backup og meta

โรคซึมเศร้า อาการ เป็นอย่างไร และวิธีรับมือโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า อาการ เป็นอย่างไร และวิธีรับมือโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า อาการ อาจสังเกตได้จากความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้น เช่น ไม่มีแรงจูงใจหรือความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกว่างเปล่า หมดความสนใจในเรื่องหรือกิจกรรมที่เคยชอบมาตลอด ไปจนถึงมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรืออยากตาย หากสังเกตเห็นว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากปกติ หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม หรือแสดงออกถึงอารมณ์ด้านลบดังที่กล่าวมา อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เกิดจากอะไร

โรคซึมเศร้า (Depression) คือ โรคที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก ไปจนถึงร่างกายของผู้ป่วย พบได้บ่อยในคนทั่วไป อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง โรคนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • สารเคมีในสมอง ความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยอาจเกิดจากสมองมีระดับเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase หรือ MAO) มากกว่าปกติ จนไปทำลายสารสื่อประสาทที่สำคัญ ส่งผลให้ระดับเซโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน (Dopamine) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ต่ำเกินไป และส่งผลต่ออารมณ์ จนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
  • พันธุกรรม คนที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน อาจเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าจะเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป และโรคซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน
  • เหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ เช่น ภาวะเครียดเรื้อรัง การเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก การประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ การถูกทำร้ายในวัยเด็ก การอยู่อย่างโดดเดี่ยวและขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
  • ภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน อาจทำให้ผู้ป่วยประสบความเจ็บปวดทางร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษา จนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง และนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด
  • การใช้ยารักษาโรค ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยารักษากรดไหลย้อนอย่างโอเมพราโซล (Omeprazole) อีโซเมพราโซล (Esomeprazole) รานิทิดีน (Ranitidine) ฟาโมทิดีน (Famotidine) ยารักษาโรคภูมิแพ้อย่างมอนเทลูคาส (Montelukast) เซทิริซีน (Cetirizine)
  • สารเสพติด การใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อความบันเทิงและความสนุกสนาน (Recreational drugs) หรือยาที่ใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ เช่น ยาแก้ปวด ยาซึมเศร้า สารกระตุ้น ยาหลอนประสาท และเครื่องดื่มแอลกฮอล์อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้
  • ลักษณะนิสัยของคน คนที่มักคิดมากหรือมีปัญหาในการรับมือเรืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป

ปัจจัยเสี่ยงของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ ผู้หญิงอาจมีอาการ เศร้า ได้บ่อยกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ พันธุกรรมและสภาวะทางสุขภาพของแต่ละคนก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน และคนทุกคนก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต

โรคซึมเศร้า อาการ

สัญญาณและอาการของโรคซึมเศร้าของแต่ละคนมักแตกต่างกันออกไป โดยอาจมีดังนี้

ความรู้สึกของผู้เป็นโรคซึมเศร้า

  • รู้สึกว่างเปล่า ไม่มีความรู้สึก
  • รู้สึกขาดการเชื่อมต่อกับโลกแห่งความเป็นจริงหรือสิ่งรอบตัว
  • กระสับกระส่าย ไม่สบายใจ หงุดหงิดเรื่องรอบตัวและคนรอบข้าง
  • ไม่มีแรงจูงใจหรือความสนใจในเรื่องต่าง ๆ
  • รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ดูถูกตัวเอง
  • ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง (No self-esteem)
  • ไม่มีความหวังในชีวิต หมดอาลัยตายอยาก
  • มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

พฤติกรรมของผู้เป็นโรคซึมเศร้า

  • ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยชอบมาก่อน
  • ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเฉียบคม หรือพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ตามปกติ
  • สูญเสียความสนใจในเรื่องเพศ ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์
  • มีปัญหาในการจดจ่อหรือตั้งสมาธิกับเรื่องต่าง ๆ เช่น การดูหนัง การอ่านหนังสือ หรือกลายเป็นคนขี้ลืม
  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียตลอดเวลา
  • ไม่อยากอาหาร กินอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลด หรืออาจกินอาหารมากเกินไปจนน้ำหนักขึ้น
  • สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยามากผิดปกติ
  • เคลื่อนไหวร่างกายช้ามาก หรือมักอยู่ไม่สุข กระสับกระส่ายอยู่ตลอด
  • หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
  • ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดหลัง มีอาการอาหารไม่ย่อย ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
  • มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึมเศร้า

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึมเศร้า อาจมีดังนี้

  • อาการทางจิต โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตอย่างโรคหลงผิด (Delusional Disorder) ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความเป็นจริง จนทำให้มีภาวะหวาดระแวง (Paranoia) อาจทำให้เข้าใจว่ามีคนจ้องจะทำร้ายตัวเองอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีเหตุผล และอาจทำให้เกิดภาพหลอน (Hallucinations) เช่น การได้ยินเสียงในหัวที่ไม่มีอยู่จริง
  • การทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตที่ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีความคิดด้านลบจนทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดแขน เนื่องจากผู้ป่วยมองว่าเป็นวิธีรับมือกับความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ดีที่สุด ทั้งที่แท้จริงแล้ว เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่ช่วยให้ปัญหาที่เผชิญอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่สามารถอดทนต่อความคิดด้านลบที่มีต่อตัวเองและการมีชีวิตได้อีกต่อไป ก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

การรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย แต่การรักษาอย่างเหมาะสมด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้อาการซึมเศร้าค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติได้

  • การเข้ารับการบำบัด การรับคำปรึกษาที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เช่น นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychologist) จิตแพทย์ (Psychiatrist) อาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้นและพัฒนาทักษะในการรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระยะเวลาในการรับการรักษาของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจเข้ารับการบำบัดเพียงไม่กี่ครั้ง บางคนที่มีปัญหาทางจิตที่ลึกและซับซ้อนมากกว่าอาจต้องรับการบำบัดในระยะยาว
  • การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) เช่น การนวด การฝังเข็ม การสะกดจิต การใช้ไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) หรือเครื่องคัดกรองสภาวะสุขภาพจิต เป็นวิธีรักษาที่นอกเหนือไปจากการแพทย์แผนปัจจุบัน อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ควรดำเนินการโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • การใช้ยารักษา เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressant) อาจช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่เป็นสาเหตุของอาการ เศร้า บรรเทาอาการให้ดีขึ้นและช่วยไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก ทั้งนี้ ยาต้านเศร้าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ โดยอาการอาจทุเลาเมื่อใช้ยาไปเรื่อย ๆ และหากใช้ยาต้านเศร้าแล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
  • การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง (Brain stimulation therapy) เช่น การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy หรือ ECT) การบำบัดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Transcranial magnetic stimulation หรือ TMS) การผ่าตัดใส่ขั้วไฟฟ้าในสมอง (Vagus nerve stimulation หรือ VNS) เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า อาการ รุนแรง เรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดหรือการใช้ยารักษา และผู้ที่เป็นโรคจิตจากความซึมเศร้า (Depressive psychosis)

วิธีรับมือโรคซึมเศร้า

วิธีรับมือโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสม อาจทำได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยควรหาเวลาไปออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ตีแบด อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ เพราะอาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายการผลิตเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ไม่ควรอดอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอและมีเรี่ยวแรงในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ
  • ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัวบ่อย ๆ ไม่อยู่คนเดียวเมื่อรู้สึกเศร้าหรือวิตกกังวล กำหนดขอบเขตในการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานให้สมดุล หาเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจหรือสบายใจ เช่น ดูหนัง วาดภาพ เพื่อดึงตัวเองออกจากความรู้สึกด้านลบ อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ดาร์กช็อกโกแลต หรือบริโภคแต่น้อย ไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากคาเฟอีนจะไปกระตุ้นการหลั่งคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียด จึงอาจทำให้อาการวิตกกังวลแย่ลงได้
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารกดประสาทที่อาจไปรบกวนสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ จึงอาจทำให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลแย่ลง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำที่อาจทำให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลแย่ลง
  • พยายามตื่นนอนตามเวลาปกติและทำกิจวัตรประจำวันตามแบบแผนมากที่สุด เช่น ลุกขึ้นมาอาบน้ำแปรงฟันในเวลาเดิมทุก ๆ วัน จัดตารางซักผ้าทุกวันอาทิตย์ ไปเดินออกกำลังกายที่สวนสาธารณะใกล้บ้านทุกวันเสาร์ อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงจูงใจในการทำกิจวัตรประจำวันได้ในทุกวัน และรู้สึกว่าได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จลุล่วง แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ก็ตาม
  • สังเกตอาการของตัวเองและไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสม กินยาตามปริมาณที่คุณหมอสั่ง และไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are the Causes and Symptoms of Depression?. https://www.webmd.com/depression/guide/depression-symptoms-causes. Accessed December 21, 2022

Depression (major depressive disorder). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/symptoms-causes/syc-20356007. Accessed December 21, 2022

Depression. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9290-depression. Accessed December 21, 2022

Symptoms – Clinical depression. https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/clinical-depression/symptoms/. Accessed December 21, 2022

Depression. https://www.mind.org.uk/information-support/types-of-mental-health-problems/depression/symptoms/. Accessed December 21, 2022

Depression: Common medication side effect?. https://www.health.harvard.edu/blog/depression-common-medication-side-effect-2018071614259. Accessed December 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/08/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า ด้วยแนวทางในก้าวข้ามพลังงานเชิงลบ

ภาวะซึมเศร้าและความเศร้า มีความแตกต่างกันอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา