การจัดฟันแบบเฮดเกียร์ อาจจะเป็นวิธีการจัดฟัน ที่ไม่ได้รับนิยมเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นการดัดฟันเฉพาะทาง ที่ทันตแพทย์มักนำไปใช้กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพฟันที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาเสียมากกว่า วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดฟันแบบเฮดเกียร์ มาให้ทุกคนได้ทราบมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการเริ่มจัดฟันกันค่ะ
การจัดฟันแบบเฮดเกียร์ คืออะไร
จัดฟันแบบเฮดเกียร์ (Orthodontic Headgear) เป็นรูปแบบการจัดฟันที่มีการสวมใส่อุปกรณ์เพิ่มเติมบางอย่างด้านนอกช่องปาก เพื่อช่วยจัดตำแหน่งของฟันกรามให้เข้าที่มากขึ้น และช่วยปรับฟันบางซี่ที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารให้อยู่ในตำแหน่งคงที่ การจัดฟันด้วยเทคนิคนี้มักจะเหมาะกับเด็กอายุ 9-14 ปี เนื่องจากเป็นการรักษาสุขภาพฟัน พร้อมแก้ไขปัญหาของฟันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ฟันนั้นมีการเรียงตัวได้ดีโดยใช้ระยะเวลาการจัดฟันเพียงไม่นาน
การ จัดฟันแบบเฮดเกียร์ นี้เป็นเทคนิคการจัดฟันที่สามารถถอดอุปกรณ์ออกได้ แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น ซึ่งโดยปกติทันตแพทย์มักแนะนำให้คุณสวมใส่อุปกรณ์ในการจัดฟันนี้ไว้ 12-14 ชั่วโมง ต่อวัน เป็นเวลา 1-2 ปี หรืออาจน้อยกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับการพัฒนาการเคลื่อนที่ของฟันแต่ละบุคคล
อุปกรณ์การจัดฟันแบบเฮดเกียร์
เนื่องจากการ จัดฟันแบบเฮดเกียร์ เป็นการจัดฟันโดยมีอุปกรณ์ด้านนอกอยู่รอบปากคุณ คุณจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้สามารถใช้งานได้ง่ายมากขึ้น และไม่สับสน
- หมวกคลุมศีรษะ เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาให้ยึดอุปกรณ์สำหรับการจัดฟัน มักมีหลายประเภท ตามความเหมาะสมของฟันที่ต้องการแก้ไข
- สายรัด เป็นอุปกรณ์ใช้ยึดเหนี่ยวกับหมวกคลุมศีรษะ เพื่อใช้กำหนดแรงเคลื่อนของฟันในแต่ละครั้งที่ทางทันตแพทย์กำหนด
- โลหะรูปตัวยู คือ เส้นลวดโลหะที่มีความหนาดัดให้เป็นรูปตัวยู เพื่อเชื่อมติดกับฟันกราม หรือฟันที่ควรได้รับการแก้ไข รวมไปถึงสายรัด และหมวกคลุมศีรษะ
สิ่งที่สำคัญในช่วงขั้นตอนการใส่ และขั้นตอนการถอดอุปกรณ์ จัดฟันแบบเฮเกียร์ คือต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์ พร้อมได้รับการบาดเจ็บตามซอกฟัน และเหงือกในช่องปากของคุณได้
วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ จัดฟันแบบเฮดเกียร์
- ทำความสะอาดอุปกรณ์จัดฟันทุกวัน ด้วยน้ำอุ่น
- ควรหมั่นซักสายรัดเฮดเกียร์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน ด้วยผงซักฟอก และน้ำอุ่น พร้อมตากให้แห้งสนิทก่อนสวมใส่อีกครั้ง
- ในส่วนของอุปกรณ์ที่ใส่ภายในช่องปาก คุณสามารถทำความสะอาดพร้อมกับการแปรงฟันในขณะสวมใส่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอดออกมาทำความสะอาดด้านนอกทุกครั้ง
นอกจากนี้หากคุณอยากให้อุปกรณ์จัดฟันอยู่คู่กับคุณไปอย่างยาวนาน โปรดหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็ง และมีความเหนียวหนืดเวลาเคี้ยว เช่น น้ำแข็ง ถั่ว หมากฝรั่ง หรือลูกอมแบบเคี้ยวที่มีความเหนียว เพื่อมิให้อุปกรณ์ได้รับความเสียหาย และเป็นป้องกันการเคลื่อนตัวของฟันที่ผิดเพี้ยนจากรูปแบบแผนที่ทางทันตแพทย์กำหนด