backup og meta

เบียร์ ดื่มแบบพอดี มีประโยชน์สุขภาพมากมาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

    เบียร์ ดื่มแบบพอดี มีประโยชน์สุขภาพมากมาย

    เบียร์ หนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นนักดื่มตัวยงหรือคนที่นานๆ สังสรรค์ ส่วนใหญ่ต่างก็ชอบดื่มเบียร์กันทั้งนั้น ปัจจุบันมีเบียร์ให้เลือกดื่มมากมายหลายรสชาติ หากเราดื่มเบียร์ในปริมาณที่พอดี นอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติให้การสังสรรค์สนุกขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่คุณอาจคาดไม่ถึงอีกมากมายเลยทีเดียว

    ประโยชน์ของ เบียร์

    • ช่วยต้านมะเร็ง

    เบียร์อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่เป็นอันตราย และส่งผลเสียต่อเซลล์ในร่างกายได้ สารฟลาโวนอยด์หลักที่พบในเบียร์ก็คือ Xanthohumol ซึ่งเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่พบในฮอปส์ ส่วนผสมหลักของเบียร์ Xanthohumol ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ ธัญพืชที่ใช้ในการหมักเบียร์ ยังมีโพลีฟีนอล (polyphenols) หรือสารเคมีจากพืช ซึ่งมีสรรพคุณในการต้านมะเร็งเช่นกัน

    • ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

    วิตามินบี 6 ที่อยู่ในเบียร์ ช่วยให้เบียร์สามารถป้องกันการสร้างสารโฮโมซีสทีน (Homocysteine) ซึ่งก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ทั้งยังมีผลในการเจือจางเลือด และสรรพคุณในการต้านการเกิดลิ่มเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน การบริโภคเบียร์อย่างพอเหมาะสามารถลดความเสี่ยงของอาการอักเสบ ที่เป็นสาเหตุภาวะหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) ได้อีกด้วย

    นอกจากนี้ เบียร์ยังอาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีได้ร้อยละ 10-20 ซึ่งช่วยให้ผู้ดื่มปลอดภัยจากภาวะสมองเสื่อม และโรคหัวใจและหลอดเลือด

    • เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

    การศึกษาเผยว่า การบริโภคเบียร์อย่างพอเหมาะ ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก จึงช่วยป้องกันคุณจากภาวะกระดูกหัก และกระดูกพรุน (osteoporosis) ได้ นอกจากนี้เบียร์ยังมีสารซิลิคอน (silicon) ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน ลดอาการบวมอักเสบของข้อได้ด้วย

    • ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

    การขาดโฟลิคส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ได้ ซึ่งเบียร์อุดมไปด้วยกรดโฟลิคและวิตามินบี 12 จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางได้ พร้อมกันนั้นยังช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างเหมาะสม ทำให้ความจำและสมาธิดีขึ้นได้ด้วย

    • ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

    ผู้ที่ดื่มเบียร์เป็นประจำมีความดันโลหิตต่ำกว่า ในทางกลับกัน การดื่มไวน์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ในปริมาณเท่ากัน ไม่ทำให้ผู้ดื่มมีความดันโลหิตต่ำลงได้

    • เบียร์ ช่วยคงความอ่อนวัย

    วิตามินอี จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของผิวพรรณ วิตามินอีช่วยชะลอกระบวนการเสื่อมเนื่องจากวัย และที่น่าประหลาดใจก็คือ เบียร์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลกระทบของวิตามินอีได้ จึงมีส่วนช่วยวิตามินอีในการชะลอวัย

    • ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี

    การดื่มเบียร์อย่างสม่ำเสมอและในปริมาณที่พอเหมาะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยลดความเข้มข้นของน้ำดีได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วน้ำดีได้

    • เบียร์ ช่วยในการย่อยอาหาร

    มีการพิสูจน์แล้วว่าเบียร์มีสรรพคุณในการกระตุ้นการสร้างแกสตริน (gastrin) กรดแกสตริค (gastric acid) โคเลซิสโตคินิน (cholecystokinin) และเอนไซม์แพนครีเอติก (pancreatic enzymes) ซึ่งมีส่วนในกระบวนการย่อยอาหาร การดื่มเบียร์ช่วยให้คุณย่อยอาหารได้ดีขึ้น

    • ช่วยขับปัสสาวะ และลดความเสี่ยงของนิ่วในไต

    เบียร์ช่วยขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี จึงช่วยให้ร่างกายขับสารพิษและของเสียได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง แต่มีโซเดียมในปริมาณน้อย จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต (kidney stones) ได้ด้วย

    สิ่งที่ต้องใส่ใจ

    แม้เบียร์จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อย่างที่บอกข้างต้นแล้วว่า การดื่มเบียร์ต้องดื่มในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากคุณดื่มเบียร์มากเกินไปอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี นอกจากนี้ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดเลย เช่น หญิงตั้งครรภ์ เพราะแอลกอฮฮล์อาจทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสองเดือนแรกของการตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูก สตรีที่ให้นมบุตรก็ไม่ควรดื่มเบียร์หรือแอลกอฮอล์เช่นกัน เพราะแอลกอฮอล์สามารถซึมผ่านน้ำนมได้ อีกทั้งแอลกอฮอล์ยังทำให้น้ำนมลดลง ไม่ได้ช่วยเพิ่มน้ำนมแต่อย่างใด

    การดื่มเบียร์อาจกระตุ้นโรคหอบหืดได้ และผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ก็ไม่ควรดื่ม เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ถึงแม้จะมีหลักฐานว่า เบียร์ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว แอลกอฮอล์ก็อาจเป็นอันตรายได้ แม้เบียร์อาจช่วยเพิ่มไขมันดี แต่ผู้ที่มีไขมันไตรกลีไซอไรด์ในเลือดสูงก็ไม่ควรดื่มเบียร์เช่นกัน

    สำหรับคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ และอยากดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ปริมาณที่ปลอดภัยคือไม่เกิน 14 ยูนิต หรือ 568 มล. ต่อสัปดาห์ ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ชายสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้มากกว่าผู้หญิง ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับผู้หญิง คือราวครึ่งหนึ่งของผู้ชาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา