backup og meta

ตาแห้งหลังทำเลสิก เป็นเพราะอะไร รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ตาแห้งหลังทำเลสิก เป็นเพราะอะไร รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง

สำหรับคนที่มีสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และเบื่อการใส่แว่นสายตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ตลอดเวลา ก็อาจต้องมองหาวิธีแก้ไขให้สายตากลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด และหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่หลายๆ คนนึกถึงและสนใจ ก็น่าจะเป็นการทำเลสิก (Lasik) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยการใช้เลเซอร์ชนิดหนึ่ง วิธีนี้ถือเป็นวิธีรักษาภาวะสายตาผิดปกติที่แน่นอนและแม่นยำที่สุด แต่การทำเลสิกก็เหมือนการผ่าตัดอื่นๆ นั่นคือ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น ตาแห้งหลังทำเลสิก ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงจากการทำเลสิกที่พบได้มากที่สุด

ทำไมทำเลสิกแล้วถึงตาแห้ง

ภาวะตาแห้งหลังทำเลสิก สามารถสังเกตได้จากอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา ตาล้า และตาแดง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภาวะตาแห้งหลังทำเลสิกอาจเป็นผลมาจากเส้นประสาทกระจกตาได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด เนื่องจากระหว่างผ่าตัด แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อและเส้นประสาทในกระจกตาบางส่วนออก เพื่อปรับแก้รูปทรงของกระจกตา ซึ่งโดยปกติแล้ว กระบวนการนี้จะไม่กระทบกับการมองเห็น แต่อาจทำให้การส่งสัญญาณระหว่างกระจกตาและต่อมน้ำตาเกิดปัญหาได้ชั่วคราว แต่ไม่นานก็จะหายเป็นปกติ

สาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาตาแห้งหลังทำเลสิกได้ ก็คือ การอักเสบเนื่องจากผ่าตัด หรือในบางกรณี กระจกตารูปทรงใหม่ที่ได้หลังทำเลสิก อาจทำให้หนังตาเสียดสีกับกระจกตาบ่อยขึ้น จนส่งผลให้น้ำตาไหลง่าย หรือต้องกระพริบตาบ่อยๆ เลยทำให้คุณรู้สึกตาแห้งได้

ส่วนใหญ่แล้วอาการตาแห้งมักปรากฏให้เห็นภายในหนึ่งเดือนหลังทำเลสิก และมักจะหายดีได้ภายใน 6-12 เดือน แต่หากคุณตาแห้งจนกระทบกับการมองเห็น ทำให้มีอาการปวดรุนแรง หรือมีปัญหาตาอื่นๆ ตามมา ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ใครบ้างที่เสี่ยงตาแห้งหลังทำเลสิก

แม้ภาวะตาแห้งหลังทำเลสิกจะเป็นผลข้างเคียงจากการทำเลสิกที่พบได้บ่อย แต่ผู้ที่มีภาวะเหล่านี้ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตาแห้งหลังทำเลสิกมากขึ้น

  • มีอาการตาแห้งตั้งแต่ก่อนทำเลสิก
  • ใส่คอนแทคเลนส์
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • สายตาสั้นมากก่อนทำเลสิก
  • มีเชื้อสายเอเชีย
  • เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
  • เป็นโรคภูมิต้านตนเอง หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune diseases) เช่น โรคโจเกรน (Sjogren’s syndrome)
  • อยู่ในสภาพแวดล้อม หรือสภาพอากาศแห้ง เช่น ห้องแอร์

ตาแห้งหลังทำเลสิก รักษาได้ยังไงบ้าง

แพทย์อาจแนะนำให้คุณกินอาหารเสริมน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ หรือน้ำมันปลาในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด และคุณอาจต้องหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำทั้งก่อนและหลังทำเลสิก หรือแพทย์อาจสั่งยาหยอดตาที่มีตัวยาสำคัญอย่างไซโคลสปอรีน (Cyclosporine) หรือยาหยอดตาที่เป็นคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ และทำให้ต่อมน้ำตาหลั่งน้ำตาออกมาได้มากขึ้น

นอกจากนี้ หากคุณมีอาการตาแห้งรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์อาจรักษาด้วยการอุดท่อน้ำตา (Punctal plug) เพื่อชะลอการไหลออกของน้ำตา ทำให้น้ำตาคงอยู่ที่บริเวณดวงตามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการระคายเคืองตา และลดอาการตาแห้งได้

วิธีป้องกันตาแห้งหลังทำเลสิก

ในขั้นตอนการปรึกษาแพทย์ ก่อนตัดสินใจทำเลสิก หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาใดๆ เช่น ตาระคายเคืองง่าย น้ำตาไหลง่าย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เพราะปัญหาเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบให้คุณมีภาวะตาแห้งหลังทำเลสิกได้

มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า การกินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี เช่น แซลมอน อะโวคาโด เนยถั่ว หรืออาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถช่วยให้ฟิล์มน้ำตา หรือแผ่นน้ำตา (tear film) แข็งแรงขึ้นได้ และคุณควรดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายและดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ ตาจะได้ไม่แห้งง่ายด้วย

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dry Eye After LASIK. https://www.webmd.com/eye-health/dry-eye-after-lasik. Accessed January 22, 2020

Understanding Dry Eye Symptoms After LASIK Eye Surgery. https://americanrefractivesurgerycouncil.org/understanding-dry-eye-symptoms-lasik/. Accessed January 22, 2020

Who Is Likely To Get Dry Eye Syndrome After LASIK Surgery?. https://www.sciencedaily.com/releases/2008/03/080303145247.htm. Accessed January 22, 2020

Dry Eyes after LASIK. https://lasikcomplications.com/dryeye.htm. Accessed January 22, 2020

Dry Eye After LASIK. https://iovs.arvojournals.org/article.aspx?articleid=2717220. Accessed January 22, 2020

Post-LASIK dry eye. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3235707/. Accessed January 22, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตาเหลือง หม่นหมองแบบนี้ เกิดจากอะไรกันนะ?

สีดวงตา สามารถบอกถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพได้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา