backup og meta

โรคตาในผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    โรคตาในผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น

    ร่างกายของมนุษย์ย่อมร่วงโรยไปตามวัย เมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพกายใจที่เคยแข็งแรงก็อาจเริ่มมีปัญหา เมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ปัญหาสุขภาพตา นั่นเอง อายุที่มากขึ้นทำให้ดวงตาเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็น โรคตาในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง และสามารถป้องกันได้อย่างไร เราไปดูกันเลย

    โรคตาในผู้สูงอายุที่พบบ่อย

    ภาวะสายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

    ภาวะที่ความสามารถในการเพ่งมองวัตถุที่อยู่ใกล้ลดลงตามวัย เกิดจากเลนส์แก้วตาแข็งตัวมากขึ้น ยืดหยุ่นได้น้อยลง จึงไม่สามารถปรับรูปร่างของเลนส์ให้โป่งนูนขึ้น เพื่อโฟกัสแสงให้ตกกระทบที่จอประสาทตาเวลาที่มองวัตถุระยะใกล้ได้ ส่งผลให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ไม่ชัดเจน มักเกิดหลังอายุ 40 ปี และสายตาจะคงที่เมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะสายตายาวตามอายุ เมื่อจะอ่านหนังสือ จากที่เคยมองเห็นตัวหนังสือในระยะ 30 เซนติเมตร ก็ต้องถือหนังสือแบบเหยียดสุดแขนจึงจะมองเห็น หากมองเพ่งใกล้ๆ จะมีอาการปวดหัว หรือตาล้า ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตัดแว่นที่เหมาะกับค่าสายตา

    โรคตาแห้ง (Dry eye)

    เมื่ออายุมากขึ้น ต่อมน้ำตาจะผลิตน้ำตาได้น้อยลง แถมบางครั้งน้ำตาที่ผลิตได้ยังไม่มีคุณภาพ เข้มข้นไม่พอ หรือระเหยเร็วเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการตาแสบร้อน พร่ามัว และระคายเคืองคล้ายมีฝุ่นผงเข้าตา บางรายอาจมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวยืดเป็นเส้น หรือมีน้ำตาไหลไม่หยุด สำหรับผู้ป่วยโรคตาแห้ง คุณหมออาจแนะนำให้คุณติดตั้งเครื่องทำความชื้น หรือหยอดน้ำตาเทียมเพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้นตลอดเวลา หากตาแห้งรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

    อาการน้ำตาไหลไม่หยุด

    เกิดจากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตามากเกินไป เพราะดวงตาไวต่อแสง ลม หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป แก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการสวมแว่นกันแดด แต่หากอาการไม่ดีขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีปัญหาสุขภาพตาที่ต้องได้รับการรักษาทันที เช่น ตาติดเชื้อ ท่อน้ำตาอุดตัน

    โรคต้อกระจก (Cataract)

    เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่นมัวเพราะเสื่อมสภาพ ทำให้แสงที่ผ่านเข้ามาไม่ตกกระทบที่จอประสาทตาตามปกติ ภาพที่เห็นจึงพร่ามัว เลือนลาง ต้อกระจกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นแบบช้า ๆ ผู้ป่วยจะไม่ปวดตา ตาไม่แดง น้ำตาไม่ไหล บางครั้งต้อกระจกอาจมีขนาดเล็กมากและไม่กระทบต่อการมองเห็น แต่หากต้อกระจกเริ่มสร้างปัญหา สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียม

    โรคต้อหิน (Glaucoma)

    กลุ่มของโรคที่เกิดจากการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาผิดปกติ ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้นและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 2 หรือเส้นประสาทออพติก (optic nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทเกี่ยวกับการมองเห็นถูกทำลาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก แต่หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ จนตาบอดได้ในที่สุด ปัจจุบันถือเป็นสาเหตุการตาบอดถาวรอันดับหนึ่งในประชากรไทยและอันดับต้นๆ ในประชากรโลก

    โรคของจอประสาทตา

    จอประสาทตา หรือจอตา (Retina) เป็นส่วนประกอบของดวงตาที่อยู่หลังผนังด้านในสุด มีลักษณะเป็นชั้นบางๆ มีหน้าที่รับภาพและส่งภาพที่ได้ไปยังสมอง เมื่อเกิดโรคที่จอประสาทตา ย่อมส่งผลให้การมองเห็นภาพมีปัญหา โรคจอประสาทตาที่พบบ่อย ได้แก

    • โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration หรือ AMD) เกิดจากการสูญเสียเซลล์ในจุดภาพชัด (macula) ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ กลางจอประสาทตาที่มีเซลล์ประสาทรับภาพอยู่หนาแน่น จุดภาพชัดมีหน้าที่แยกรายละเอียดและสีต่างๆ ของภาพ เมื่อจุดภาพชัดในจอประสาทตาเสื่อม จะทำให้ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองตรงกลางภาพไม่ชัด แต่บริเวณอื่นยังมองเห็นชัดเจน หากสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากขึ้น
    • ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic Retinopathy) ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อม เลือดและสารต่างๆ จึงรั่วซึมออกจากหลอดเลือด ในระยะแรกอาจพบจุดเลือดออกที่จอประสาทตา ส่งผลให้ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด หรืออาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่หากลุกลามมากขึ้น อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดถาวรได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรตรวจสุขภาพตาทุกปี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
    • ภาวะจอประสาทตาลอก เกิดจากจอประสาทตาแยกตัว หรือลอกหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองแสบวาบคล้ายแสงแฟลชกล้องถ่ายรูป มองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา หรือมองเห็นภาพบิดเบี้ยวโย้เย้เหมือนอยู่ในน้ำ ร่วมกับอาการตาพร่ามัว พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร

    โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ

    เกิดจากหลอดเลือดแดงบริเวณขมับเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ปวดศีรษะรุนแรงที่ขมับด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน กดขมับแล้วเจ็บ ปวดบริเวณกราม ลิ้นและขมับเวลาเคี้ยวอาหาร รวมถึงมองเห็นภาพไม่ชัดขณะปวดด้วย พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

    โรคตาในผู้สูงอายุ… ป้องกันและแก้ไขได้

    ปัญหาตาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามวัย แต่อาจสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยวิธีเหล่านี้

    ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

    คุณควรตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตเป็นประจำ เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ เพราะโรคเหล่านี้หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดโรคตาตามมาได้ เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) โรคหลอดเลือดแดงของจอประสาทตาอุดตัน (eye stroke)

    ตรวจสุขภาพตาอย่างน้อย 2 ปีครั้ง

    การตรวจสุขภาพตาแบบครบวงจร เช่น การหยอดยาขยายม่านตา สามารถช่วยตรวจสอบได้ว่าคุณมีความเสี่ยงในการเกิดโรคตาหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบด้วยว่าคุณควรสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์แล้วหรือยัง

    อย่าละเลยสัญญาณเตือน

    หากสังเกตเห็นว่าการมองเห็นของตัวเองเปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว มองในที่สว่างน้อยไม่ค่อยชัด รวมไปถึงสัญญาณของปัญหาตารุนแรง เช่น ตาแดง มองเห็นแสงวาบในตา มองเห็นเงาดำลอยไปมาตรงหน้า เจ็บตา ตาบวม อย่าปล่อยเอาไว้ ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอทันที

    ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

    จากการศึกษาของวิทยาลัยจักษุวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Ophthalmology) พบกว่า การออกกำลังกาย เช่น การเดิน อย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุได้ถึง 70%

    ป้องกันดวงตาจากรังสียูวี

    หากต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสียูวี และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจก โรคต้อลมได้ด้วย

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม

    คุณควรกินผักผลไม้ให้ครบสีในปริมาณที่เหมาะสม เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจกได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ด้วย

    ไม่สูบบุหรี่

    บุหรี่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย รวมไปถึงโรคตาด้วย ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มีแนวโน้มเกิดโรคตา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ โรคต้อกระจก โรคม่านตาอักเสบ มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา