ต่อมบาร์โธลินอักเสบ คือภาวะการอุดตันของต่อมบาร์โธลิน ซึ่งเป็นต่อมขนาดเล็กที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดทั้ง 2 ด้าน มีหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่นบริเวณปากช่องคลอดและภายในช่องคลอด เพื่อช่วยป้องกันอาการเจ็บปวดจากเนื้อเยื่อช่องคลอดถูกเสียดสีระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ หากต่อมบาร์โธลินอุดตัน จะส่งผลให้มีอาการบวมและอักเสบ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณปากช่องคลอด และเคลื่อนไหวไม่สะดวก อีกทั้งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอในทันที
[embed-health-tool-ovulation]
ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เกิดจากอะไร
ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เกิดจากจากอุดตันของต่อมบาร์โธลิน ทำให้มีของเหลวสะสม และส่งผลให้มีอาการต่อมขยายใหญ่ บวม และอักเสบ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น อีโคไล (E.coli) ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) คลาไมเดีย (Chlamydia) สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) และฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา (Hemophilus influenza) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม พบได้มากในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป
อาการของต่อมบาร์โธลินอักเสบ
อาการของต่อมบาร์โธลินอักเสบ มีดังนี้
- ต่อมบาร์โธลินขยายใหญ่เกิน 1 นิ้ว
- รู้สึกไม่สบายตัวขณะเคลื่อนไหว นั่ง หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- รู้สึกเหมือนมีของเหลวไหลออกจากต่อมหรือบริเวณปากช่องคลอด
- บางคนอาจมีอาการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดในบริเวณต่อมบาร์โธลิน
หากรู้สึกถึงอาการเจ็บปวดบริเวณปากช่องคลอด หรือรู้สึกมีก้อนขนาดใหญ่ในบริเวณอวัยวะเพศ ที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก ควรพบคุณหมอเพื่อตรวจคัดกรองทันที เพราะบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงต่อมบาร์โธลินอักเสบ
ปัจจัยเสี่ยงต่อมบาร์โธลินอักเสบ มีดังนี้
- ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นภาวะต่อมบาร์โธลินอักเสบมาก่อน
- ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดช่องคลอด ที่อาจส่งผลกระทบต่อต่อมบาร์โธลิน
- การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่อาจกระทบต่อช่องคลอด และต่อมบาร์โธลิน
วิธีการรักษาต่อมบาร์โธลินอักเสบ
วิธีการรักษาต่อมบาร์โธลินอักเสบ มีดังนี้
- แช่น้ำอุ่น การแช่น้ำในอ่างน้ำอุ่น วันละหลาย ๆ ครั้ง หรืออย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-4 วัน อาจช่วยให้ของเหลวที่อุดตันอยู่ระบายออกได้เอง และทำให้อาการอักเสบของต่อมบาร์โธลินลดลง
- ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ต่อมบาร์โธลินมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้เข็มเจาะ คุณหมออาจทำความสะอาดรอบ ๆ ช่องคลอดด้วยแอลกอฮอล์ 70% เป็นเวลา 2-3 นาที เพื่อลดความเสี่ยงแบคทีเรียเข้าสู่บาดแผลก่อนจะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะต่อมบาร์โธลินเพื่อระบายของเหลวที่สะสมอยู่ออก
- เลเซอร์ เป็นการใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงเจาะในต่อมบาร์โธลิน เพื่อเปิดช่องระบายของเหลวออก
- ใส่สายสวน เพื่อระบายของเหลวที่สะสมอยู่ในต่อมบาร์โธลินออก โดยการกรีดต่อมบาร์โธลิน แล้วใส่สายยางขนาดเล็กเข้าไป เพื่อระบายของเหลวภายใน วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการต่อมบาร์โธลินบวม ขนาดใหญ่และมีการติดเชื้อ
- ผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ คุณหมออาจจำเป็นต้องผ่าตัดต่อมบาร์โธลินออกทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมบาร์โธลินอักเสบและติดเชื้อรุนแรง
การป้องกันต่อมบาร์โธลินอักเสบ
ภาวะต่อมบาร์โธลินอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีวิธีลดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะต่อมบาร์โธลินอักเสบได้ ดังนี้
- การรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างเหมาะสม
- หลังจากขับถ่าย ควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศ แล้วซับให้แห้ง โดยซับจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนัก
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์