สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคนี้อยู่ คุณอาจมี อาการอ่อนเพลียจากการรักษามะเร็ง ที่เกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างเข้ารับการรักษาและหลังรักษา ซึ่งความรู้สึกเหนื่อยล้านี้มักไม่ดีขึ้นแม้คุณได้พักหรือนอนหลับแล้วก็ตาม อาการนี้เรียกว่า อาการอ่อนเพลียจากโรคมะเร็ง และส่งผลเสียต่ออารมณ์ ความสัมพันธ์และกิจวัตรประจำวัน Hello คุณหมอ ขอนำเสนอวิธีที่จะมาช่วยในการควบคุมอาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้น และปรับสภาพความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้นมาฝากกันค่ะ
6 วิธีรับมือ อาการอ่อนเพลียจากการรักษามะเร็ง
1. พักผ่อนให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป
ควรจัดตารางเวลาเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เช่น คุณอาจพักสายตาช่วงสั้น ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง แทนการพักนาน ๆ ในระหว่างวัน และต้องพยายามนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง แต่ระวังอย่านอนมากไป เพราะจะทำให้ระดับพลังงานของร่างกายลดลงได้
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เวลาที่คุณรู้สึกเหนื่อยตลอดทั้งวัน การจะให้ตื่นตัวอยู่เสมออาจฟังดูยาก แต่งานวิจัยเผยว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มพลังงาน และบรรเทาอาการอ่อนเพลีย โดยคุณสามารถเริ่มออกกำลังกายได้ ด้วยเทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้
- เริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ ที่เหมาะกับระดับของคุณ เช่น การเดิน การฝึกโยคะ การว่ายน้ำ
- เพิ่มระดับหรือความยากตามต้องการ
- ฟังร่างกายตนเองให้ดี อย่าหักโหมเกินไป แต่ควรทำอย่างต่อเนื่อง
- จดบันทึกความก้าวหน้าและปรึกษาผู้ดูแลสุขภาพ เพื่อคำแนะนำเพิ่มเติม
3. ปรับพฤติกรรมการนอน
นิสัยการนอนหลับที่ดี เป็นวิธีที่ทำให้สภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรง และเทคนิคต่อไปนี้จะช่วยทำให้การนอนของคุณดีขึ้น
- ช่วงเช้า ตื่นในเวลาเดิมทุกวัน ไม่ว่าคุณจะนอนหลับได้กี่ชั่วโมงก็ตาม
- ช่วงกลางวัน งีบช่วงสั้น ๆ ระหว่างเวลาเที่ยงวันและบ่ายสามโมง จะช่วยเพิ่มระดับพลังงานให้คุณ ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในช่วงบ่ายและเย็น
- ช่วงเย็น ผ่อนคลายจิตใจโดยการทำกิจกรรมที่คุณเพลิดเพลิน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง อาบน้ำอุ่น นั่งสมาธิ เพื่อช่วยให้คุณหลับได้ง่ายขึ้น
- ช่วงเวลานอน พยายามเข้านอนเวลาเดียวกันทุกวัน หากคุณนอนไม่หลับภายใน 20-30 นาทีหลังเข้านอน ให้ลุกจากเตียง หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย จนกว่าคุณจะรู้สึกง่วงแล้วกลับไปนอน
ควรปรึกษาแพทย์ หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับเพื่อรับยาช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้มาก ๆ รับประทานเท่าที่สามารถรับประทานได้ ควรได้รับโปรตีนและแคลอรี่ที่เพียงพอเพื่อช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย
5. อดทน
ร่างกายใช้เวลาในการฟื้นฟู คุณไม่ควรคาดหวังการเปลี่ยนแปลงเพียงข้ามคืน วิธีการเหล่านี้ให้ผลที่แตกต่างในแต่ละคน คุณไม่ควรท้อแท้หากคุณยังมีอาการอ่อนเพลีย อดทน และฟังร่างกายของตนเอง และพัฒนาการจะเกิดขึ้นเป็นลำดับผ่านการฝึกฝน
6. ปรึกษาแพทย์
ติดต่อแพทย์หากคุณรู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะลุกจากเตียงนานเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากคุณรู้สึกเวียนศีรษะ มึนงง มีปัญหาทางการหายใจ หรือการตื่น ทรงตัวไม่อยู่หรือหกล้ม หรืออาการอ่อนเพลีย ดูจะรุนแรงขึ้น
อาการอ่อนเพลีย เป็นอาการทั่วไปของโรคมะเร็งและสามารถจัดการได้ ความอ่อนเพลียเรื้อรังส่งผลกระทบต่อชีวิต ทำให้อาการมะเร็งรุนแรงขึ้น รวมถึงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ คุณอาจต้องลองทำเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ ดังนั้น ใ้ห้เวลากับตัวเองและอดทน
[embed-health-tool-bmi]