นวด เป็นทางแพทย์ทางเลือกที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ รู้สึกผ่อนคลาย ส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การนวดอาจไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับการนวด
[embed-health-tool-bmr]
ประเภทของการนวด
การนวดนั้นแบ่งออกได้หลายประเภท วัตถุประสงค์ของการนวดมีตั้งแต่นวดเพื่อผ่อนคลาย นวดเพื่อแก้อาการ นวดรักษาโรค และนวดเพื่อบำรุงผิวพรรณ ดีต่อสุขภาพความงาม เช่น
- นวดแผนไทยหรือนวดแผนโบราณ
- นวดประคบสมุนไพร
- นวดน้ำมันอโรมา
- นวดรีดเส้น
- นวดเท้า
- นวดแก้อาการต่าง ๆ เช่น นวดกดจุด และนวดบริเวณคอบ่าไหล่เพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม
- นวดเฉพาะกลุ่ม เช่น นวดแม่ตั้งครรภ์
- นวดโดยใช้อุปกรณ์ เช่น นวดหินร้อน
หากแบ่งออกตามสรรพคุณของศาสตร์การนวด แบ่งได้ 3 อย่าง ได้แก่
- นวดเพื่อสุขภาพ
- นวดเพื่อการบำบัดรักษา
- นวดเพื่อการฟื้นฟูสรรถภาพ
ข้อดีของการนวด
การนวดนั้นมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือแม้แต่แก้อาการเจ็บป่วยบางอย่างให้บรรเทาลง โดยประโยชน์ของการนวด เช่น
- ส่งเสริมสุขภาพ : กระตุ้นระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้นอนหลับได้สบาย
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือด : อาจเพิ่มการไหลเวียนกลับของหลอดเลือดดำ และเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงเข้ามาแทนที่มากขึ้น จากการคลายตัวของกล้ามเนื้อ พังผืด เอ็นยึด และกระดูก
- ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว : ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อยืดขึ้น คลายความเกร็งตึงของกล้ามเนื้อ
- บำบัดรักษาอาการ : ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลังและคอ
- ช่วยเรื่องผิวพรรณ : การนวดทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังได้มากขึ้น
- ดีต่อจิตใจ : ลดระดับความวิตกกังวลและความไม่สบายใจ อาจช่วยบรรเทาโรคเครียดและโรคนอนไม่หลับได้
การนวดโดยใช้น้ำมัน ครีม และลูกประคบสมุนไพร
เมื่อใช้น้ำมัน ครีม และลูกประคบสมุนไพร จะช่วยให้การนวดนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เช่น
- การนวดด้วยครีม : ช่วยให้นวดไล้ไปตามลำตัว กล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้นและลื่นขึ้น
- การนวดด้วยน้ำมันหรือน้ำมันหอมระเหย : สุคนธบำบัดหรือการใช้น้ำมันหอมระเหยจะช่วยในการบำบัดรักษาด้วยการสูดกลิ่นหรือซึมผ่านทางผิวหนัง เพราะน้ำมันแต่ละชนิดมีสรรพคุณต่างกัน เช่น น้ำมันเซจบรรเทาอาการปวด และน้ำมันกุหลาบช่วยลดความตึงเครียดได้
- การนวดประคบสมุนไพร : นำลูกประคบสมุนไพรสดหรือสมุนไพรแห้ง นึ่งให้ร้อน และนำมาประคบ มักจะทำหลังจากการนวดให้ผลการรักษาดีขึ้นจากตัวยาสมุนไพรและความร้อน ข้อดี คือ บรรเทาอาการบวม อักเสบของกล้ามเนื้อข้อต่อหลัง 24 – 48 ชั่วโมง ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อ พังผืด ยืดตัวออก เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตได้ดี
ข้อควรระวังของการนวด
แม้ว่าการนวดจะมีข้อดีและประโยชน์มากมาย แต่ก็มีกลุ่มที่ไม่ควรนวดและข้อควรระวัง ดังนี้
- ผู้ที่มีไข้ไม่ควรนวด โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
- ผู้ที่เจ็บป่วย ไม่สบาย มีการอักเสบจากการติดเชื้อ
- มีโรคติดเชื้อเฉียบพลัน โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ
- โรคบางชนิดต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการนวด เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ โรคมะเร็ง และโรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง
- ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ เช่น กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง และมีแผลหลังผ่าตัดที่ยังไม่หายสนิท
- กลุ่มที่ควรระมัดระวังในการนวดเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ทำศัลยกรรมตกแต่ง
- ผู้ที่มีประจำเดือนไม่ควรนวด อาจเกิดภาวะไข้ขึ้นหลังการนวดได้
- หญิงตั้งครรภ์สามารถนวดได้ ยกเว้นช่วง 3 เดือนแรก และ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด ส่วนช่ว อายุครรภ์ 4-6 เดือน สามารถนวดได้ตามตำแหน่งกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด ควรนวดโดยผู้เชี่ยวชาญการนวดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์แผนไทย
การนวดไม่ควรนวดทุกวัน อาจทำให้กล้ามเนื้อระบมได้ เว้นแต่เป็นโรคที่แพทย์แผนไทยแนะนำให้นวดติดต่อกัน เช่น อาการคอตกหมอน หรืออาการยอกหลัง