ปกติ ผู้หญิงจะมีรอบเดือน 21-35 วัน หรือเฉลี่ยประมาณ 28 วัน หาก รอบเดือนเกิน 35 วัน อาจเป็นภาวะผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ กลุ่มอาการคุชชิงโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น การรักษาภาวะรอบเดือนเกิน 35 วันสามารถทำได้ด้วยการรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นสาเหตุ เพื่อทำให้การทำงานของระบบสืบพันธุ์กลับมาทำงานเป็นปกติ
[embed-health-tool-ovulation]
รอบเดือนเกิน 35 วัน ผิดปกติหรือไม่
ตามปกติแล้ว ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนนานประมาณ 4-7 วัน และจะมีรอบเดือนประมาณ 21-35 วัน และมีรอบเดือนเฉลี่ยประมาณ 28 วัน ขึ้นอยู่กับอายุและภาวะสุขภาพด้วย ทั้งนี้ หากมีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือนเท่า ๆ กัน แสดงว่ารอบเดือนเป็นปกติ
สำหรับการมีรอบเดือนเกิน 35 วัน เรียกว่ารอบเดือนห่าง หรือรอบระดูห่าง (Oligomenorrhea) ทำให้ใน 1 ปีมีรอบเดือนน้อยลงและอาจมีประจำเดือนเพียง 4-9 ครั้งเท่านั้น ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนักในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ แต่ก็ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
รอบเดือนเกิน 35 วัน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
การมีรอบเดือนเกิน 35 วัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome หรือ PCOS) ถุงน้ำที่เกิดขึ้นแบบผิดปกติในรังไข่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงแปรปรวน และทำให้มีฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจน (Androgens) มากผิดปกติ จึงมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะมีอาการรอบเดือนเกิน 35 วัน ร่วมกับอาการที่แสดงลักษณะคล้ายเพศชาย เช่น มีขนดกบริเวณแขน ขา ขาหนีบ หน้ามัน สิวขึ้นง่าย
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนขาด ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีขนขึ้นดกตามตัว มีไขมันสะสมบริเวณใบหน้า หลังคอ ลำตัว และหน้ากลมผิดปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- เนื้องอกโปรแลคติโนมา (Prolactinoma) เป็นเนื้องอกของต่อมใต้สมองที่ไม่ได้เป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง แต่เป็นเนื้องอกชนิดที่สร้างฮอร์โมน ทำให้ร่างกายมีปริมาณโปรแลคติน (Prolactin) มากเกินไป ฮอร์โมนนี้ตามปกติแล้วจะกระตุ้นการผลิตและหลั่งน้ำนมหลังคลอดบุตร เมื่อมีฮอร์โมนโปรแลคตินในกระแสเลือดมากเกินไปจะส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนขาด มีรอบเดือนเกิน 35 วัน ไปจนถึงเกิดภาวะมีบุตรยากได้
- ภาวะบกพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไตแต่กำเนิด (Congenital Adrenal Hyperplasia หรือ CAH) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลกระทบต่อต่อมหมวกไต และทำให้มีเอ็นไซม์ที่จำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มีประจำเดือนเลย และมีปัญหาในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีลักษณะของผู้ชาย เช่น มีขนขึ้นใบหน้า เสียงทุ้มลึก
- โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease หรือ PID) เป็นภาวะที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการเด่นชัด แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงไม่เป็นประจำเดือน ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก ปวดท้องหน่วงตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่น
- ภาวะอาเชอร์แมนซินโดรม (Asherman’s syndrome) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) จนเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นหรือพังผืดในมดลูกหรือปากมดลูก ซึ่งอาจก่อปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ได้ และอาจทำให้มีความผิดปกติของรอบเดือน
- ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency หรือ POI) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อรังไข่ทำงานน้อยลงก่อนอายุ 40 ปี และเริ่มชะลอการปล่อยไข่และการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอรอน (Progesterone) ส่งผลให้เกิดปัญหาฮอร์โมนเสียสมดุล ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดหายไป และมักนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) หรือภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป ฮอร์โมนจึงเข้าไปสู่กระแสเลือดและส่งผลกระทบต่อรอบเดือนตามปกติ ทำให้ประจำเดือนฃมาน้อยลงและไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากเกินไป จนทำให้มีอาการอื่น ๆ เช่น ผอมลงแม้จะกินเยอะ เหงื่อออกมาก ผิวแห้ง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- โรคการกินผิดปกติ (Eating disorders) เช่น โรคบูลิเมีย (Bulimia) โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) โรคกินไม่หยุด (Binge Eating) อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม รวมไปถึงระบบสืบพันธุ์ และอาจทำให้มีรอบเดือนเกิน 35 วันได้
นอกจากนี้ รอบเดือนเกิน 35 วัน ยังอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้ได้ด้วย
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1
- มีเนื้องอกชนิดที่ปล่อยฮอร์โมนเพศชายในรังไข่หรือในต่อมใต้สมอง
- การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดหรือยาคุมกำเนิด
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคจิตเวท ยากันชัก
- การออกกำลังกายหักโหมเกินไป โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุยังน้อย
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีปัญหาเกี่ยวกับรอบเดือน ประจำเดือนผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้รอบเดือนกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด
- ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มาทุก ๆ 45 วัน มีประจำเดือนแต่ละครั้งห่างกันไม่ถึง 21 วัน
- ประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
- ประจำเดือนมานานเกิน 7 วัน
- ไม่มีประจำเดือนมานานกว่า 6 เดือนและไม่ได้ตั้งครรภ์
- ประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติหรือช้ากว่าปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
- มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน
- อายุ 16-17 ปีแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน
- มีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือชีพจรเต้นเร็วขณะเป็นประจำเดือน
- มีอาการปวดท้องรุนแรงในช่วงก่อนและระหว่างเป็นประจำเดือน
- รู้สึกไม่สบายหรือมีไข้กะทันหันเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
- อาการก่อนประจำเดือนผิดปกติอย่างมากจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ