backup og meta

ความผิดปกติในการมองเห็นสี (Poor Vision Color)

ความผิดปกติในการมองเห็นสี (Poor Vision Color)

ความผิดปกติในการมองเห็นสี (Poor Vision Color) คือการที่ความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างของสีนั้นลดลง หรือที่คนเรียกกันว่าตาบอดสีนั่นเอง

คำจำกัดความ

ความผิดปกติในการมองเห็นสี คืออะไร

ความผิดปกติในการมองเห็นสี (Poor Vision Color) คือการที่ความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างของสีนั้นลดลง แม้คนส่วนใหญ่อาจจะเรียกภาวะนี้ว่า “โรคตาบอดสี’ (colorblind) แต่โรคตาบอดสีที่แท้จริงนั้นคือการมองไม่เห็นสีอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นกรณีที่หายาก

ความผิดปกติในการมองเห็นสี พบได้บ่อยแค่ไหน

ความผิดปกติในการมองเห็นสีมักจะเป็นโรคแต่กำเนิด ผู้ชายมักมีโอกาสเกิดมาเป็นโรคนี้มากกว่า คนส่วนใหญ่ที่มีความผิดปกติในการมองเห็นสี จะไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสีแดงและสีเขียวบางเฉดได้ หรือในกรณีที่พบได้น้อยลงมาคือ ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสีน้ำเงินและสีเหลืองได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของความผิดปกติในการมองเห็นสี

คุณอาจมีความผิดปกติในการมองเห็นสีโดยที่คุณไม่รู้ตัว บางคนอาจทราบว่า ตนหรือบุตรของตนมีภาวะนี้ก็ต่อเมื่อเกิดความผิดปกติหรือความสับสนในการมองเห็น เช่น เมื่อมีปัญหาในการแยกแยะความแตกต่างของสีไฟจราจร หรือบอกสีของอุปกรณ์การเรียนรู้ไม่ถูกต้อง

ผู้ที่มีความผิดปกติในการมองเห็นสีอาจไม่สามารถบอกความแตกต่างของสิ่งต่อไปนี้ได้

  • ความแตกต่างระหว่างเฉดสีแดงและเขียว
  • ความแตกต่างระหว่างเฉดสีน้ำเงินและเหลือง
  • สีใดๆ ก็ตาม

ความผิดปกติในการมองเห็นสีที่พบได้มากคือ ภาวะที่ไม่สามารถมองเห็นสีแดงและสีเขียวได้ บ่อยครั้งที่ผู้ที่บกพร่องในการมองเห็นสีแดง-เขียว หรือเหลือง-น้ำเงิน ไม่ได้ขาดการมองเห็นทั้งสองสีไปอย่างสมบูรณ์ ระดับของการมองเห็นสีที่บกพร่องนั้น มีทั้งระดับเบา ปานกลาง หรือรุนแรง

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณสงสัยว่าคุณมีปัญหาในการแยกแยะสีบางสี หรือการมองเห็นสีของคุณเปลี่ยนแปลงไป ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เด็กๆ ควรได้รับการตรวจดวงตาที่ครอบคลุม รวมไปถึงการตรวจการมองเห็นสี ก่อนที่จะเข้าโรงเรียน

ยังไม่มีวิธีการรักษาความผิดปกติในการมองเห็นสีแต่กำเนิด แต่หากสาเหตุมาจากอาการป่วยหรือโรคตา การรักษาอาจจะสามารถพัฒนาการมองเห็นสีได้

สาเหตุ

สาเหตุของความผิดปกติในการมองเห็นสี

การมองเห็นสีผ่านสเปกตรัมแสงนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน โดยกระบวนการนี้จะที่เริ่มต้นที่ดวงตาของคุณ ในการแยกแยะสีขั้นต้น อย่างสีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว

แสงเข้าสู่ดวงตาของคุณผ่านทางกระจกตา (Cornea) ผ่านน้ำวุ้นตา (vitreous body) ซึ่งมีลักษณะเหลวใสโปรงแสงคล้ายเยลลี่หรือไข่ขาว ก่อนจะเข้าสู่เลนส์แก้วตา และผ่านไปยังเซลล์ที่ไวต่อสีซึ่งคือเซลล์รูปกรวย (cones) ที่อยู่ด้านหลังของดวงตาด้านในจอรับภาพ (retina) จากนั้นสารเคมีในเซลล์รูปกรวยจะแยกแยะสี แล้วส่งข้อมูลไปยังเส้นประสาทตาสู่สมอง

หากตาของคุณปกติ คุณจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของสีได้ แต่หากเซลล์รูปกรวยของคุณขาดสารเคมีที่ไวต่อแสงหนึ่งชนิดหรือมากกว่านั้น คุณก็อาจจะสามารถมองเห็นได้แค่สีขั้นต้นเพียงสองสีเท่านั้น

สาเหตุของความผิดปกติในการมองเห็นสีมีมากมาย ดังนี้

  • ความบกพร่องแต่กำเนิด (Inherited disorder) โดยความผิดปกติในการมองเห็นสีแต่กำเนิดนั้น มักพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คุณสามารถมีความบกพร่องในการมองเห็นสีได้ทั้งระดับเบา ระดับกลาง หรือระดับรุนแรง ความผิดปกติในการมองเห็นสีแต่กำเนิด มักจะส่งผลกับดวงตาทั้งสองข้าง และระดับความรุนแรงจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิต
  • โรคบางโรค เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell anemia) โรคเบาหวาน โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) โรคอัลไซเมอร์ โรคต้อหิน โรคพาร์กินสัน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยโรคดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และความผิดปกติในการมองเห็นสีจากโรคนี้อาจดีขึ้นได้ เมื่อคุณรักษาโรคที่เป็นสาเหตุได้
  • ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาความดันโลหิตสูง ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยารักษาการติดเชื้อ ยารักษาความผิดปกติของระบบประสาท ยารักษาปัญหาทางจิตใจ
  • อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ก็อาจทำให้คุณมีปัญหาสุขภาพตา อย่างความผิดปกติในการมองเห็นสีได้
  • สารเคมีบางชนิด หากคุณสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์ (carbon disulfide) ก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นสีได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติในการมองเห็นสี

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยความผิดปกติในการมองเห็นสี

หากคุณมีปัญหาในการมองเห็นสี จักษุแพทย์อาจให้คุณเข้ารับการตรวจดวงตา และมองภาพที่ออกแบบมาพิเศษ คือเป็นจุดสีหลายสีที่มีตัวเลขหรือรูปร่างซ่อนอยู่ในนั้น สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติในการมองเห็นสีจะมองรูปร่างหรือตัวเลขที่ซ่อนอยู่ในจุดสีได้ยาก หรือมองไม่เห็นเลย

นอกจากการตรวจความผิดปกติในการมองเห็นสีที่ดำเนินการโดยจักษุแพทย์แล้ว ก็อาจมีการตรวจการมองเห็นสีอย่างรวดเร็วโดยอาศัยคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ถูกต้องเท่ากับการตรวจที่มีมาตรฐานซึ่งดำเนินการโดยจักษุแพทย์

การรักษาความผิดปกติในการมองเห็นสี

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาความผิดปกติในการมองเห็นสีที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นตามวัย เป็นต้น แต่หากเป็นความผิดปกติในการมองเห็นสีที่เกิดจากโรคหรือยาบางชนิด ก็อาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการควบคุมหรือรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ หรือหยุดใช้ยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็นสี

อีกหนึ่งวิธีรักษาความผิดปกติในการมองเห็นสีที่นิยมใช้ก็คือ การสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ที่มีฟิลเตอร์สี ซึ่งอาจช่วยให้คุณรับรู้ถึงความแตกต่างของสีแต่ละสีได้ดีขึ้น แต่อุปกรณ์เหล่านี้ก็ไม่สามารถช่วยพัฒนาความสามารถในการมองเห็นสีให้กับดวงตาของคุณได้ หากคุณไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ก็จะมองเห็นสีผิดเพี้ยนไปดังเดิม

โรคของจอตา (retinal disorders) ที่หายากบางชนิดซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการมองเห็นสีอาจแก้ไขได้ด้วยเทคนิคการทดแทนยีน (gene replacement) แต่วิธีการรักษาความผิดปกติในการมองเห็นสีนี้ก็ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับความผิดปกติในการมองเห็นสี

ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือความผิดปกติในการมองเห็นสีของคุณได้

  • จดจำสีของวัตถุ คุณควรเรียนรู้สีที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น สีของสัญญาณไฟจราจร และควรจดจำลำดับของสีแต่ละสีให้ได้
  • ทำเครื่องหมายสีและจัดประเภทของสิ่งของเครื่องใช้ สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่คุณต้องการจับคู่สีให้เข้ากัน เช่น เสื้อผ้า คุณอาจให้คนที่มองเห็นสีได้ปกติมาช่วยแบ่งประเภท จับคู่สี หรือทำเครื่องหมายบนสิ่งของเหล่านั้นให้ และจัดเตรียมสิ่งของแต่ละอย่างที่อยากให้เข้าคู่กันไว้ด้วยกัน จะได้หยิบใช้ได้สะดวก

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poor color vision. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/poor-color-vision/symptoms-causes/syc-20354988. Accessed December 6, 2017.

Poor color vision. http://pharmacypedia.org/diseases-and-conditions/poor-color-vision/. Accessed December 6, 2017.

Poor Color Vision. https://www.findatopdoc.com/Medical-Library/Diseases-and-Conditions/Poor-Color-Vision. Accessed December 6, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตาบอดฉับพลัน สาเหตุที่ อยู่ๆ ก็ทำให้ มองไม่เห็น

สายตาเอียง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/04/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา