backup og meta

ใครชอบทาลิปมันมาทางนี้! เช็กสิ คุณเข้าขั้น เสพติดลิปมัน หรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/06/2020

    ใครชอบทาลิปมันมาทางนี้! เช็กสิ คุณเข้าขั้น เสพติดลิปมัน หรือเปล่า

    ไหนลองเช็กสิ คุณมีลิปมัน ลิปบาล์ม หรือลิปบำรุงริมฝีปากในครอบครองทั้งหมดกี่แท่ง แล้วคุณทาลิปมันแทบจะตลอดเวลา… หิวก็ทา เครียดก็ทาหรือเปล่า แล้วคุณซื้อลิปมันบ่อยมากจนเพื่อนทักเลยใช่ไหม หากใครพยักหน้าหรือตอบว่าใช่ คุณอาจเข้าขั้น เสพติดลิปมัน แล้วก็ได้นะ ว่าแต่แค่ไหนถึงเรียกว่าเสพติดลิปมัน  แล้วจะป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้ว และไม่ใช่แค่นั้น เพราะเรายังมีเคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกซื้อลิปมันให้ดีต่อริมฝีปากมาฝากคุณด้วย

    ชอบทาลิปมัน กับเสพติดลิปมันต่างกันยังไง

    เวลาคุณแสดงพฤติกรรมอะไรบ่อย ๆ คุณก็จะติดเป็น “นิสัย” คือ ร่างกายจะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาเองตามสัญชาตญาณ โดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งพฤติกรรมการทาลิปมันก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน เมื่อคุณทาลิปมันบ่อย นาน ๆ ไปคุณก็จะหยิบลิปมันมาทาจนเป็นนิสัย หรือ “ชอบทาลิปมัน” ไปโดยปริยาย

    แต่ “การเสพติด” นั้น ถือเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง ส่งผลให้คุณรู้สึกอยากหรือกระหายสสารใดสสารหนึ่งอย่างรุนแรง หรืออยากแสดงพฤติกรรมบางอย่างอย่างหนัก ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ก็เช่น การเสพติดยา หรือที่มักเรียกว่า การติดยาเสพติดนั่นเอง

    ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การเสพติดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอย่าง นิสัยหรือความชอบ หากกลายมาเป็นข้อบังคับหรือสิ่งที่ต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ถือเป็นการเสพติดเช่นกัน ฉะนั้น ความชอบทาลิปมันของคุณ วันหนึ่งก็อาจกลายเป็นการเสพติดลิปมันได้เช่นกัน และเมื่อคุณเสพติดอะไรบางอย่าง ก็มักจะทำให้เกิดผลเสียตามมา อย่างในกรณีของลิปมัน เมื่อคุณเข้าขั้นเสพติด ก็อาจทำให้คุณวุ่นวายอยู่แต่กับการทาลิปมันจนไม่มีแก่ใจจะทำอย่างอื่น หรือทาลิปมันมากไปจนทำร้ายริมฝีปากได้ด้วย

    สัญญาณว่าคุณ เสพติดลิปมัน เข้าแล้ว

    หากคุณอยากรู้ว่าตัวเองเสพติดลิปมันไหม ก็ลองเช็กดูตามลิสต์ข้างล่างนี้ได้เลย

  • คุณทาลิปมันบ่อยมาก
  • พกลิปมันติดตัวไปด้วยทุกที่
  • มองไปทางไหนก็เห็นแต่ลิปมัน ในรถ ในห้องนอน ในห้องน้ำ ในกระเป๋าเป้หรือกระเป๋าถือ จะต้องเจอลิปมันอย่างน้อย 1 แท่ง
  • เสียเงินไปกับลิปมันเยอะมาก
  • คนในครอบครัวหรือเพื่อนมักจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ลิปมันของคุณ เช่น มักจะบอกว่าคุณทาลิปมัน หรือซื้อลิปมันบ่อยเกินไป
  • หากไม่ได้ทาลิปมัน ก็จะพะวงแต่เรื่องนี้ จนไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมอื่น ๆ
  • เวลาจะออกไปไหน ถ้าลืมพกลิปมันไปด้วย จะต้องกลับไปเอาลิปมันทันที แม้จะทำให้ไปถึงที่หมายสายก็ตาม
  • ไม่อยากเสพติดลิปมันควรทำยังไงดี

    สำหรับคนที่ชอบทาลิปมันแต่ไม่อยากเข้าขั้น เสพติดลิปมัน หรือคนที่เสพติดการทาลิปมันไปแล้ว เรามีวิธีเลิกติดลิปมันมาฝาก ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

    มองหาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คุณอยากทาลิปมัน

    เช่น คุณชอบทาลิปมันเวลาเครียด ๆ หรือเปล่า หรือเวลาเห็นคนอื่นทาลิปมันแล้วคุณก็ต้องทาบ้าง เพราะหากลองสังเกตดี ๆ คุณอาจพบว่า จริง ๆ แล้วที่คุณหยิบลิปมันขึ้นมาทานั้น ไม่ใช่เพราะรู้สึกว่าตัวเองปากแห้ง แต่เป็นเพราะปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้นมากกว่า

    รับมือกับสิ่งกระตุ้นด้วยวิธีการอื่น

    ในเมื่อคุณรู้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้คุณทาลิปมันคืออะไร คุณก็ต้องหาวิธีรับมือกับสิ่งกระตุ้นนั้น ๆ ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การทาลิปมัน เช่น หากคุณรู้ว่าตัวเองชอบทาลิปมันเวลาเครียด ก็อย่าวางลิปมันไว้บนโต๊ะทำงาน เวลาเครียด แทนที่คุณจะคว้าลิปมันมาทาแก้เครียด คุณจะได้หันไปทำกิจกรรมคลายเครียดอย่างอื่นแทน เช่น เดินเล่นสักพัก ยืดเส้นยืดสาย

    วิธีเลือกซื้อลิปมัน ให้ดีต่อริมฝีปาก

  • พยายามไม่ใช้ลิปมันที่แต่งสี แต่งกลิ่น หรือแต่งรส เพราะสารเคมีที่ใช้ในการแต่งสี แต่งกลิ่น และแต่งรสอาจทำให้ผิวหนังของคุณระคายเคือง หรือทำให้เกิดอาการแพ้ได้ นอกจากนี้ สารเคมียังอาจทำให้ผิวบริเวณริมฝีปากสูญเสียความชุ่มชื้นและแห้ง ลอก แตกมากกว่าเดิมได้
  • เลือกลิปมันที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) อย่างน้อย 30 จะได้ช่วยปกป้องริมฝีปากของคุณจากแสงแดดและรังสียูวีที่เป็นตัวการทำให้ริมฝีปากสูญเสียน้ำและเหี่ยวย่น
  • หลีกเลี่ยงส่วนประกอบประเภทฟีนอล (Phenol) เมนทอล (Menthol) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เพราะจะทำให้ริมฝีปากของคุณแห้งกว่าเดิม พอยิ่งรู้สึกว่าปากแห้ง คุณก็จะยิ่งทาลิปมันบ่อย หรืออาจเข้าขั้น เสพติดลิปมัน ได้ในที่สุด นอกจากนี้ ส่วนประกอบดังกล่าวยังอาจทำให้คุณรู้สึกชาปากหลังทาลิปมัน ทำให้ริมฝีปากระคายเคือง หรือทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุดของริมฝีปากแห้งจนลอกได้ด้วย
  • Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา