backup og meta

ไฮเปอร์ คือ ภาวะอยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    ไฮเปอร์ คือ ภาวะอยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข สาเหตุและการรักษา

    ไฮเปอร์ คือ ภาวะอยู่ไม่นิ่ง และไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่กับที่ได้เหมือนกับคนทั่วไป มักพบในเด็กวัยเรียน แต่ก็อาจวินิจฉัยพบในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน คนที่เป็นไฮเปอร์อาจมีปัญหาในการเข้ากับผู้อื่น การหาเพื่อน และการใช้ชีวิตประจำวัน หากสงสัยว่าเด็กมีอาการไฮเปอร์ ควรพาเด็กไปรับการวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน

    ไฮเปอร์ คือ อะไร

    ไฮเปอร์แอกทิวิตี (Hyperactivity) หรือ ไฮเปอร์ เป็นภาวะอยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข ชอบขัดจังหวะผู้อื่นขณะพูด วอกแวกง่าย ทั้งยังอาจมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ ก้าวร้าว อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักพบได้บ่อยในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โดยทั่วไปมักจะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่อายุยังน้อย แต่บางคนก็พบได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

    โดยทั่วไป การเป็นเด็กไฮเปอร์อาจถูกมองว่าเป็นปัญหาสำหรับคนรอบข้างและทางโรงเรียนมากกว่าตัวเด็กเอง อย่างไรก็ตาม การมีภาวะไฮเปอร์อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของตัวเด็กได้เช่นกัน เช่น ทำให้ไม่มีความสุขในการเข้าสังคม เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า อาจทำให้เด็กตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งกัน หรือเด็กอาจโดนทำโทษเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ

    สาเหตุของ ไฮเปอร์ คืออะไร

    สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะ ไฮเปอร์ คือ

    • โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะไฮเปอร์ โดย ไฮเปอร์ คือ หนึ่งในอาการของโรคสมาธิสั้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ซุกซน เคลื่อนไหวตลอดเวลา และทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา
    • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น
    • ความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติของสมองและระบบประสาทส่วนกลางอาจทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ได้
    • ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) อาจทำให้อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล รวมไปถึงมีภาวะไฮเปอร์

    อาการของไฮเปอร์

    อาการของภาวะไฮเปอร์ อาจมีดังนี้

    อาการไฮเปอร์ที่พบในเด็ก

    • อยู่ไม่สุขหรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา
    • พูดมาก พูดไม่ยอมหยุด
    • ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ ได้ เช่น การอ่านหนังสือ
    • วิ่งหรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม
    • ตอบคำถามก่อนที่ผู้ถามจะพูดจบ
    • ขัดจังหวะการสนทนาของผู้อื่น
    • กระทำการโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วน
    • อดทนรออะไรนาน ๆ ไม่ได้ เช่น การรอคิว การเข้าแถวที่โรงเรียนตอนเช้า

    อาการไฮเปอร์ที่พบในผู้ใหญ่

    • มีสมาธิสั้นกว่าปกติ
    • ไม่สามารถจดจ่อขณะทำงานได้
    • จดจำชื่อ ตัวเลข หรือข้อมูลบางอย่างได้ไม่ดี

    วิธีรักษาไฮเปอร์

    วิธีรักษาภาวะไฮเปอร์จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเด็กไฮเปอร์เนื่องจากเป็นโรคสมาธิสั้น อาจรักษาด้วยการรับคำปรึกษาจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และคุณหมออาจให้ใช้ยา เช่น เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) เด็กโตรแอมเฟตามีน (Dextroamphetamine)

    หากสาเหตุของภาวะไฮเปอร์เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน อาจรักษาด้วยการใช้ยาลดฮอร์โมนอย่างเมไทมาโซล (Methimazole) หรือการผ่าตัด

    นอกจากนี้ ยังอาจใช้การบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ภาวะไฮเปอร์ดีขึ้น เช่น

    • พฤติกรรมบำบัด (Behavior therapy) ที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนรูปแบบความคิดและพฤติกรรมของเด็ก
    • ครอบครัวบําบัด (Family therapy) ที่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสื่อสารให้เข้าใจกันมากขึ้น และแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากภาวะไฮเปอร์
    • การบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk therapy) ที่ให้เด็กได้พูดคุยเกี่ยวกับอาการของตัวเอง และให้คุณหมอช่วยวางแผนการรักษาได้เหมาะสมกับอาการของเด็กมากที่สุด

    เพื่อให้การรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากตัวเด็ก ครอบครัว และที่โรงเรียนด้วย คุณพ่อคุณแม่และคุณครูจึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็กอยู่เสมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา