ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์หลายคนมีอาการผิดปกติทุกครั้งที่มีประจำเดือน เช่น ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน เป็นสิว อ่อนเพลีย ปวดหลัง แต่หลัก ๆ แล้ว อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อาการปวดท้องประจำเดือน และอาจสงสัยว่า ปวดท้องประจําเดือน วิธีแก้ ทำได้อย่างไรบ้าง โดยทั่วไป อาการนี้สามารถรับมือได้ด้วยการรับประทานยาบรรเทาปวด พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ ใช้ยาคุมกำเนิด เป็นต้น แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วยังมีอาการปวดท้องประจำเดือนแบบผิดปกติ เช่น ปวดมากจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ไปเรียนหรือทำงานไม่ไหว อาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละรอบเดือน หรือเพิ่งเริ่มปวดท้องประจำเดือนหลังอายุ 25 ปี ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจภายใน วินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
ปวดท้องประจําเดือน เกิดจาก อะไร
อาการปวดท้องประจำเดือน (Dysmenorrhoea) เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและขณะเป็นประจำเดือน เกิดจากกล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวเนื่องจากการกระตุ้นของฮอร์โมนที่แปรปรวนในช่วงเป็นประจำเดือน หากการหดรัดรุนแรงมากอาจไปกดทับหลอดเลือดที่อยู่โดยรอบ ทำให้มดลูกขาดเลือดเป็นเวลาสั้น ๆ จึงไม่มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงมดลูกตามปกติ ส่งผลให้รู้สึกปวดท้อง ร่วมกับมีอาการปวดบริเวณอื่น ๆ เช่น หลังส่วนล่าง อุ้งเชิงกราน ต้นขาด้านใน
ทั้งนี้ การปวดท้องประจำเดือนอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพได้เช่นกัน หากปวดท้องประจำเดือนรุนแรงผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากภาวะต่อไปนี้
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เป็นภาวะติดเชื้อของอวัยวะภายในระบบสืบพันธุ์ มักพบที่ท่อนำไข่ มดลูก รังไข่ และอาจแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ภาวะนี้อาจทำให้มีประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หนาวสั่น ปวดท้องตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง เจ็บขณะถ่ายปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งปกติแล้วจะเรียงตัวกันอยู่ภายในโพรงมดลูกไปเติบโตอยู่ภายนอกมดลูก เช่น ในรังไข่ ท่อนำไข่ ส่วนนอกของมดลูก ในช่องท้อง ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเสียหาย ส่งผลให้มีอาการปวดเกร็งขณะเป็นประจำเดือนจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ประจำเดือนมามาก ทั้งยังเสี่ยงต่อการมีบุตรยากด้วย
- เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids หรือ Myoma uteri) เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตราย แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้องอกขยายใหญ่เกินไป เนื้องอกมดลูกอาจทำให้ปวดท้องประจำเดือน และประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดท้องประจำเดือน
ผู้หญิงบางคนอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือน ดังนี้
- มีอายุน้อยกว่า 30 ปี
- เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็ว มีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 11 ปีหรือเร็วกว่านั้น
- ประจำเดือนมามากกว่าปกติ (Menorrhagia)
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- คนในครอบครัวมีอาการปวดท้องประจำเดือน
- สูบบุหรี่
อาการปวดท้องประจําเดือน
อาการปวดท้องประจําเดือนที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
- อาการปวดตุบ ๆ หรือปวดเกร็งบริเวณท้องส่วนล่าง
- อาการปวดท้องในช่วง 1-3 วันก่อนเป็นประจำเดือน อาจปวดรุนแรงที่สุดหลังจากประจำเดือนมา 24 ชั่วโมง และอาการอาจทุเลาภายใน 2-3 วัน
- อาการปวดที่ร้าวไปจนถึงหลังส่วนล่างและต้นขา
สำหรับผู้หญิงบางคน อาจมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
- มีอาการของภาวะก่อนประจำเดือน (PMS) เช่น คัดตึงเต้านม ท้องอืด
ปวดท้องประจําเดือน วิธีแก้ ทำได้อย่างไร
ปวดท้องประจำเดือน อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานยาบรรเทาปวดที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซนโซเดียม (Naproxen sodium) โดยอาจเริ่มรับประทานยาตั้งแต่วันแรกของการเป็นประจำเดือนในปริมาณที่เภสัชกรหรือคุณหมอแนะนำ และรับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน หรือจนกว่าอาการปวดจะหายไป
- ใช้ยาคุมกำเนิดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดแบบแปะ ยาคุมกำเนิดแบบฝัง ซึ่งมีฮอร์โมนช่วยยับยั้งการตกไข่ อาจลดความรุนแรงของอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนจากภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อหรือก้อนเนื้อที่ผิดปกติออกจากมดลูกหรือในบางกรณีอาจตัดมดลูกออกไปทั้งหมด ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่วางแผนว่าจะไม่มีบุตร
นอกจากนี้ เมื่อ ปวดท้องประจำเดือน วิธีแก้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพมากขึันดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
- ประคบบริเวณที่ปวดด้วยกระเป๋าน้ำร้อนประมาณ 3-5 นาที
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อให้ร่างกายมีของเหลวเพียงพอ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อได้
- ใช้วิตามินเสริมอาหาร เช่น วิตามินอี กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 แมกนีเซียม ที่อาจช่วยให้อาการปวดท้องประจำเดือนทุเลาลงได้
- จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม ด้วยการทำกิจกรรมที่สนใจในเวลาว่าง เล่นโยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ เป็นต้น