backup og meta

6 โรคตา ที่ควรระวัง หากยับยั้งไม่ทัน อาจเสี่ยงต่อการตาบอด

6 โรคตา ที่ควรระวัง หากยับยั้งไม่ทัน อาจเสี่ยงต่อการตาบอด

สุขภาพดวงตา เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการดูแลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพดวงตาเสื่อมโทรมจนเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาชนิดต่าง ๆ ทั้งที่มีระดับความรุนแรงน้อย ไปจนถึงระดับความรุนแรงมากที่อาจนำไปสู่การตาบอด แต่ โรคตา ที่เสี่ยงต่อการ ตาบอด มีโรคอะไรที่ควรระวังบ้างนั้น มาหาคำตอบกันได้ที่บทความนี้จาก Hello คุณหมอ

6 โรคตา ที่เสี่ยงต่อการตาบอด มีอะไรบ้าง

โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related Macular Degeneration)

หรือก็คือโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เรารู้จักกันดี แต่หากพบโรคนี้ในผู้สูงอายุ เราจะเรียกว่า โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โรคตาชนิดนี้เป็นความผิดปกติของดวงตาเนื่องจากความชรา ทำให้ส่วนตรงกลางดวงตาที่เรียกว่าเรตินา ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน กลายเป็นมองเห็นตรงกลางไม่ชัดเจน มองเห็นแค่เพียงด้านข้างเท่านั้น โดยโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ  แบ่งเป็นสองชนิด ได้แก่

  • จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดหลังเรตินา ทำให้เลือดรั่วไหลออกมาที่จุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตา ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการมองเห็น
  • จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) เกิดจากจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตาเสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้การมองเห็นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ภาพชัดเจนเกิดการเบลอ โดยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ พบว่าจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากความชราเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด

มากไปกว่านั้น หากปล่อยไว้โดยไม่รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่การ ตาบอดได้

ต้อกระจก (Cataract)

ต้อกระจก คือการขุ่นมัวของเลนส์ตาที่ส่งผลให้การมองเห็นเบลอ หรือมองเห็นได้ไม่ชัด สาเหตุหลักมักเกิดจากความชราภาพ จึงถือเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การบาดเจ็บที่ดวงตา ระบบพันธุกรรม หรือมีประวัติการผ่าตัดดวงตามาก่อน ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดต้อกระจกด้วยเช่นกัน มากไปกว่านั้น ต้อกระจกยังถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการ ตาบอด ด้วย หากปล่อยไว้โดยไม่ได้เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ต้อหิน (Glaucoma)

ดวงตาของเรามีการผลิตและระบายของเหลวเป็นปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการผลิตของเหลวในดวงตามากจนเกินไป ก็จะก่อให้เกิดความดันจากของเหลว จนทำลายเส้นประสาทของดวงตา โดยต้อหินจะค่อย ๆ เริ่มจากบริเวณขอบด้านนอก และค่อย ๆ ไล่มาจุดกึ่งกลางของดวงตา และเนื่องจากต้อหินเป็นความผิดปกติของดวงตาที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ นี่เอง ทำให้กว่าจะรู้ตัวอีกที ต้อหินที่เป็นอยู่ก็เข้าขั้นอันตรายเสียแล้ว ซึ่งต้อหินถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการสูญเสียการมองเห็นหรือ ตาบอด

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)

เบาหวานขึ้นตา เป็นโรคตาที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงสะสมจนทำให้เส้นเลือดที่จอประสาทตามีอาการบวมและมีเลือดออกที่จอประสาทตา ทำให้การมองเห็นแย่ลง เช่น เห็นภาพซ้อน ภาพมัว ภาพมีขีดหรือจุด เป็นต้น และถ้าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการ ตาบอด อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบภาวะเบาหวานขึ้นตาตั้งแต่เนิ่น ๆ และเข้ารับการรักษา มีโอกาสสูงที่จะหายจากภาวะดังกล่าว

โรคจอประสาทตาเสื่อม RP (Retinitis Pigmentosa)

โรคจอประสาทตาเสื่อม RP เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก ซึ่งเกิดจากเสื่อมสภาพของเรตินา โดยไล่มาจากส่วนของขอบตา จนกระทั่งมืดสนิท โรคตาชนิดนี้มักได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เด็กที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม RP เกิดมาพร้อมกับอาการตาบอดกลางคืน และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม RP มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการ ตาบอด

ตาขี้เกียจ (Amblyopia)

ภาวะตาขี้เกียจ เป็นภาวะความผิดปกติของดวงตาที่พบได้บ่อยตั้งแต่เด็ก เกิดจากดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานหรือการมองเห็นลดลง ทำให้ดวงตาทั้งสองข้างทำหน้าที่ไม่สอดคล้องกัน โดยตาข้างหนึ่งอาจมีสายตายาวหรือมีสายตาเอียง ขณะที่ตาอีกข้างเป็นปกติ โรคตาขี้เกียจเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะสายตาสั้น และหากไม่ได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย เสี่ยงที่ประสิทธิภาพในการมองเห็นจะค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งมืดสนิทหรือ ตาบอด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eye Diseases that Can Cause Legal Blindness. https://www.brightfocus.org/macular/article/eye-diseases-can-cause-legal-blindness. Accessed March 24, 2021.

Common Eye Disorders and Diseases. https://www.cdc.gov/visionhealth/basics/ced/index.html. Accessed March 24, 2021.

COMMON EYE DISEASES. https://visionlossresources.org/resources/common-eye-diseases/. Accessed March 24, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/03/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การฉีดยาเข้าลูกตา เทคนิคการรักษาปัญหาดวงตา โดยจักษุแพทย์

โรคตาในผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 25/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา