backup og meta

เพศสัมพันธ์ กับความเชื่อผิด ๆ ที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/10/2023

    เพศสัมพันธ์ กับความเชื่อผิด ๆ ที่ควรรู้

    เพศสัมพันธ์ อาจเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของคนในสังคมอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การหลั่งอสุจินอกร่างกายคู่นอน การสวนล้างช่องคลอดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ การศึกษาเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคติดต่อ หรือการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้

    ความเชื่อและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เพศสัมพันธ์

    ความเชื่อเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่แพร่หลายอยู่ในสังคม มีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

    ความเชื่อ: เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) สามารถแพร่ผ่านสารคัดหลั่งใดก็ได้

    ความจริง: เชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ สามารถแพร่เชื้อผ่านน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น เลือด น้ำนม และสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเท่านั้น โดยไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่งอื่น ๆ อย่างน้ำตา น้ำลาย เหงื่อ หรือปัสสาวะได้

    ความเชื่อ: มีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งนอก ไม่ทำให้ตั้งครรภ์

    ความจริง: ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หากอวัยวะเพศชายสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด น้ำหล่อหลื่นและน้ำอสุจิบางส่วนจากระบบสืบพันธุ์เพศชาย จะถูกขับออกทางองคชาตตั้งแต่ก่อนถึงจุดสุดยอด ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งนอกก็อาจสามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ โดยมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากถึง 22%

    ความเชื่อ: เพศสัมพันธ์ ครั้งแรกไม่ทำให้ตั้งครรภ์

    ความจริง: หากเพศหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือมีประจำเดือนแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะหากตัวอสุจิเข้าไปในช่องคลอดในขณะที่ฝ่ายหญิงอยู่ในช่วงไข่ตกพอดี

    ความเชื่อ: เพศหญิงจะไม่ตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน

    ความจริง: ผู้หญิงที่มีรอบเดือนสั้น หรือระหว่าง 21-24 วัน เมื่อเป็นประจำเดือน ร่างกายจะตกไข่ฟองใหม่ภายใน 4-5 วันนับจากวันแรกที่มีประจำเดือน และหากมีเพศสัมพันธ์ในวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน อสุจิซึ่งมีชีวิตอยู่ในร่างกายของเพศหญิงได้นานถึง 5 วัน จะสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ที่ตกระหว่างเป็นประจำเดือน และอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ หากต้องการคุมกำเนิด แนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วม เช่น การสวมถุงยางอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

    ความเชื่อ: เพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะมีเลือดออกทางช่องคลอด พราะการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี

    ความจริง: เยื่อพรหมจารีของเพศหญิงสามารถฉีกขาดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกได้ จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด การช่วยตัวเอง การปั่นจักรยาน นอกจากนี้ การฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี ไม่ว่าจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ อาจไม่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออก

    ความเชื่อ: การสวนล้างช่องคลอดช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ได้

    ความจริง: การสวนล้างช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจไม่ช่วยกำจัดอสุจิออกจากช่องคลอดหรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้ เพราะอสุจิเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วมาก และอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ไข่ที่ตกอยู่ในร่างกายของเพศหญิงตั้งแต่ก่อนสวนล้างช่องคลอดแล้ว

    ความเชื่อ: การกำจัดขนหัวหน่าวเป็นเรื่องดี

    ความจริง: การกำจัดขนหัวหน่าวไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อสุขภาพ ซ้ำยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพราะขนหัวหน่าวมีหน้าที่ช่วยป้องกันและดักจับเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย

    มีเพศสัมพันธ์ อย่างปลอดภัย ทำอย่างไร

    การมี เพศสัมพันธ์ อย่างปลอดภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น หนองใน หนองในแท้ ซิฟิลิส การติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ ถุงยางอนามัยที่ใช้ควรอยู่ในสภาพดี ไม่หมดอายุ ปราศจากรูรั่ว ไม่แข็ง หรือสัมผัสแล้วเหนียวเหนอะมือ
    • เลือกใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลัก อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ถุงยางอนามัยขาดง่ายขึ้น
    • สำหรับเพศชาย ถุงยางอนามัยควรใช้ครั้งละ 1 ชิ้น เพราะการสวมถุงยางอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ถุงยางเสียดสีกันและอาจขาดง่ายกว่าปกติ และควรใส่ให้ถูกวิธี
    • หากต้องการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้เซ็กส์ทอย ควรเลือกใช้เซ็กซ์ทอยที่ไม่มีรูพรุน รอยขรุขระ หรือรอยแตกเพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและทำความสะอาดยาก ทั้งนี้ ก่อนและหลังใช้เซ็กส์ทอยควรทำสะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรรีบรับประทานยาต้านไวรัสฉุกเฉิน หรือยาเพ็พ (Post-Exposure Prophylaxis หรือ PEP)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา