หากจะพูดว่า การช้อปปิ้งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมโปรดของคนทุกเพศทุกวัยก็คงไม่ผิดนัก ยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก แค่เราเข้าโลกออนไลน์ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้วคลิก คนเราจะช้อปปิ้งบ้างก็ไม่แปลกอะไร โดยเฉพาะเวลาเครียด ๆ บางคนก็อยากคลายเครียดด้วยการช้อปปิ้ง แต่หากใครที่ชอบช้อปปิ้งมาก จะเครียดหรือจะแฮปปี้ก็ต้องช้อปปิ้ง เรียกว่า ชีวิตติดช้อปสุด ๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังเป็น โรคเสพติดการช้อปปิ้ง ก็เป็นได้ แต่..จะมีสัญญาณและอาการของโรคดังกล่าวอย่างไรอีกบ้าง ทาง Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการ เสพติดการช้อปปิ้ง มาฝากกันแล้ว
โรคเสพติดการช้อปปิ้ง คืออะไร
โรคเสพติดการช้อปปิ้ง (Shopping Addiction หรือ Oniomania หรือ Compulsive Buying Disorder) บางครั้งเรียกว่า “โรคช้อปอะโฮลิก” (Shopaholic) เป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะคือ ผู้ป่วยจะหมกหมุ่นกับการใช้จ่าย หรืออยากช้อปปิ้งตลอดเวลา โดยที่พวกเขาไม่สามารถหักห้ามใจ หรือหยุดการกระทำของตัวเองได้ จนก่อให้เกิดผลเสียในที่สุด
อาการของโรคเสพติดการช้อปปิ้ง
หลายคนอาจสับสนว่าตัวเอง หรือคนรอบข้างแค่ชอบช้อปปิ้ง หรือเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้งกันแน่ ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 4 ข้อขึ้นไป นั่นแปลว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง
- ใช้จ่ายเกินตัว
- ซื้อของเกินความจำเป็น
- ไม่บอกให้ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดรู้ว่าตัวเองช้อปปิ้งเยอะเกินไป
- ชอบเอาของที่ซื้อมาไปคืนเพราะรู้สึกผิด
- ช้อปปิ้งจนกระทบกับความรักหรือความสัมพันธ์
- ชอบใช้บัตรเครดิตมากกว่าเงินสด
- ช้อปปิ้งเพื่อให้หายโมโห หายเศร้า หายเหงา หรือช้อปปิ้งเพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น
- ทะเลาะกับคนอื่นเรื่องพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคุณบ่อย ๆ
- มักจะรู้สึกผิดหรือละอายใจหลังจากซื้อของมาแล้ว
- ครุ่นคิดเรื่องปัญหาการเงินของตัวเองตลอดเวลา
- ยอมจ่ายบิลช้า หรือเลือกเปิดบัตรเครดิตใบใหม่มาเพื่อช้อปปิ้ง ทั้ง ๆ ยังไม่ได้จ่ายหนี้บัตรเครดิตใบเก่า
- หมกมุ่นกับการช้อปปิ้งตลอดเวลา
- หากไม่ได้ช้อปปิ้งจะรู้สึกแย่มาก
- ช้อปปิ้งเยอะขึ้น เพื่อให้รู้สึกพอใจเหมือนที่ผ่านมา
- เอาแต่ช้อปปิ้งจนกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น โดดเรียนไปช้อปปิ้ง
- ตั้งใจหรือลองหยุดช้อปปิ้งแล้วแต่ก็ทำไม่ได้
ทำไมบางคนถึงเป็น โรคเสพติดการช้อปปิ้ง
โรคเสพติดการช้อปปิ้งมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านจิตใจ ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อรู้สึกเหงา เศร้า เสียใจ หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ คนที่ เสพติดการช้อปปิ้ง จะเลือกคลายเครียด หรือบรรเทาอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการช้อปปิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า โรคเสพติดการช้อปปิ้งเป็นสัญญาณเตือนว่า คนที่เป็นโรคนี้มีปม ความรู้สึก หรือแผลบางอย่างที่พวกเขาพยายามเก็บซ่อนไว้ลึก ๆ ในจิตใจ เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับมัน พวกเขาเลือกที่จะช้อปปิ้ง เพื่อให้ลืมปมในใจนั้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปมในใจยังไม่ถูกคลี่คลาย พวกเขาก็เลยยิ่งเสพติดการช้อปปิ้งอย่างหนัก จนสุดท้ายก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งด้านการเงิน ความสัมพันธ์ การทำงานได้
อีกสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือ ความเกี่ยวข้องระหว่างการช้อปปิ้งกับการทำงานของสมอง โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า บางคนเสพติดการช้อปปิ้งเพราะพวกเขาชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนที่ได้ช้อปปิ้ง กล่าวคือ เวลาที่ช้อปปิ้ง สมองจะหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) และสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสารเคมีแห่งความสุขออกมา พอเป็นอย่างนั้นนาน ๆ เข้า พวกเขาก็เสพติดความรู้สึกที่เกิดขึ้น และเสพติดการช้อปปิ้งในที่สุด
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง
โรคเสพติดการช้อปปิ้งมักเกิดในวัยรุ่นและเพศหญิง ส่วนใหญ่จะเริ่มในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และอาการของโรคจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
นอกจากนี้ บุคลิกภาพก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเสพติดการช้อปปิ้งได้เช่นกัน โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อปีค.ศ. 2015 ระบุว่า คนที่เป็นมิตร ชอบพบปะผู้คน หรือชอบเข้าสังคม (Extraversion หรือ Extrovert) และคนที่มีอารมณ์หวั่นไหวง่าย หรืออารมณ์ไม่เสถียร (Neuroticism) มักเกิดโรคเสพติดการช้อปปิ้งได้ง่ายกว่า นักวิจัยสันนิษฐานว่า คนที่ชอบเข้าสังคมอาจใช้การช้อปปิ้งเป็นเครื่องมือในการขยับสถานะทางสังคมของตัวเอง ส่วนคนที่มีอารมณ์หวั่นไหวง่ายอาจช้อปปิ้งเพื่อกำจัดอารมณ์ด้านลบของตัวเอง ผิดกับคนที่มีบุคลิกแบบละเอียดถี่ถ้วน มีวินัยในตัวเอง (Conscientious) และคนที่มีนิสัยอ่อนโยน อ่อนน้อม ไม่ขวางโลก (Agreeable) มักจะเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้งน้อยกว่า
เสพติดการช้อปปิ้ง จะแก้ไขยังไงดี
หากคุณคิดว่าตัวเองเข้าข่ายเสพติดการช้อปปิ้ง เคล็ดลับดังต่อไปนี้อาจช่วยแก้อาการ เสพติดการช้อปปิ้ง ของคุณได้
หากิจกรรมใหม่
ลองหันไปทำงานอดิเรก หรือกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การวิ่ง การออกกำลังกาย การฟังเพลง การอ่านหนังสือ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะไม่ทำให้คุณกระเป๋าฉีกแล้ว ยังดีต่อสุขภาพด้วย
หาตัวกระตุ้น
หาตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้าให้เจอ ลองหาสาเหตุดูว่า ปัจจัยหรือเหตุการณ์อะไรที่มักกระตุ้นให้คุณอยากออกไปช้อปปิ้ง จากนั้นก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้านั้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องหักห้ามใจไม่ให้ตัวเองรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการช้อปปิ้ง แต่ให้ทำกิจกรรมอื่นแทน เช่น หากคุณรู้ตัวว่าชอบออกไปช้อปปิ้งหลังจากประชุมจนเครียด ในเมื่อคุณเลี่ยงการประชุมไม่ได้ ก็ควรรับมือกับความเครียดจากการประชุมด้วยวิธีอื่น เช่น การนั่งสมาธิ การแช่น้ำอุ่น การฟังเพลง
อยู่ให้ห่างสิ่งล่อตาล่อใจ
หากคุณอยากช้อปปิ้งให้น้อยลง อย่างหนึ่งที่คุณไม่ควรทำเลยก็คือ การเดินผ่านร้านโปรด หรือเข้าเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ที่เข้าประจำ เพราะการทำเช่นนั้น อาจทำให้คุณอดช้อปปิ้งไม่ได้ และสุดท้ายก็กลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ ไม่จบไม่สิ้น ฉะนั้น เราขอย้ำอีกทีว่า หากคุณอยากให้โรคเสพติดการช้อปปิ้งของตัวเองดีขึ้น คุณควรอยู่ในห่างสิ่งล่อตาล่อใจอย่างร้านค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ให้ได้มากที่สุด
พกเงินสดไปแค่พอดีซื้อของจำเป็นจริง ๆ
หากคุณมีของที่จำเป็นต้องซื้อจริง ๆ เวลาไปซื้อของสิ่งนั้น คุณควรพกเงินไปแค่พอดีราคาของ และควรเก็บบัตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเดบิต บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ไว้ที่บ้านจะดีกว่า อย่าพกติดตัวไป เพราะคุณอาจเผลอกดเงินออกมาซื้อของอื่น ๆ ได้ และทางที่ดี ก่อนออกไปซื้อของ คุณควรทำลิสต์สิ่งของที่ต้องซื้อไว้ใหชัดเจน พอถึงเวลาก็เลือกซื้อแต่สิ่งของในลิสต์เท่านั้น อย่าไขว้เขวหรือเถลไถลเป็นอันขาด
ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
หากคุณลองพยายามทำวิธีต่าง ๆ เพื่อแก้อาการเสพติดการช้อปปิ้งด้วยตัวเองดูแล้วก็ยังไม่ได้ผล เราแนะนำว่า คุณควรขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้แล้ว อย่ามัวแต่อายหรือกลัวขายหน้า เพราะเราเชื่อว่าทั้งคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ ทุกคนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกับคุณอยู่แล้ว
หลายคนอาจมองว่าโรคเสพติดการช้อปปิ้งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว โรคนี้ก็เป็นปัญหาสุขภาพอีกหนึ่งชนิดที่คุณไม่ควรละเลยเด็ดขาด เพราะโรคเสพติดการช้อปปิ้ง หากปล่อยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เช่น ทำให้คุณเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น ทำให้มีปัญหากับคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว และอาจทำให้บางคนกลายเป็นขโมย จนอาจโดนจับเข้าคุกได้ด้วย
ฉะนั้น หากคุณรู้ว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง ทางที่ดีควรหาทางเลิกภาวะเสพติดนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และหากคุณรับมือเองไม่ได้ ก็อย่าอายที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เขาจะได้แนะนำวิธีรับมือที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณได้ จำไว้ว่า ยิ่งคุณเลิก เสพติดการช้อปปิ้ง ได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและชีวิตการเป็นอยู่ของคุณมากเท่านั้น