backup og meta

ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Cholesterol And Triglycerides Test)

ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Cholesterol And Triglycerides Test)

การ ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Cholesterol And Triglycerides Test) เป็นการตรวจเลือดเพื่อวัดค่าไขมันในเลือด ที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้

ข้อมูลพื้นฐาน

การตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ คืออะไร

การตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Cholesterol And Triglycerides Test) เป็นการตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณสารไขมันทั้งหมดในเลือด

คอเลสเตอรอลมาพร้อมกับโปรตีนที่ไหลผ่านกระแสเลือด สารทั้งสองชนิดที่ควบคู่กันนี้เรียกว่า ลิโปโปรตีน การวิเคราะห์ลิโปโปรตีน (ลิปิดโปรไฟล์) เป็นการวัดระดับคอเลสเตอรอลรวม ไขมันเลว ไขมันดี รวมถึงไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด

ร่างกายใช้คอเลสเตอรอล เพื่อช่วยสร้างเซลล์และสร้างฮอร์โมน ปริมาณคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป อาจสะสมอยู่ในหลอดเลือด และกลายเป็นคราบไขมัน (plaque) เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ยิ่งมีคราบไขมันในผนังหลอดเลือดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเท่านั้น

ชนิดของไขมันในเลือด

  • เอชดีแอล (ลิโปโปรตีนความเข้มข้นสูง หรือ HDL) ช่วยขับไขมันจากร่างกาย โดยการจับไขมันไว้ในกระแสเลือด และลำเลียงไปที่ตับเพื่อขับออกจากร่างกายต่อไป บางครั้งเรียกว่า “ไขมันดี’ ระดับเอชดีแอลที่สูงเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจที่ต่ำลง
  • แอลดีแอล (ลิโปโปรตีนความเข้มข้นต่ำ หรือ LDL) จะลำเลียงไขมันส่วนใหญ่และโปรตีนเล็กน้อยไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การมีระดับแอลดีแอลในกระแสเลือดในระดับหนึ่งถือว่าปกติ และส่งผลดีต่อร่างกาย เพราะแอลดีแอลช่วยส่งคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่างๆ ตามที่ร่างกายต้องการ แต่คอเลสเตอรอลประเภทนี้เรียกว่า “ไขมันเลว’ เพราะหากมีมากเกินไป อาจเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจได้
  • วีแอลดีแอล (ลิโปโปรตีนความเข้มข้นต่ำมาก หรือ VLDL) จะมีปริมาณโปรตีนอยู่น้อยมาก จุดประสงค์ของวีแอลดีแอลคือ การกระจายไตรกลีเซอไรด์ที่ผลิตจากตับ ระดับวีแอลดีแอลที่สูงสามารถทำให้เกิดการสะสมของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดใหญ่ และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันประเภทหนึ่งที่ร่างกายใช้เพื่อสะสมพลังงาน และให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อ เป็นไขมันที่พบในเลือดเพียงจำนวนเล็กน้อย การมีระดับไตรกลีไซอไรด์สูงพร้อมกับไขมันแอลดีแอลสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าการมีระดับไขมันแอลดีแอลสูงเพียงอย่างเดียว

ความจำเป็นในการ ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

คุณควรเข้ารับการตรวจลิปิดโปรไฟล์ทุกๆ 5 ปี ร่วมกับการตรวจสุขภาพอื่นๆ การตรวจนี้นอกจากจะเป็นการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์แล้ว ยังใช้วัดระดับไขมันเลว และไขมันดีได้ด้วย

หากคุณอยู่ระหว่างการรักษาเพื่อลดระดับไตรกลีเซอไรด์ แพทย์จะให้เข้ารับการตรวจชนิดนี้บ่อยขึ้น เพื่อให้สามารถติดตามผลการรักษาได้ว่าได้ผลดีเพียงใด หากคุณเป็นโรคเบาหวาน การจับตาดูระดับไตรกลีเซอไรด์เป็นประจำถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากไตรกลีเซอไรด์ในเลือดจะสูงขึ้น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสม

แพทย์แนะนำให้มีการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเด็ก หากเด็กมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงเด็กที่มีประวัติทางครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคอ้วน เด็กที่มีความเสี่ยงสูงควรรับการตรวจครั้งแรกในช่วงอายุระหว่าง 2-10 ปี แต่หากอายุต่ำกว่า 2 ปียังไม่ควรเข้ารับการตรวจ

ข้อควรรู้ก่อนตรวจ

ข้อควรรู้ก่อนเข้ารับการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

หากคุณเป็นโรคเบาหวานและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไตรกลีเซอไรด์ก็อาจสูงด้วยเช่นกัน

ระดับไตรกลีเซอไรด์สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามอาหารที่รับประทาน ระดับไตรกลีเซอไรด์ในช่วงหลังรับประทานอาหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง อาจสูงกว่าช่วงก่อนรับประทานอาหารได้ถึง 5-10 เท่า และการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของระดับไตรกลีเซอไรด์ เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารในแต่ละวันที่ต่างกัน ก็ไม่ได้บ่งชี้ถึงความผิดปกติ

ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัสโปรตีเอสสำหรับการติดเชื้อเอชไอวี ยากลุ่มเบต้าบลอกเกอร์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้

ผู้เชี่ยวชาญให้ความสนใจในการตรวจวัดระดับไตรกลีเซอไรด์ ในผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหาร หรืออยู่ในระหว่างอดอาหารมากขึ้น สาเหตุของการตรวจวัดนี้คือ  กลุ่มตัวอย่างที่อดอาหารอาจเป็นตัวแทนของระดับการไหลเวียนของไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติ เนื่องจากส่วนใหญ่ระดับไขมันในเลือดจะสะท้อนถึงระดับของไตรกลีเซอไรด์หลังการกินอาหาร แทนที่จะเป็นระดับของไตรกลีเซอไรด์ขณะที่ท้องว่าง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการทำความเข้าใจระดับไตรกลีเซอไรด์ในขณะท้องว่าง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงที่แน่ชัด ดังนั้น ในปัจจุบันจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการอดอาหารก่อนการตรวจวัดระดับไขมัน

ขั้นตอนการตรวจ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการ ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

การเตรียมตัวขึ้นอยู่กับประเภทของการตรวจ แพทย์อาจสั่งให้คุณอดอาหารหรือไม่ก็ได้

  • หากแพทย์แจ้งให้คุณอดอาหารก่อนการตรวจ คุณควรงดอาหารและเครื่องดื่ม ยกเว้นน้ำเปล่าเป็นเวลา 9-12 ชั่วโมงก่อนการเจาะเลือด โดยปกติแล้ว คุณสามารถรับประทานยาพร้อมน้ำเปล่าได้ในตอนเช้าของวันตรวจ การงดอาหารไม่จำเป็นเสมอไป แต่แพทย์มักแนะนำให้ทำ
  • ไม่ควรทานอาหารไขมันสูงในคืนก่อนการตรวจ
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือออกกำลังกายหักโหมก่อนเข้ารับการตรวจ

ยาหลายชนิดอาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจได้ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงยาที่คุณกำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่หาซื้อมารับประทานเอง ยาสมุนไพร อาหารเสริม ยาทางเลือกอื่นๆ เป็นต้น

ควรแจ้งแพทย์ หากคุณเคยรับการตรวจอื่นๆ ภายในช่วง 7 วันก่อนเข้ารับการตรวจวัดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เช่น การตรวจไทรอยด์ การสแกนกระดูกโดยใช้คลื่นกัมมันตภาพรังสี

โปรดปรึกษาแพทย์ หากคุณกังวล หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการตรวจ ความเสี่ยง และวิธีการตรวจ รวมถึงการทำความเข้าใจผลการตรวจ

ขั้นตอนการ ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่ทำการเจาะเลือดจะดำเนินการต่อไปนี้

  • รัดยางรอบต้นแขน เพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือด หลอดเลือดด้านล่างยางรัดจะขยายตัวขึ้น ทำให้เจาะหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น
  • ทำความสำอาดบริเวณที่เจาะเลือดด้วยแอลกอฮอล์
  • เจาะเข็มเข้าไปในหลอดเลือด อาจจำเป็นต้องเจาะมากกว่าหนึ่งครั้ง
  • ติดหลอดบรรจุเลือดเข้ากับเข็มเจาะเลือด
  • นำยางรัดออกจากแขน เมื่อเก็บเลือดเพียงพอแล้ว
  • วางผ้ากอซหรือก้อนสำลีไว้บนบริเวณที่เจาะเลือดในขณะที่ดึงเข็มออก
  • กดบริเวณที่เจาะเลือดแล้วปิดด้วยผ้าพันแผล

หลังการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

การรัดยางที่ต้นแขนอาจแน่นมาก จนคุณอาจรู้สึกเจ็บแขนได้บ้าง แต่คุณอาจไม่รู้สึกใดๆ จากเข็มเจาะ หรืออาจมีเพียงความรู้สึกเหมือนมดกัดหรือแมลงต่อยเท่านั้น

คุณสามารถเอาพลาสเตอร์หรือผ้าปิดแผลออกหลังการเจาะประมาณ 20-30 นาที แพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อให้คุณเข้าฟังผลการตรวจต่อไป โดยปกติคือ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับการตรวจ แพทย์จะอธิบายผลการตรวจ และคุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับ การตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจข้อควรปฏิบัติได้ดีขึ้น

ผลการตรวจ

ผลการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

ค่าปกติที่ระบุไว้ ณ ที่นี้ ซึ่งเรียกว่า ค่าอ้างอิง (reference range) เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ค่าเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามห้องปฏิบัติการ และห้องปฏิบัติการของคุณอาจมีค่าปกติที่แตกต่างออกไป รายงานจากห้องปฏิบัติการควรมีช่วงค่าที่ห้องปฏิบัติการของคุณใช้

นอกจากนี้ แพทย์จะประเมินผลการตรวจของคุณโดยยึดตามสุขภาพของคุณและปัจจัยอื่นๆนั่นหมายความว่า ค่าที่อยู่นอกเหนือจากค่าปกติที่ระบุไว้ ณ ที่นี้ อาจยังคงเป็นค่าปกติสำหรับคุณและห้องปฏิบัติการของคุณ

ค่าคอเลสเตอรอลรวม

ปกติ : น้อยกว่า 200 มก./ดล. (mg/dL)

สูงคาบเส้นหรือเกือบสูง : 200-239 มก./ดล. (mg/dL)

สูง : ตั้งแต่ 240 มก./ดล. (mg/dL) ขึ้นไป

ค่าไตรกลีเซอไรด์

ปกติ : น้อยกว่า 150 มก./ดล. (mg/dL)

สูงคาบเส้นหรือเกือบสูง : 150-199 มก./ดล. (mg/dL)

สูง : 200-499 มก./ดล. (mg/dL)

สูงมาก : ตั้งแต่ 500 มก./ดล. (mg/dL) ขึ้นไป

หากมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง จะเรียกว่าภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง (Hypertriglyceridemia) ซึ่งเมื่อไตรกลีเซอไรด์สูง คอเลสเตอรอลก็อาจสูงด้วย ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)

ค่าปกติสำหรับการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ อาจมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาล โปรดปรึกษาแพทย์หากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับผลการทดสอบอย่างละเอียด

หากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์  โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจคำแนะนำของแพทย์ได้ดีขึ้น

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cholesterol and Triglycerides Tests. https://myhealth.alberta.ca/Health/pages/conditions.aspx?hwid=hw207814. Accessed June 12, 2016.

Cholesterol and Triglycerides Tests. https://wa.kaiserpermanente.org/kbase/topic.jhtml?docId=hw207814. Accessed June 12, 2016.

Triglycerides Test. https://medlineplus.gov/lab-tests/triglycerides-test/. Accessed June 12, 2016.

Cholesterol and lipid tests. https://www.healthdirect.gov.au/cholesterol-and-lipid-tests. Accessed June 12, 2016.

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/03/2021

เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สแตติน (Statins) ยาลดไขมัน กับผลข้างเคียงที่คุณควรรู้

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการ ออกกำลังกายลดคอเลสเตอรอล


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 15/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา