backup og meta

ขนาดถุงยางอนามัย มีความสำคัญอย่างไร

ขนาดถุงยางอนามัย มีความสำคัญอย่างไร

ขนาดถุงยางอนามัย เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ชายควรให้ความสำคัญ เพราะหากใช้ขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป อาจปริแตกหรือหลุดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยทั่วไป ขนาดของถุงยางอนามัยที่ผู้ชายไทยนิยมใช้ ได้แก่ ขนาด 49 และ 52 มิลลิเมตร

[embed-health-tool-bmi]

ถุงยางอนามัย มีประโยชน์อย่างไร

ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาตในการผลิตหรือนำเข้า และต้องมีการตรวจสอบคุณภาพทุกรุ่นก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด มีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก ทรงกระบอก ทำจากยางพาราหรือวัสดุสังเคราะห์ ใช้สวมองคชาตหรือสอดช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองใน ซิฟิลิส หรือเอดส์ รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

ในประเทศไทย ถุงยางอนามัยมีด้วยกัน 3 ขนาด คือ 49, 52 และ 56 มิลลิเมตร โดยขนาด 49 และ 52 มิลลิเมตร เป็นขนาดที่เหมาะกับขนาดองคชาตของผู้ชายไทยมากที่สุด

ขณะเดียวกัน ความกว้างของถุงยางอนามัยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือน้อยกว่า 1.75 นิ้ว ระหว่าง 1.75-2 นิ้ว และมากกว่า 2 นิ้ว และความกว้างจัดเป็นปัจจัยสำคัญอีกข้อในการเลือกซื้อถุงยางอนามัยของผู้ชาย

ทั้งนี้ ถุงยางอนามัยแบบสอดหรือถุงยางอนามัยผู้หญิงมีหนึ่งขนาดเท่านั้นและสามารถใช้ได้กับผู้หญิงทุกคน

ขนาดถุงยางอนามัย มีความสำคัญอย่างไร

สำหรับผู้ชาย การใช้ถุงยางอนามัยที่เล็กหรือใหญ่กว่าองคชาตอาจทำให้ถุงยางอนามัยเสี่ยงแตก ฉีก ขาด หรือหลุดเลื่อนออกขณะมีเพศสัมพันธ์ และส่งผลให้ประสิทธิภาพคุมกำเนิดและป้องกันโรคลดลง

วิธีสังเกตว่าสวมถุงยางอนามัยผิดขนาดหรือไม่ มีดังนี้

  • ถุงยางอนามัยสั้นเกินไป ครอบลำขององคชาตได้ไม่หมด
  • ถุงยางอนามัยหลวมเกินไป หรือไม่แนบกระชับกับองคชาต
  • ถุงยางอนามัยหลุดเข้าไปในช่องคลอดหรือทวารหนักของคู่นอน
  • ปลายถุงยางอนามัยห้อยจากปลายองคชาต
  • ส่วนปลายของถุงยางอนามัยมีพื้นที่น้อยเกินไปสำหรับรองรับน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาเมื่อถึงจุดสุดยอด
  • ถุงยางอนามัยกองอยู่ตรงโคนองคชาตมากเกินไป

การวัดขนาดองคชาต ก่อนเลือกซื้อ ถุงยางอนามัย

หากต้องการทราบขนาดถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับตัวเอง ผู้ชายควรวัดความยาวและความกว้างขององคชาตก่อนตัดสินใจซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยา

สำหรับวิธีการวัดความยาวและความกว้างขององคชาต สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ดังนี้

ความยาว

  • ใช้สายวัดหรือไม้บรรทัดวัดความยาวองคชาตจากโคนถึงปลาย เมื่อองคชาตแข็งตัวเต็มที่

ความกว้าง

  • ใช้สายวัดวัดรอบลำองคชาตหรือส่วนที่หนาที่สุด เมื่อองคชาตแข็งตัวเต็มที่ เพื่อให้ได้เส้นรอบวงขององคชาต
  • หารเส้นรอบวงด้วย 3.14

ถุงยางอนามัย ทำจากวัสดุประเภทใดบ้าง

นอกเหนือจาก ขนาดของถุงยางอนามัย วัสดุที่ใช้ทำถุงยางอนามัยนับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยวัสดุแต่ละชนิดนั้นมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ดังต่อไปนี้

ยางพารา

ข้อดี

  • หาซื้อได้ง่าย
  • ราคาถูก

ข้อเสีย

  • ทำให้ผู้ที่แพ้ยางมีอาการแพ้ได้
  • ปริแตกได้เมื่อใช้กับเจลหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลัก

พอลิไอโซพรีน (Polyisoprene)

ข้อดี

  • นุ่มและยืดหยุ่นเทียบเท่ากับถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา

ข้อเสีย

  • หนากว่าถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา
  • หาซื้อได้ยากกว่าถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา

โพลียูรีเทน (Polyurethane)

ข้อดี

  • บางกว่าถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา

ข้อเสีย

  • ยืดหยุ่นน้อยกว่าถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา
  • มีแนวโน้มที่จะหลวมหรือไม่กระชับกับองคชาต
  • ฉีกขาดได้ง่าย หากเลือกสวมในขนาดที่ไม่เหมาะสม
  • หาซื้อได้ยากกว่าถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to choose the right condom size?. https://lovefoundation.or.th/en/how-to-choose-condom-size/. Accessed December 21, 2022

Male (External) Condom Use. https://www.cdc.gov/condomeffectiveness/external-condom-use.html. Accessed December 21, 2022

How do I use a condom?. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/how-do-i-use-condom/. Accessed December 21, 2022

Can You Use Two Condoms for Extra Protection?. https://kidshealth.org/en/teens/2-condoms.html#:~:text=No%2C%20you%20should%20never%20use,that%20the%20condoms%20might%20break. Accessed December 21, 2022

How to put a condom on. https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/condom/how-to-put-a-condom-on. Accessed December 21, 2022

Female condoms. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/female-condoms/. Accessed December 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/02/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีใส่ถุงยาง ที่ถูกต้อง และข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

วิธีวัดไซส์ถุงยาง และผลเสียของการสวมถุงยางผิดไซส์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา