ปวดท้องประจำเดือน เป็นอาการปวดท้องน้อยหรือบริเวณอุ้งเชิงกรานที่เกิดขึ้นขณะมีประจำเดือน มีลักษณะปวดบีบบริเวณท้องน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนหรือหลังเริ่มมีประจำเดือน อาการจะมากที่สุดในช่วงที่มีเลือดระดูออกมาก มักมีอาการอยู่ประมาณ 1 วัน แต่อาจพบมีอาการได้นานถึง 2-3 วัน พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ จนถึงวัยหมดประจำเดือน
ภาวะปวดท้องประจำเดือน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) และแบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) ภาวะปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิมีลักษณะปวดบีบบริเวณท้องน้อยในขณะมีประจำเดือนโดยที่ไม่มีพยาธิสภาพในช่องอุ้งเชิงกราน ในขณะที่ภาวะปวดท้องประจำเดือนทุติยภูมิเป็นการปวดที่เกิดจากพยาธิสภาพในช่องอุ้งเชิงกราน เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) นอกจากอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากทราบ วิธีแก้ปวดท้องประจำเดือน ที่เหมาะสม อาจช่วยบรรเทาอาการได้
[embed-health-tool-ovulation]
ประจำเดือน คืออะไร
ประจำเดือน คือ เลือดที่ไหลออกมาจากทางช่องคลอดทุกเดือนเมื่อถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุ 11-14 ปี และจะมีประจำเดือนต่อเนื่องไปจนถึงอายุประมาณ 45-55 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือที่เรียกว่าวัยทอง ทั้งนี้ ประจำเดือนปกติอาจมาประมาณ 3-5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน ยกเว้นในช่วงตั้งครรภ์ที่ผู้หญิงจะไม่มีประจำเดือน เมื่อมีประจำเดือน ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นประจำทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นอับ และป้องกันเชื้อโรคสะสมจนอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
อาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือน อาจส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนี้
อาการทางด้านร่างกาย
- เวียนศีรษะ มึนงง ปวดศีรษะ
- หน้าอกขยายใหญ่ขึ้นเล็กน้อย
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ท้องผูก หรือท้องเสีย
- ปวดท้องน้อย
- ปวดหลังส่วนล่าง
- ตะคริว
- คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย
อาการทางด้านจิตใจ
- หงุดหงิด หรือโมโหง่าย
- วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ
- อารมณ์แปรปรวน
- ความอยากอาหารเปลี่ยนไป อาจรับประทานมากขึ้น หรือน้อยลง
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ อาจนอนหลับมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
สาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือนอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เปลี่ยนแปลงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน อาจส่งผลให้ปวดท้องประจำเดือนได้
- เนื้องอกในมดลูก อาจเกิดขึ้นในเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องอกอาจมีขนาดเล็กระดับมิลลิเมตรไปจนถึงใหญ่ระดับหลายสิบเซนติเมตร ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เนื้องอกในเยื่อบุโพรงมดลูกอาจทำให้ประจำเดือนมามากและส่งผลให้ปวดท้องได้
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
- ปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)
- อุ้งเชิงกรานอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจส่งผลทำให้เป็นตะคริวและปวดได้
วิธีแก้ปวดท้องประจำเดือน
วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- รับประทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) พาราเซตามอล
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โยเกิร์ต
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ (low fat) เพื่อลดการสร้างกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acid) ซึ่งเป็นสร้างตั้งต้นทำให้เกิดกลไกการปวดประจำเดือน
- รับประทานวิตามินเสริม ได้แก่ วิตามินอี วิตามินบีหนึ่ง และโอเมก้า 3
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว/วัน โดยอาจดื่มน้ำร้อนเพราะอาจช่วยเพิ่มกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและช่วยคลายกล้ามเนื้อ ส่งผลให้อาจช่วยลดอาการปวดท้องที่เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 45-60 นาที/วัน อย่างน้อย 3ครั้ง/สัปดาห์ เช่น เดิน วิ่ง โยคะ ปั่นจักรยาน เพื่อช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี นอกจากนี้ ขณะออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้มีความสุข และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องเกร็งช่วงหน้าท้องมาก ๆ เพราะอาจส่งผลให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
- ประคบร้อน จากการศึกษาใช้ถุงน้ำร้อนอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ประคบบริเวณท้องน้อย ลดอาการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากความร้อนอาจช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- ลดความเครียด โดยอาจบรรเทาความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ โยคะ นวดบำบัด หรือหางานอดิเรกทำ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ไปเที่ยว เพื่อผ่อนคลาย
ทั้งนี้ หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนที่รุนแรงหรือเรื้อรัง ทานยาลดปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ประจำเดือนมาน้อย หรือมามากเกินไป ประจำเดือนขาดนานเกิน 3 เดือน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด