backup og meta

ร่างกายปฏิเสธการเจาะ อีกเรื่องที่ควรรู้ก่อนเจาะร่างกาย

ร่างกายปฏิเสธการเจาะ อีกเรื่องที่ควรรู้ก่อนเจาะร่างกาย

สำหรับบางคนแล้ว การเจาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถือเป็นเรื่องของความสวยความงาม ทั้งยังถือว่าเป็นความชอบส่วนบุคคล แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเจาะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เหมือนกันหมด เพราะบางคนเมื่อเจาะแล้ว ร่างกายปฏิเสธการเจาะ ขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ ซึ่งทาง Hello คุณหมอ ได้นำเรื่องนี้มาฝากกัน

ร่างกายปฏิเสธการเจาะ คืออะไร

เมื่อเจาะร่างกายมาใหม่ ๆ ร่างกายของคุณจะพยายามรับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่บางครั้งร่างกายอาจจะปฏิเสธและพยายามดันสิ่งแปลกปลอมออก นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ร่างกายปฏิเสธการเจาะ” ในช่วงแรก เมื่อร่างกายปฏิเสธการเจาะ ผิวหนังของคุณจะพยายามดันสิ่งที่เจาะลงไปบนร่างกายออกไปจากผิวหนังของคุณ

ภาวะที่ร่างกายปฏิเสธการเจาะนั้นไม่ได้พบได้บ่อยเหมือนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ คีลอยด์ ผิวหนังอักเสบ โดยปกติแล้ว หากคุณเจาะร่างกายบริเวณเหล่านี้ อาจจะเกิดปฏิกิริยาร่างกายปฏิเสธการเจาะได้

  • คิ้ว
  • สะดือ
  • เจาะเซอร์เฟส (Surface Piercing) ซึ่งเป็นการเจาะผ่านผิวหนัง
  • ต้นคอ
  • สะโพก

อาการเมื่อร่างกายปฏิเสธการเจาะ

ร่างกายของเรานั้นมีหน้าที่ในการป้องกันตัวเองจากอันตรายต่าง ๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เมื่อคุณทำร้ายตัวเอง ระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มทำงานเพื่อรักษาร่างกายให้หายดีโดยเร็วที่สุด ซึ่งอาการของร่างกายที่ปฏิเสธการเจาะ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ร่างกายกำลังปกป้องตัวเองจากสิ่งที่เห็นว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม นั่นก็คือ เครื่องประดับ นั่นเอง เมื่อร่างกายปฏิเสธการเจาะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ

  • เครื่องประดับจะเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิมอย่างเห็นได้ชัด
  • ปริมาณเนื้อเยื่อตรงจุดที่ถูกเจาะจะน้อยลง ซึ่งความจริงแล้วควรมีเนื้อเยื่อระหว่างรูอย่างน้อย 1 ใน 4 นิ้ว
  • รูที่เจาะเครื่องประดับลงไปจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เครื่องประดับเริ่มห้อยหรือยานลงมา
  • ผิวหนังที่ถูกเจาะจะมีลักษณะ
    • ผิวเป็นขุย
    • ผิวลอก
    • แดงหรืออักเสบ
    • ผิวหนังบริเวณนั้นดูแข็ง หรือดูยากผิดปกติ
    • ผิวหนังมีลักษณะเกือบใส ทำให้คุณสามารถมองเห็นเครื่องประดับผ่านผิวหนังได้

ร่างกายปฏิเสธการเจาะมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกและประมาณ 1 เดือน หลังจากการเจาะใหม่ แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี หากคุณเจาะร่างกายด้วยวิธีแบบเก่า อย่าง การใช้มือในการเจาะ หรือเจาะด้วยวิธีแปลก ๆ นั่นอาจทำให้บริเวณที่เจาะเกิดการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มทำงานหนักเกินไป จนคุณอาจเห็นสัญญาณของการ ปฏิเสธการเจาะ ได้อย่างทันที

สาเหตุที่ทำให้ร่างกายปฏิเสธการเจาะ

ผิวหนังของคนเรานั้นเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และเป็นส่วนที่สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ภายนอกมากที่สุด ผิวหนังทำหน้าที่ในการกักของเหลวที่อยู่ในร่างกายทั้งหมด และป้องกันจุลินทรีย์อันตรายที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อผิวหนังได้รับความบาดเจ็บ มันจะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนในการรักษา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการอักเสบและจบลงด้วยการสร้างเนื้อเยื่อที่อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้

เมื่อ ร่างกายปฏิเสธการเจาะ หากขั้นตอนการสร้างเนื้อเยื่อง่ายกว่าการที่ร่างกายจะต้องดันเครื่องประดับออกจากผิวหนัง ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นรอบ ๆ เครื่องประดับ แต่ในกรณีที่เครื่องประดับถูกเจาะผ่านผิวหนัง ร่างกายมักจะทำปฏิกิริยาในการดันเครื่องประดับออกจากร่างกาย แทนที่จะปิดบริเวณที่ถูกเจาะด้วยเนื้อเยื่อที่อาจทำให้เกิดแผลเป็น

ส่วนหนึ่งของการรักษาบาดแผลนั้นเกี่ยวข้องกับการหดตัวของผิวหนัง นั่นหมายความว่า เมื่อผิวหนังพยายามกลับมาประสานตัวกัน จะทำให้รูบริเวณที่มีการเจาะกลับมาปิดสนิทเมื่อมีการถอดเครื่องประดับออก ความจริงแล้วไม่มีสาเหตุแน่ชัดที่ระบุว่า ทำไมร่างกายถึง ปฏิเสธการเจาะ แต่ภาวะนี้อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ

  • พันธุกรรม ซึ่งผิวของบางคนนั้นจะรักษาตัวไม่เหมือนกับผิวของคนอื่น
  • การปรับสภาพผิว คนที่มีผิวเรียบเนียนมักจะมีแนวโน้มที่ร่างกาย ปฏิเสธการเจาะ มากกว่า
  • ความตึงของผิวหนัง การเจาะเข้าไปในผิวหนังที่บริเวณรอบ ๆ มีความตึง อย่าง สะดือ หรือหน้าอก จะทำให้เกิดแรงกดมากขึ้นในการเจาะ เพื่อจะได้ยึดผิวหนังเข้าด้วยกัน
  • ขนาดและรูปร่างของเครื่องประดับ เครื่องประดับที่ไม่เหมาะสมมักเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกาย ปฏิเสธการเจาะ ทั้งร่างกายยังพยายามที่จะผลักดันให้เครื่องประดับนั้นออกจากผิว จนเกิดการย้ายตำแหน่งของเครื่องประดับที่เห็นได้อย่างชัดเจน
  • วัสดุของเครื่องประดับ วัสดุบางอย่าง เช่น ไทเทเนียม อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวบอบบาง และสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ หรือร่างการปฏิเสธการเจาะ ซึ่งช่างเจาะสามารถแนะนำเครื่องประดับที่เหมาะกับคุณ รวมถึงตำแหน่งในการเจาะที่เหมาะกับคุณได้
  • การเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก การตั้งครรภ์ และโรคอ้วน สามารถทำให้ผิวหนังยืดออก ส่งผลให้เกิดแรงกดขึ้นในระหว่างที่เจาะ
  • ความเครียดทางร่างกาย หรืออารมณ์ ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการรักษาและบำบัด ซึ่งความเครียดที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อกระบวนการรักษาและบำบัดของผิวหนังได้

เมื่อ ร่างกายปฏิเสธการเจาะ ควรจัดการอย่างไร

เมื่อร่างกาย ปฏิเสธการเจาะ อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิด แต่ภาวะนี้ก็ไม่มีอันตรายใด ๆ นอกจากการทำให้เกิดแผลเป็น ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง สิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังดันเครื่องประดับออกจากร่างกาย หากเครื่องประดับแตกหักระหว่างที่ยังอยู่ในผิวหนังของคุณ อาจทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหายมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกเจาะจะเกิดแผลเป็นมากขึ้น นอกจากนั้น เนื้อเยื่อที่เกิดแผลเป็นแล้วจะทำให้การเจาะซ้ำทำได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้น หากร่างกาย ปฏิเสธการเจาะ ควรทำตามขั้นตอน ดังนี้

  • ถอดเครื่องประดับออก หากคุณเห็นว่าเครื่องประดับกำลังเปลี่ยนตำแหน่งอย่างชัดเจน
  • ลองหาเครื่องประดับชิ้นใหม่ที่มีขนาด รูปร่าง หรือวัสดุอื่น มาใส่แทนเครื่องประดับอันเก่า
  • พูดคุยกับช่างเจาะที่ชำนาญในการเจาะ เพื่อขอคำแนะนำ
  • เลือกวัสดุของเครื่องประดับที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น พลาสติก
  • หากสังเกตเห็นว่าเครื่องประดับกำลังจะถูกผิวหนังกลืนหายไป ให้ลองใส่เครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
  • รอประมาณ 1 ปีแล้วค่อยเจาะใหม่
  • ทำน้ำมันที่มีส่วนผสมของวิตามินอีบริเวณที่เจาะ เพื่อลดรอยแผลเป็น

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Piercing Rejection?. https://www.healthline.com/health/piercing-rejection. Accessed February 03, 2021

What causes a piercing rejection to occur?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/321770. Accessed February 03, 2021

Complications of Body Piercing. https://www.aafp.org/afp/2005/1115/p2029.html. Accessed February 03, 2021

Wound Physiology. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK518964/. Accessed February 03, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/02/2021

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลเป็นคีลอยด์ที่หู สิ่งไม่ต้องการที่มาพร้อมกับการเจาะหู

เจาะตามร่างกาย ความสวย เท่ ที่มาพร้อมความเสี่ยง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 10/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา