประมาณ 3.2 ล้านคน ผลการวิจัยพบว่า ยังคงมีความเชื่อมโยงระหว่างโรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อม แม้ว่าจะคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆแล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงอาจใช้ผลการวิจัยเป็นหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนข้อมูลว่า การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการพัฒนาภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตรวจสอบว่าการดูแลสุขภาพหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และการปรับเปลี่ยนใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง ทั้งการรับประทานอาหาร การใส่ใจดูแลตนเองโดยออกกำลังกาย และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ สามารถลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่
คุณสามารถป้องกัน โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม ได้หรือไม่
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและการดูแลสุขภาพหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ในระยะยาว ดังนี้
- เลิกบุหรี่ การสูบบุหรี่ เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้อาการของโรคหลอดเลือดสมองแย่ลง วิธีที่จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดสำหรับคนที่สูบบุหรี่ คือการเลิกบุหรี่
- ลดน้ำหนัก ควรปรึกษาคุณหมอว่าคุณควรมีน้ำหนักเท่าไหร่ จึงจะดีต่อสุขภาพของคุณ หรือจำเป็นต้อง ลดน้ำหนักหรือไม่
- ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย และสำหรับผู้หญิงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 แก้วต่อวัน และจำไว้ว่าคุณควรดื่มเพียงแค่ 1 ออนซ์และดื่มเพียงครึ่งเดียวถ้าดื่มเหล้า ส่วนไวน์ ควรดื่ม 5 ออนซ์ และเบียร์ควรดื่ม 12 ออนซ์
- บริโภคโซเดียมน้อยลง คุณควรจำกัดปริมาณโซเดียมให้ไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่คุณมีอายุมากกว่า 51 ปี และเป็นโรคเบาหวาน โรคไต รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ควรลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล และควรกินอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้คุณควรกินน้ำตาลและเนื้อสัตว์ติดมันให้น้อยลง และอาจกินผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว ปลา ถั่วเปลือกแข็ง และพืชตระกูลถั่วเป็นหลัก
- ออกกำลังกาย การนั่งอยู่กับที่ทั้งวันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ให้คุณค้นหาการออกกำลังกายที่ชอบ และลงมือทำ โดยคุณอาจปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะกับคุณ นอกจากนี้คุณควรใช้เวลากับการนั่งอยู่หน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ให้น้อยลง และเดินให้มากขึ้น
- ควบคุมความดันโลหิต คนส่วนใหญ่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ ด้วยการกินอาหารที่มีโซเดียมต่ำ อย่างการกินผักและผลไม้ รวมถึงออกกำลังกาย และกินยาลดความดันตามที่คุณหมอสั่ง เพื่อให้ความดันโลหิตเป็นปกติ
- ป้องกันคอเลสเตอรอลสูง และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ระดับคอเลสเตอรอลสูงจะทำให้เกิดไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้ลดการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดแดง โดยเรียกภาวะนี้ว่า โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ที่สามารถนำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไม่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง คุณควรปรึกษาแพทย์
- ผู้ป่วยเบาหวานต้องหมั่นดูแลตนเอง โรคเบาหวานทำให้ ความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานท้ายที่สุดเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหัวใจวาย โดยสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรตรวจสอบระดับน้ำตาลและใช้อินซูลินอย่างระมัดระวัง จะช่วยลดความเสี่ยง สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การกินอาหารและการออกกำลังกายและยาโรคเบาหวาน อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ และสิ่งที่สำคัญคือ ผู้ที่เป็นเบาหวานควรจัดการไม่ให้ระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูง
[embed-health-tool-bmi]