ปวดท้องประจำเดือน เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนประจำเดือนมาหรือระหว่างเป็นประจำเดือน โดยมีสาเหตุมาจากการที่กล้ามเนื้อมดลูกหดตัว เพื่อช่วยขับเลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่ตกค้างอยู่ให้ออกมา อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่ามีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง อาจบรรเทาอาการได้โดยการรับประทานยาแก้ปวด หรือนำถุงน้ำร้อนมาประคบบริเวณท้องน้อย หรือเข้าพบคุณหมอหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุที่ทำให้ ปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือน อาจเกิดจากสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่ผลิตขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่รอบเดือนออกฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัว เพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออก จึงส่งผลให้รู้สึกปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย และยิ่งมีระดับสารพรอสตาแกลนดินส์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้รู้สึกปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ปวดท้องประจำเดือน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ปวดท้องประจำเดือน มีดังนี้
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนมามาก
- เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย
- การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- มีประวัติปวดประจำเดือนมากในครอบครัว
- การมีประจำเดือนครั้งแรก
- การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
วิธีบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
วิธีบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน อาจทำได้ ดังนี้
- ประคบร้อน โดยการใช้ถุงน้ำร้อน หรือขวดใส่น้ำร้อนและห่อด้วยผ้า วางไว้บนหน้าท้องส่วนล่าง อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- นวดหน้าท้อง การนวดรอบ ๆ หน้าท้องส่วนล่างเบา ๆ อาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- ออกกำลังกาย เช่น การเดินช้า ๆ ปั่นจักรยาน โดยเฉพาะก่อนประจำเดือนมา อาจสามารถช่วยลดอาการปวดท้องได้ระหว่างที่เป็นประจำเดือน
- ลดความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น โยคะ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง อาจช่วยลดความเครียดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ปวดท้องเกร็งได้
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen sodium) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ โดยการลดระดับของสารพรอสตาแกลนดินส์ ที่เป็นสาเหตุทำให้มดลูกบีบตัวจนเกิดการปวดท้อง
- ยาคุมกำเนิด ในรูปแบบรับประทาน ฉีด หรือแบบแปะ มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจช่วยป้องกันการตกไข่และบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อน
อาการปวดท้องประจำเดือนแบบไหน ที่ควรพบคุณหมอ
โดยปกติแล้ว อาการปวดท้องประจำเดือนมักเริ่มมีอาการปวดก่อนประจำเดือนมา 1-3 วัน และอาจปวดมากสุดในวันที่ประจำเดือนมา 1-2 วันแรก ก่อนอาการจะทุเลาลงตามลำดับ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และปวดหลัง แขน ขาร่วมด้วย แต่หากสังเกตว่ามีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงในทุกรอบเดือน มีอาการปวดรุนแรงขึ้น ใช้ยาลดอาการปวดปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือปวดจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีเนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ