ตรวจ STD มีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเพศทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพทางเพศ เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน คู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถูกข่มขื่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น จึงควรเข้ารับการตรวจ STD อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคและการพัฒนาของโรคที่อาจรุนแรงขึ้น
[embed-health-tool-ovulation]
ตรวจ STD มีประโยชน์อย่างไร
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease หรือ STD) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infection หรือ STI) ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียหรือปรสิต จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยอาจแพร่กระจายจากคนสู่คนจากการสัมผัสเลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอดและของเหลวอื่น ๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อยังอาจแพร่กระจายได้จากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้อีกด้วย
การตรวจ STD จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ดังนี้
- ช่วยให้สามารถรู้ตัวได้ทันและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถช่วยหยุดการแพร่กระจายหรือการพัฒนาของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อไปสู่คู่รัก
- ช่วยปกป้องภาวะเจริญพันธุ์ เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากในอนาคตได้
- ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์
ตรวจ STD มีอะไรบ้าง
การตรวจ STD เป็นการตรวจหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจตรวจพบได้บ่อย มีดังนี้
- การติดเชื้อเอชไอวี
- โรคหนองใน และโรคหนองในเทียม
- โรคซิฟิลิส
- โรคเริม
- โรคมะเร็งปากมดลูก
- โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี
สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองสุขภาพทางเพศเพื่อหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาจมีดังนี้
- การตรวจเลือด สามารถตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงและยืนยันการวินิจฉัยของการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคซิฟิลิส และการอักเสบจากเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)
- ตรวจปัสสาวะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิดสามารถประเมินความเสี่ยงและยืนยันการวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจจากตัวอย่างปัสสาวะ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองใน
- ตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง คุณหมออาจเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอด มดลูก ทางเดินปัสสาวะ หรือทวารหนัก เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยประเภทของการติดเชื้อ
- การตรวจร่างกาย มักใช้ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแสดงออกทางร่างกาย เช่น แผลพุพอง สะเก็ดแผล คัน ผื่นแดง โดยคุณหมออาจตรวจอาการทางร่างกายภายนอกด้วยสายตา หรืออาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของโรค
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ปากมดลูกและการอักเสบที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมาที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มักตรวจในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปี
ผู้ที่ควรตรวจ STD คือใครบ้าง
ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์และมีปัจจัยต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจ STD เพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและผู้ที่มีอายุ 13-64 ปี ควรได้รับการตรวจเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตรวจบ่อยครั้งได้หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ของปากมดลูกและการอักเสบที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 3 ปี และหลังจากอายุ 30 ปี ควรตรวจหาเชื้อเอชพีวีและตรวจแปปสเมียร์ ทุก ๆ 5 ปี หรือผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 ปี สามารถตรวจแปปสเมียร์ เพียงอย่างเดียวทุก ๆ 3 ปี หรือการตรวจ HPV เพียงอย่างเดียวทุก ๆ 3 ปี
- ผู้หญิงที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ควรได้รับการตรวจโรคหนองในและหนองในเทียมปีละ 1 ครั้ง ผู้ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน คู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจหาโรคหนองในและหนองในเทียมปีละ 1 ครั้ง
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจหาซิฟิลิส เอชไอวี หนองในเทียม หนองใน ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ และอาจจำเป็นต้องทำการทดสอบซ้ำในบางกรณี เช่น เชื้อดื้อยา อาการกำเริบ
- กลุ่มชายรักชาย ควรได้รับการตรวจหาซิฟิลิส หนองในเทียม โรคหนองใน โรคตับอักเสบซีและเอชไอวี ปีละ 1 ครั้ง สำหรับผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคนควรตรวจบ่อยขึ้น โดยอาจตรวจทุก ๆ 3 เดือน หรือทุก ๆ 6 เดือน
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทางทวารหนัก ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพลำคอและทวารหนัก
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน คู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์ทางปาก ถูกข่มขืน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น จึงควรเข้ารับการตรวจหาซิฟิลิส โรคหนองใน หนองในเทียม และเริมทันทีหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี