ปจด.มาไม่ปกติ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น เช่น ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมามากหรือมานาน ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนห่าง โดยสาเหตุของ ปจด.มาไม่ปกติ มักเกิดจากความเครียด ความอ้วน การคุมกำเนิด โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ รวมถึงความไม่สมดุลของฮอร์โมนและความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือระบบสืบพันธุ์
[embed-health-tool-ovulation]
ปจด. คืออะไร ปกติเป็นแบบไหน
ปจด. ย่อมาจาก ประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพของเพศหญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังตกไข่และไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกกลายเป็นเลือดไหลออกทางช่องคลอดเดือนละครั้ง
โดยทั่วไป เพศหญิงจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12-15 ปี และหยุดมีประจำเดือนเมื่อเข้าสู่วัยทอง หรือประมาณอายุ 45-55 ปี ซึ่งเกิดจากภาวะรังไข่หยุดทำงานโดยธรรมชาติ ทำให้ไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน และไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ประจำเดือนแต่ละรอบ จะเกิดห่างกันประมาณ 28 วัน อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนอาจมาเร็วหรือช้ากว่านั้น คือ อยู่ในช่วงระหว่าง 21-35 วัน โดยประจำเดือนแต่ละรอบจะมาติดต่อกันราว 3-7 วัน
อาการแบบไหนเข้าข่าย ปจด.มาไม่ปกติ
ปจด.มาไม่ปกติ หมายถึง การมีประจำเดือนที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น ซึ่งพบได้ในเพศหญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ได้แก่
- ประจำเดือนขาด (Amenorrhea) หรือบางครั้งเรียกว่า ประจำเดือนไม่มา หมายถึง การขาดประจำเดือนติดต่อกันตั้งแต่ 3 รอบขึ้นไป ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการไม่เคยมีประจำเดือนเลย ในกรณีของวัยรุ่นที่อายุ 16 ปีแล้ว
- ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia) คือการเป็นประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน หรือมีเลือดออกมากกว่าปกติ โดยสังเกตได้จากการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ทั้งนี้ เมื่อประจำเดือนมามาก อาจพบลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดออกมาพร้อมกับประจำเดือนด้วย
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia) ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอในแต่ละรอบเดือน
- ประจำเดือนห่าง (Oligomenorrhea) หรือมีประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วันในแต่ละรอบ และใน 1 ปี มีประจำเดือนเพียง 4-9 ครั้งเท่านั้น
- ประจำเดือนมาบ่อย (Polymenorrhea) คือการมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน
- ประจำเดือนเลื่อน (Delayed period) คือ การที่ประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำทุก ๆ 21-35 วัน มาเร็วหรือช้ากว่ารอบเดือนก่อนหน้าเกิน 7 วัน
- ประจำเดือนหลังวัยทอง (Postmenopausal bleeding) เข้าสู่วัยทองแล้วแต่กลับมามีประจำเดือนหลังประจำเดือนหยุดไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปี
ปจด.มาไม่ปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง
ความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับประจำเดือน สามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โทนเดี่ยวโปรเจสเตอโรน เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด หรือ ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนไม่สามารถรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนได้ เลยมักทำให้ไม่มีประจำเดือน หลังจากหยุดใช้ยา อาจทำให้ปจด.มาไม่ปกติเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
- การให้นมบุตร เนื่องจากขณะให้นมบุตร ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการมีประจำเดือน ทำให้ ปจด.มาไม่ปกติในหญิงให้นมบุตรบางราย
- การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนในเพศหญิง เป็นสาเหตุหนึ่งของประจำเดือนมามากและประจำเดือนขาด ทั้งนี้ การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ อาจเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคถุงน้้ำในรังไข่หลายใบ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีประจำเดือนน้อยว่า 9 ครั้งใน 1 ปี และรอบประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วัน
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคบูลิเมีย เนอโวซา (Bulimia Nervosa) หรือการล้วงคอให้อาเจียนหลังรับประทานอาหาร สามารถทำให้ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงทำงานผิดปกติ และส่งผลต่อปริมาณหรือความถี่ของการเป็นประจำเดือนได้
- วัยทอง ก่อนเข้าสู่วัยทอง การทำงานของรังไข่อาจมีความผิดปกติ ทำให้ผู้หญิงเป็นประจำเดือนในปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ รวมถึงอาจมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนถึง 60 วัน หรือประจำเดือนไม่มาในบางเดือน
- เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ เป็นสาเหตุหนึ่งของการมีประจำเดือนปริมาณมากผิดปกติ โดยปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด อาจพบเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูก เช่น บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง
- ความเครียด ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) แล้วส่งผลให้ประจำเดือนขาด มาช้า หรือมาน้อยกว่าปกติได้ ทั้งนี้ นอกจากความเครียด ร่างกายยังหลั่งคอร์ติซอลออกมาได้หากออกกำลังกายหักโหม หรือป่วยเป็นกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome)
- เนื้องอกบริเวณมดลูก เนื้องอกที่อาจพบหนึ่งก้อนหรือหลายก้อนบริเวณผนังมดลูก หรือในโพรงมดลูก ทั้งนี้ เนื้องอกบริเวณมดลูก อาจเป็นสาเหตุของประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมานานกว่าปกติ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
นอกจากนี้ ปจด.มาไม่ปกติ ยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- มะเร็งโพรงมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก
- การใช้ยาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ
ปจด.มาไม่ปกติ แบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาประจำเดือนหรือระบบสืบพันธุ์
- พบอาการปวดรุนแรงระหว่างมีประจำเดือน หรือระหว่างรอบประจำเดือน
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- ปริมาณประจำเดือนมากผิดปกติ
- เป็นประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน
- ประจำเดือนขาดติดต่อกันเกิน 3 รอบเดือน
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดหลังเข้าสู่วัยทองแล้ว
วิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยง ปจด.มาไม่ปกติ
การลดโอกาสเป็นปจด.มาไม่ปกติ สามารถทำได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ไม่หักโหมเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดความเครียด
- ใช้ยาคุมกำเนิดตามคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างกล่อง หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ไปพบคุณหมอสม่ำเสมอ เพื่อตรวจภายในอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี จะได้ทราบถึงภาวะสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง หากพบความผิดปกติ จะได้รักษาทันท่วงที