ประจำเดือนไม่มา2เดือน เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น เช่น วัยหมดประจำเดือน ความเครียด ความผิดปกติของฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิด ซึ่งภาวะประจำเดือนขาดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีบุตรยากและกระดูกพรุน การรักษาสาเหตุหลักของภาวะประจำเดือนขาดอาจลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนได้
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุที่ประจําเดือนไม่มา2เดือน
ประจำเดือนไม่มา2เดือน จัดเป็นภาวะประจำเดือนขาด (Amenorrhea) ภาวะนี้เกิดจากรังไข่หลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนในกระบวนการผลิตไข่และเตรียมตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การตั้งครรภ์
ประจำเดือนจะหยุดไปในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากไม่มีการตกไข่ คือ รังไข่ไม่ปล่อยไข่ออกมา แต่ในบางรายอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยระหว่างตั้งครรภ์ เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากเลือดออกมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ ควรพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ทันที
- การให้นมลูก
อาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงบางคน ประจำเดือนจะขาดหายไปจนกว่าจะสิ้นสุดช่วงเวลาให้นมบุตร หรือบางคนประจำเดือนอาจกลับมาภายใน 2-3 เดือนหลังคลอด
- วัยหมดประจำเดือน
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คือ ประมาณช่วงอายุ 40-51 ปี แต่บางคนอาจเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี เรียกว่า วัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร หรือวัยทองก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจมาพร้อมกับอาการร้อนวูบวาบได้
- การใช้ยาคุมกำเนิด
หากรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีด หลังจากยาคุมกำเนิดหมดฤทธิ์หรือเลิกรับประทานยา อาจต้องรอประมาณ 2-3 เดือน กว่าประจำเดือนรอบใหม่จะกลับมาอีกครั้ง หรือในบางคนอาจต้องรอนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของฮอร์โมนในร่างกาย
- น้ำหนัก
น้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงฮวบฮาบ อาจทำให้ร่างกายมีสารอาหารไม่พอไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดหายไป
- ความเครียด
ความเครียดที่รุนแรงเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ อาจทำให้สมองไม่ส่งสัญญาณเพื่อผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการตกไข่ หรือฮอร์โมนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน จนทำให้ประจำเดือนขาดได้
- ปัญหาฮอร์โมน
ความผิดปกติของฮอร์โมนที่อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา เช่น
- ภาวะระดับโปรแลคตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia) อาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอกไม่ร้ายในสมอง เรียกว่า โปรแลกติโนมา (Prolactinoma)
- ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการมีประจำเดือน หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป (Hyperthyroidism) หรือน้อยเกินไป (Hypothyroidism) ก็อาจส่งผลต่อการมีประจำเดือนได้
- โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ที่อยู่ในกระบวนการสังเคราะห์ฮอร์โมน (Congenital adrenal hyperplasia) เป็นภาวะสืบทอดทางพันธุกรรมที่พบน้อย อาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
ผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือในบางคน ประจำเดือนอาจขาดหาย รวมทั้งอาจทำให้ลดน้ำหนักยาก มีสิวและขนขึ้นตามร่างกาย
- ยาและการรักษาโรค
การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลต่อประจำเดือนได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้ปวดชนิดรุนแรงที่มีส่วนผสมของฝิ่น ยาเมโคลโทพราเดียม (Metoclopramide)
การรักษาพยาบาลบางประการก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ เช่น การผ่าตัดมดลูกออก จะทำให้ไม่มีประจำเดือนอีกเลย การผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) จะทำให้ประจำเดือนขาดหายไปช่วงหนึ่ง นอกจากนี้ การรักษาโรคมะเร็ง เช่น เคมีบำบัด ฉายรังสี อาจทำลายรังไข่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เช่นกัน
ผลข้างเคียงเมื่อ ประจําเดือนไม่มา2เดือน
ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- ภาวะมีบุตรยาก การไม่มีประจำเดือนหมายความว่ารังไข่ไม่ผลิตไข่ จึงไม่สามารถปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้
- โรคกระดูกพรุน ประจำเดือนขาดเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรง เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ จึงทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนหรือแตกหักง่าย
การรักษาประจำเดือนไม่มา2เดือน
หากประจำเดือนไม่มา2เดือนหรือมากกว่านั้น ควรรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ เนื่องจากอาจเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว หรืออาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวมได้
การรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา จึงจำเป็นต้องระบุสาเหตุของอาการให้ได้ก่อน เมื่อรักษาสาเหตุหลักจนหายดีแล้ว ประจำเดือนอาจกลับมาเป็นปกติ ตัวอย่างเช่น
- หากประจำเดือนขาดเพราะฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมออาจรักษาด้วยฮอร์โมนเสริม เพื่อช่วยปรับฮอร์โมน เช่น บำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนสำหรับวัยหมดประจำเดือน ยาคุมกำเนิด ยาต้านแอนโดรเจน
- หากประจำเดือนขาดเพราะน้ำหนักตัวเกินหรือน้อยเกินเกณฑ์ คุณหมออาจแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนัก ด้วยการเปลี่ยนกิจวัตรการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น