backup og meta

ทำหมันชาย ข้อดี ข้อเสีย และวิธีแก้หมัน

ทำหมันชาย ข้อดี ข้อเสีย และวิธีแก้หมัน

ทำหมันชาย หมายถึง การคุมกำเนิดถาวรในผู้ชาย ด้วยการตัดหรือผูกท่อนำอสุจิ เพื่อไม่ให้อสุจิซึ่งโตเต็มที่แล้วถูกส่งออกนอกร่างกายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิง จนทำให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยปกติ การทำหมันชายมีโอกาสสำเร็จสูง จึงเหมาะกับผู้ชายซึ่งมีบุตรเพียงพอแล้วหรือไม่ต้องการมีบุตร ในกรณีอยากมีบุตรอีกครั้ง สามารถแก้หมันได้ แต่โอกาสสำเร็จค่อนข้างต่ำ ดังนั้น หากมีความประสงค์ที่จะทำหมันชาย ควรศึกษาข้อดี ข้อเสีย และพิจารณาให้ดีเสียก่อน

ประเภทของการทำหมันชาย

การทำหมันชาย อาจใช้เวลาราว 10-30 นาที โดยวิธีการทำหมันแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

  • ทำหมันแบบดั้งเดิม คือ การผ่าตัดโดยใช้มีดกรีดบริเวณถุงอัณฑะของคนไข้ ภายใต้ฤทธิ์ยาชาเพื่อหาหลอดนำอสุจิทั้ง 2 ข้างแล้วตัดหรือปิดผนึก ก่อนเย็บปิดแผล
  • ทำหมันเจาะ คือ การผ่าตัดภายใต้ฤทธิ์ยาชาเช่นเดียวกับการทำหมันแบบดั้งเดิม ไม่ใช้มีดผ่าตัด แต่เป็นการใช้เครื่องมือขนาดเล็กเฉพาะทางการแพทย์เจาะผ่านผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะเข้าไปในร่างกายเพื่อผูกหรือตัดหลอดนำอสุจิโดยใช้ความร้อน แผลจะเล็กกว่าการทำหมันแบบดั้งเดิม ไม่ต้องเย็บปิดแผลภายนอก และใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า

ทั้งนี้ ในการปิดผนึกหลอดนำอสุจิ นอกจากการผูกด้วยมือหรือจี้ด้วยความร้อน คุณหมออาจเลือกใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งเรียกว่า Surgical Clips หรือใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการผ่าตัดทำหมัน

เมื่อไรจึงทราบว่าทำหมันชายสำเร็จ

การทำหมันชายอาจจะไม่ได้ผลทันที ผู้ที่ทำหมันแล้วจำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลา 1-3 เดือนหลังผ่าตัด หรือจนกว่าจะถึงเวลาที่คุณหมอนัดตรวจตัวอย่างน้ำเชื้อ

โดยในการตรวจ คุณหมอจะให้หลั่งน้ำเชื้อใส่ภาชนะ เพื่อนำไปตรวจดูว่ายังมีตัวอสุจิหลงเหลืออยู่หรือไม่ หากไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ แสดงว่าการทำหมันสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อีกต่อไป ทั้งนี้ การทำหมันไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

สำหรับชายซึ่งทำหมันแล้ว แต่ยังพบอสุจิในน้ำเชื้อ คุณหมอจะนัดให้เข้ามาตรวจอีกครั้ง และควรหมั่นตรวจหมันเป็นประจำทุก 1 ปี เพราะหมันอาจหลุดได้ แต่เป็นกรณีที่พบได้ค่อนข้างยาก

ข้อดีของการทำหมันชาย

  • โอกาสสำเร็จสูง หรือราว 99 เปอร์เซ็นต์
  • ไม่มีผลกระทบในระยะยาว
  • ไม่มีผลกระทบต่อฮอร์โมนหรือความต้องการทางเพศ
  • ทำได้ง่ายกว่าการทำหมันหญิง

ข้อเสียของการทำหมันชาย

  • สามารถติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • อาจกังวลกลัวว่าความต้องการทางเพศลดลง หรือเสี่ยงเป็นโรค ทั้งที่ไม่เป็นความจริง
  • อาจมีอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อาทิ ปวดอัณฑะ ติดเชื้อทำให้แผลอักเสบ
  • หลอดนำอสุจิของผู้ชายซึ่งทำหมันแล้วกลับมาต่อกันเอง ทำให้มีบุตรโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม กรณีแบบนี้พบได้น้อยมาก

การแก้หมันชาย

การแก้หมันชาย คือการผ่าตัดแก้ไขหมัน โดยการแก้หมันที่ผูกหรือตัดไว้ออกเพื่อให้อสุจิสามารถถูกส่งไปยังกระเปาะพักเชื้อ เพื่อรอปล่อยงออกไปนอกร่างกายขณะมีเพศสัมพันธ์ สามารถเคลื่อนตัวไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงจนเกิดการตั้งครรภ์ได้

อย่างไรก็ตาม โอกาสแก้หมันสำเร็จนั้นน้อยกว่าการทำหมัน เมื่อไปขอรับการแก้หมันที่โรงพยาบาล คุณหมอจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ก่อนอนุญาตให้ผ่าตัดแก้หมัน ดังนี้

  • สุขภาพร่างกายของผู้แก้หมัน ร่างกายต้องไม่มีความผิดปกติ หรือมีภาวะของโรคที่จะทำให้การผ่าตัดเสี่ยงล้มเหลว
  • ความสามารถในการผลิตอสุจิที่แข็งแรง หากเคยมีลูกแล้วถือได้ว่ามีความสามารถในการผลิตอสุจิที่แข็งแรง คุณหมออาจจะอนุญาตให้แก้หมันได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อาทิ อายุ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหาร ความถี่ในการออกกำลังกาย ซึ่งมีผลให้ความสามารถในการผลิตอสุจิที่แข็งแรงลดลงได้
  • ความพร้อมในการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง คุณหมอจะต้องตรวจทางนรีเวชเพื่อดูความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ฝ่ายหญิงร่วมด้วย รวมทั้งพิจารณาอายุของฝ่ายหญิงเพราะหากอายุ 40 ปี ขึ้นไปโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงหรือเสี่ยงปัญหาอื่น ๆ คุณหมออาจให้พิจารณาเรื่องการแก้หมันก่อนตัดสินใจ

ขั้นตอนการแก้หมันชาย

การผ่าตัดแก้หมัน จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง อันดับแรก คุณหมอจะให้คนไข้ดมยาสลบก่อน เสร็จแล้วจะกรีดถุงอัณฑะทั้ง 2 ข้าง จากนั้นส่องกล้องจุลทรรศน์สำหรับการผ่าตัดเข้าไปในร่างกายคนไข้ เพื่อมองหาท่อนำอสุจิที่ผูกหรือตัดไว้ เมื่อเจอแล้ว คุณหมอจะต่อท่อนำอสุจิด้วยการเย็บเชื่อมท่อทั้ง 2 ด้านเข้าด้วยกัน (Vasovasostomy) หรือเย็บต่อท่อนำอสุจิเข้ากับหลอดเก็บตัวอสุจิโดยตรง (Vasoepididymostomy) ทั้งนี้ คุณหมอจะเลือกวิธีที่ 2 ต่อเมื่อพบว่าไม่สามารถต่อท่อนำอสุจิด้วยวิธีแรกได้

เมื่อไรจึงทราบว่าแก้หมันชายสำเร็จ

การแก้หมันไม่สามารถทราบผลได้ในทันทีคุณหมอจะนัดตรวจจำนวนอสุจิในตัวอย่างน้ำเชื้อเป็นระยะ ปกติหลังจากแก้หมันไปแล้ว 2-3 เดือน

อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวอสุจิในน้ำเชื้ออาจใช้เวลามากกว่านั้น หรือเกินกว่า 6 เดือนจึงจะกลับมามีปริมาณเท่าเดิม โดยขึ้นกับปัจจัยหลาย ๆ ประการ เช่น อาหารการกิน พันธุกรรม ภาวะสุขภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vasectomy reversal. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/vasectomy-reversal/about/pac-20384537#:~:text=Vasectomy%20reversal%20is%20surgery%20to,to%20get%20your%20partner%20pregnant. Accessed February 18, 2022

การซักประวัติ และการตรวจทางนรีเวช. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/history-taking-and-physical-examination/. Accessed February 18, 2022

How Can You Reverse a Vasectomy?. https://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/guide/reversing-a-vasectomy. Accessed February 18, 2022

Vasectomy (male sterilisation). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/vasectomy-male-sterilisation/. Accessed February 18, 2022

Vasectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/vasectomy/about/pac-20384580. Accessed February 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/05/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำหมัน วิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชายและหญิง

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม และการทำหมันเป็นอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา