ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย คือสภาวะที่ร่างกาย และจิตใจไม่มีความต้องการทางเพศ และไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากการกระตุ้นทางเพศของตัวเอง หรือบุคคลอื่น จากการสำรวจในผู้ชายพบความผิดปกติประมาณ 31% ของการสำรวจที่มีปัญหาทางเพศ ซึ่งสามารถพบได้ในทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น
[embed-health-tool-bmr]
ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย ที่พบได้บ่อย
ปัญหาความบกพร่องทางเพศของผู้ชายที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่
- ความต้องการทางเพศลดลง ขาดความสนใจ ไม่มีความคิด หรือความปรารถนาในการมีเพศสัมพันธ์ และกิจกรรมทางเพศ อาจมีปัจจัยทางด้านร่างกาย เช่น ความบกพร่องทางฮอร์โมนเพศหรือฮอร์โมนทางเพศต่ำ โรคอ้วนที่อาจส่งผลให้ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยด้านจิตใจที่อาจมีปัญหาภาวะซึมเศร้า เครียด ที่ไปบั่นทอนความต้องการทางเพศ
- การถึงจุดสุดยอดเร็วเกินไป เป็นความบกพร่องทางเพศ เมื่อถึงจุดสุดยอด หรือหลั่งอสุจิออกมาเร็วกว่าที่ต้องการ
- การไปไม่ถึงจุดสุดยอด ไม่สามารถหลั่งอสุจิออกมาได้หลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางเพศ หรือเรียกอีกอย่างว่าการไม่สำเร็จความใคร่
- การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่สามารถทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัวหรือเพียงพอต่อการมีเพศสัมพันธ์ หรือนกเขาไม่ขัน ซึ่งปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในทางเพศได้
- การมีโรคที่ผิดปกติทางเพศ เช่น โรคเพโรนีย์ (Peyronie’s disease) หรืออวัยวะเพศโค้งงอ ที่มีภาวะผังผืดเกาะบริเวณองคชาต บางครั้งอาจทำให้เกิดการเจ็บที่อวัยวะเพศได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจส่งผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
อาการความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย
อาการของความบกพร่องทางเพศของผู้ชายที่อาจสามารถสังเกตได้ เช่น
- มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ไม่ว่าจะมีสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้าก็ยังไม่สามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้
- ความต้องการทางเพศที่ลดลง รู้สึกไม่มีความคิดหรือปรารถนาต่อกิจกรรมทางเพศ
- การหลั่งเร็วหรือช้าเกินไป สิ่งนี้ก็อาจเป็นหนึ่งในอาการของความบกพร่องทางเพศ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย อาจเกิดจากปัญหาทางด้านสุขภาพ จิตใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในร่างกายอาจจะลดต่ำลง ซึ่งเมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์อาจต้องใช้การกระตุ้นมากขึ้น หรือนานขึ้นเพื่อให้เกิดการตื่นตัว
- สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นประจำ โดยเฉพาะบุคคลที่สูบบุหรี่อาจมีคราบพลัคสะสมในหลอดเลือดแดง ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังเส้นเลือดและหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดปัญหาระบบไหลเวียนเลือดได้ และส่งผลให้นำไปสู่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ อีกด้วย
- รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาความดันโลหิตสูง
- ปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ อาจมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงขณะมีกิจกรรมทางเพศ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ รวมไปถึง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ที่อาจมีปัจจัยทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
- ปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ก็สามารถส่งผลต่อกิจกรรมทางเพศได้ เนื่องจากอาจมีความคิดบางอย่าง เช่น ควรทำอย่างไรบ้างขณะมีเพศสัมพันธ์ กลัวการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ มีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงประสบการณ์ที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อจิตใจ