backup og meta

รีเทนเนอร์ ประเภท และวิธีการดูแลรักษา

รีเทนเนอร์ ประเภท และวิธีการดูแลรักษา

รีเทนเนอร์ คือ อุปกรณ์ที่ใช้หลังจากการจัดฟันเพื่อช่วยคงสภาพของโครงสร้างฟันให้อยู่ตัว ชิดเป็นระเบียบ และไม่ล้มหรือเคลื่อนออกหลังจากถอดเหล็กจัดฟัน รีเทนเนอร์อาจมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบพลาสติกใส พลาสติกหลากหลายสี และลวดเหล็ก การใส่รีเทนเนอร์เป็นประจำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และการดูแลรักษารีเทนเนอร์ให้ดีและสะอาดอยู่เสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาสภาพฟันที่สวยงาม มีสุขภาพดี หลังจากการจัดฟันได้

รีเทนเนอร์ คืออะไร

รีเทนเนอร์ (Retainers) คือ เครื่องมือที่ใช้สำหรับคงสภาพฟันหลังเสร็จสิ้นการจัดฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันล้ม ฟันห่าง จนต้องกลับไปจัดฟันใหม่อีกครั้ง ระยะเวลาในการใส่รีเทนเนอร์อาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เพิ่งผ่านการจัดฟันมาอาจจำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา ยกเว้นช่วงรับประทานอาหารและแปรงฟัน นานอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างฟันเข้ารูปดีแล้ว จากนั้นก็อาจต้องใส่รีเทนเนอร์ทุกคืนเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเคลื่อน

ในช่วงแรกของการใส่รีเทนเนอร์อาจจะรู้สึกเจ็บอยู่บ้าง เนื่องจากฟันยังไม่คุ้นชินกับแรงบีบอัดของรีเทนเนอร์ เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจจะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป

นอกเหนือจากการใช้เพื่อคงสภาพฟันแล้ว รีเทนเนอร์ยังอาจใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาดังต่อไปนี้

  • นอนกัดฟัน การใส่รีเทนเนอร์อาจช่วยป้องกันปัญหานอนกัดฟันได้ เนื่องจาก รีเทนเนอร์จะช่วยป้องกันไม่ให้ฟันบนกับฟันล่างกระทบกันโดยตรง
  • ลิ้นดุนฟัน เด็กบางคนอาจมีปัญหาที่ลิ้นมักสัมผัสหรือดันฟันเวลาที่พูดหรือกลืนน้ำลาย รีเทนเนอร์บางชนิดอาจมีกรอบกันไม่ให้ลิ้นสัมผัสกับผิวฟัน ซึ่งอาจช่วยป้องกันปัญหาฟันยื่นออกไปข้างหน้าจากการเอาลิ้นดุนฟันได้

ประเภทของรีเทนเนอร์

รีเทนเนอร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

รีเทนเนอร์แบบที่สามารถถอดออกได้

  • รีเทนเนอร์แบบลวด เป็นรีเทนเนอร์ที่ใช้ลวดขึ้นรูปให้พอดีกับตำแหน่งของฟัน และมีโครงสำหรับยึดติดกับเหงือกหรือเพดานปากที่ทำจากอะคริลิค อาจมีสีสันต่าง ๆ เป็นรีเทนเนอร์ที่แบบที่นิยมใช้มากที่สุด
  • รีเทนเนอร์แบบใส ทำจากพลาสติกหรือวัสดุอื่นที่ใกล้เคียงกัน มีลักษณะเป็นรีเทนเนอร์ใสที่ครอบฟันลงไปให้พอดีกับตำแหน่งฟันใหม่ที่ผ่านการจัดฟันเรียบร้อยแล้ว

รีเทนเนอร์แบบที่ไม่สามารถถอดออกได้

รีเทนเนอร์แบบที่ไม่สามารถถอดออกได้ ทำจากลวดขึ้นรูปที่ยึดติดกับฟันบริเวณด้านในปาก ตรึงตำแหน่งของฟันให้คงที่ เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบลืมใส่รีเทนเนอร์เป็นประจำ รีเทนเนอร์แบบนี้ไม่สามารถถอดออกได้เอง จำเป็นต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ถอดออกให้เท่านั้น

การดูแลรักษารีเทนเนอร์

การดูแลรักษาและทำความสะอาดรีเทนเนอร์เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในรีเทนเนอร์อาจมีการสะสมของคราบสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย และเศษอาหารต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้รีเทนเนอร์มีกลิ่นเหม็น เปลี่ยนสี และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันอื่น ๆ ได้ เช่น ฟันผุ การติดเชื้อในช่องปาก 

การดูแลรักษารีเทนเนอร์ให้อยู่ในสภาพดี ยืดอายุการใช้งาน สามารถทำได้ ดังนี้

  • ถอดรีเทนเนอร์ทุกครั้งเมื่อต้องรับประทานอาหารหรือแปรงฟัน
  • เมื่อจำเป็นต้องถอดรีเทนเนอร์ออก ควรเก็บไว้ในกล่องสำหรับรีเทนเนอร์ อย่าห่อกระดาษทิชชู่แล้ววางไว้ข้าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้เผลอลืมแล้วทิ้งไปได้ นอกจากนี้ ไม่ควรใส่รีเทนเนอร์ในกระเป๋าโดยไม่ใส่กล่องสำหรับรีเทนเนอร์ เพราะหากมีแรงกดทับอาจทำให้รีเทนเนอร์ผิดรูปหรือหักได้
  • ทำความสะอาดรีเทนเนอร์เป็นประจำ ด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนนุ่มแปรงทำความสะอาดรีเทนเนอร์เบา ๆ อาจใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาสำหรับทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยเฉพาะร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม รีเทนเนอร์บางชนิดอาจไม่สามารถใช้ยาสีฟันทำความสะอาดได้ ควรสอบถามทันตแพทย์ให้แน่ชัดถึงวิธีการทำความสะอาดรีเทนเนอร์อย่างถูกต้อง
  • เก็บรีเทนเนอร์ให้ห่างไกลจากสัตว์เลี้ยงและเด็กเล็ก
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้รีเทนเนอร์สัมผัสความร้อน และไม่ควรใช้น้ำร้อนแช่หรือทำความสะอาดรีเทนเนอร์ เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์ผิดรูป ไม่ตรงกับรอยฟัน 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่อาจมีฤทธิ์กัดกร่อนระหว่างใส่รีเทนเนอร์ เช่น น้ำอัดลม โซดา น้ำมะนาว

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How To Clean Clear Retainers. https://www.webmd.com/oral-health/how-to-clean-clear-retainers. Accessed November 16, 2021.

Taking Care of Retainers. https://www3.aaoinfo.org/blog/taking-care-of-retainers/. Accessed November 16, 2021.

The Reality of Retainers. https://kidshealth.org/en/kids/retainers.html. Accessed November 16, 2021.

Dental braces. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/braces/about/pac-20384607. Accessed November 16, 2021.

Children and Orthodontics. https://www.webmd.com/oral-health/children-and-orthodontics. Accessed November 16, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/11/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การจัดฟัน ที่คุณควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 23/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา