backup og meta

โรคเอดส์ระยะที่2 เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคเอดส์ระยะที่2 เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

หลายคนอาจเข้าใจว่า การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) กับโรคเอดส์ (AIDS) คือโรคเดียวกัน จึงและมักใช้คำว่า โรคเอดส์แทนเมื่อพูดถึงการติดเชื้อ HIV รวมถึงเมื่อพูดถึงระยะของโรคด้วย เช่น โรคเอดส์ระยะที่1 โรคเอดส์ระยะที่2 โรคเอดส์ระยะสุดท้าย แต่ความจริงแล้ว การติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า ระยะโรคเอดส์ นั่นหมายความว่า หากผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ดูแลตัวเองอย่างดี โรคก็อาจไม่พัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ และสามารถมีอายุยืนยาวได้เหมือนผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ HIV

[embed-health-tool-bmi]

การติดเชื้อ HIV ต่างจากโรคเอดส์อย่างไร

การติดเชื้อไวรัส HIV หรือฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus) และโรคเอดส์ (AIDS) ไม่ใช่ภาวะสุขภาพเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยโรคเอดส์ เป็นระยะหนึ่งของการติดเชื้อ HIVเมื่อร่างกายติดเชื้อ HIV ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ การรับเลือดที่มีเชื้อ หรือการติดต่อจากแม่สู่ลูก หากอยู่ในระยะที่ปริมาณเชื้อยังไม่มาก ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือบางรายอาจยังไม่มีอาการแสดงให้สังเกตเห็น จึงทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาในระยะนี้ และหากผู้ป่วยไม่ได้ดูแลตัวเองร่วมกับไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ได้กินยาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้การติดเชื้อ HIV พัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า โรคเอดส์ระยะที่2

หากผู้ติดเชื้อ HIV ระยะที่ 2 ไม่ได้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่เนิ่น ๆ ไวรัสจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี ก็จะทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคลดน้อยลง

หากจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์น้อยกว่า 200 หรือหากเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection หรือ OIs) เช่น งูสวัด เชื้อราในช่องปาก วัณโรค ปอดอักเสบ จะถือว่าเข้าสู่การติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย หรือที่เรียกว่า ระยะโรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจาก ที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคใด ๆ ได้อีกต่อไป และทำให้เสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย ยิ่งปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 น้อยลงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงขึ้นเท่านั้น

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV

เชื้อ HIV สามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นเมื่อสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง อสุจิ ของเหลวในทวารหนัก ของเหลวในช่องคลอด น้ำนม ของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดของผู้รับเชื้อโดยตรง หรือเมื่อผู้รับเชื้อมีแผลหรือเยื่อเมือกบริเวณทวารหนัก ช่องคลอด องคชาต ปากแล้วสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV อาจมีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ผ่านทวารหนักและช่องคลอดโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะกับคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนที่ไม่ได้ทราบประวัติสุขภาพทางเพศ
  • ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่ โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomanas)
  • ใช้สารเสพติดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งจะแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก และอาจแพร่เชื้อขณะคลอดทางช่องคลอด และขณะให้นม

โรคเอดส์ระยะที่2 เป็นอย่างไร

การติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยการติดเชื้อระยะแรก หรือที่เรียกว่าระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) จะเกิดขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อ HIV ระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีตุ่มแดงไม่คันขึ้นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นร่างกายจะพยายามต่อสู้กับเชื้อ ทำให้อาการดีขึ้น แต่เชื้อยังคงแฝงตัวและแพร่กระจายไปยังเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย และผู้ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ จึงอาจไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหาการติดเชื้อ HIV

หลังจากนั้น การติดเชื้อ HIV จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่เรียกว่า ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) บางครั้งก็เรียกว่าระยะติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic HIV infection) หรือระยะการติดเชื้อไม่แสดงอาการ (Asymptomatic period) ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดและเรียกว่า โรคเอดส์ระยะที่2 โดยเชื้อไวรัส HIV ในระยะนี้จะเพิ่มจำนวนอย่างช้า ๆ แต่ผู้ติดเชื้อยังคงแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยการใช้ยา เชื้อ HIV จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันจนพัฒนาไปสู่การติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ ซึ่งในบางกรณีอาจใช้เวลานานกว่าสิบปี โดยในช่วงท้ายก่อนเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ปริมาณเชื้อ HIV ในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ระดับเม็ดเลือดขาวจะลดต่ำลงอย่างมาก และอาจมีการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสร่วมด้วย

การรักษาเมื่อติดเชื้อ HIV ระยะที่ 2

การรับประทานยาต้านไวรัสหลายชุด (Antiretroviral Therapy) อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของคุณหมอ จะช่วยให้การติดเชื้อ HIV ยังคงอยู่ในระยะที่ 2 ได้เป็นสิบ ๆ ปีโดยไม่พัฒนาเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันซ่อมแซมตัวเอง และช่วยไม่ให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสียหายยิ่งขึ้น จึงทำให้สามารถป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

ทั้งนี้ เชื้อ HIV เป็นเชื้อที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและอาจดื้อยาได้ง่าย จึงจำเป็นต้องรับประทานยาหลายชนิดเพื่อให้ยาสามารถต้านไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้ารับการรักษาการติดเชื้อ HIV และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะมีปริมาณไวรัสน้อยลงจนตรวจไม่พบ (Undetectable HIV viral load) แต่ไม่ได้หมายความว่าไวรัสหายไปแล้วอย่างถาวร เพราะไวรัสอาจไปหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ต่อมน้ำเหลือง หากหยุดรักษา เชื้อ HIV จะออกมาจากที่ซ่อนและไหลกลับเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ติดเชื้อ HIV จึงต้องรับประทานยาไม่ให้ขาดเพื่อกดไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก

โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 ที่รับประทานยาต้านไวรัสทุกวันอาจอยู่ในระยะนี้ไปตลอดชีวิตโดยไม่เข้าสู่ระยะโรคเอดส์เลย และอาจมีชีวิตยืนนานใกล้เคียงกับผู้ไม่ติดเชื้อ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และเข้าสู่ระยะโรคเอดส์แล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะจะเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย หากไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์ ผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะโรคเอดส์อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเอดส์ระยะที่2

วิธีดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 ที่มักเรียกกันว่า โรคเอดส์ระยะที่2 หรือในระยะอื่น ๆ อาจทำได้ดังต่อไปนี้

  • รับประทานยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ตระกูลส้ม ที่มีสารอนุมูลอิสระซึ่งดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อไก่ไม่ติดมันและหนัง ไข่ไก่ โยเกิร์ต ชีส ที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
  • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่เพียง 2-3 มื้อ ในแต่ละวัน อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ที่เป็นผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากทำให้ร่างกายตอบสนองต่อยาต้านไวรัสได้น้อยลง และส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างมะเร็ง วัณโรคปอด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการติดเชื้อเข้าสู่ระยะโรคเอดส์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HIV and AIDS. https://www.nhs.uk/conditions/hiv-and-aids/treatment/. Accessed March 3, 2023

Eat Right When You Have HIV. https://www.webmd.com/hiv-aids/features/hiv-what-to-eat. Accessed March 3, 2023

What are the symptoms of HIV & AIDS?. https://www.plannedparenthood.org/learn/stds-hiv-safer-sex/hiv-aids/what-are-symptoms-hivaids. Accessed March 3, 2023

HIV/AIDS. https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/hiv-aids#:~:text=For%20people%20living%20with%20HIV,15%20years%2C%20but%20sometimes%20longer. Accessed March 3, 2023

HIV infection and AIDS. https://www.healthdirect.gov.au/hiv-infection-and-aids. Accessed March 3, 2023

What is AIDS?. https://www.cdc.gov/hiv/basics/livingwithhiv/opportunisticinfections.html. Accessed March 3, 2023

What is HIV?. https://www.cdc.gov/hiv/basics/syndication-test.html. Accessed March 3, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นแดง เอดส์ เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร

ลิ้นคนเป็นเอดส์ มีลักษณะอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา