backup og meta

วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน และอาการผิดปกติที่ควรสังเกต

วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน และอาการผิดปกติที่ควรสังเกต

อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงนั้นมักพบเจอ โดยเฉพาะช่วงก่อนหรือระหว่างที่เป็นประจำเดือน และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก ดังนั้น จึงควรศึกษา วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน เพื่อช่วยบรรเทาอาการหรือเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากมีอาการที่รุนแรงขึ้นเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อน เช่น เนื้องอก มะเร็งมดลูก กลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องประจําเดือน

สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องประจำเดือนเกิดจากกล้ามเนื้อผนังมดลูกบีบตัว ส่งผลให้ขวางการไหลเวียนของออกซิเจนที่ส่งไปยังมดลูกชั่วคราว และเมื่อไม่มีออกซิเจนเนื้อเยื่อมดลูกจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากขึ้นเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนและส่งผลให้รู้สึกปวดท้องเกร็งรู้สึกปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย และยิ่งมีสารพรอสตาแกลนดินส์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มดลูกบีบตัวเพิ่มขึ้นที่นำไปสู่อาการปวดท้องประจำเดือนมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือน ดังนี้

  • การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และเนื้องอกในมดลูก พบได้มากบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ และเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน ที่อาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องเกร็งบริเวณท้องน้อยมาก
  • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis) เพราะอาจทำให้ประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอดยาก ส่งผลให้ความดันภายในมดลูกเพิ่มสูง จนนำไปสู่การอาการปวดท้องประจำเดือน
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จนนำไปสู่อาการปวดท้องประจำเดือน
  • ห่วงคุมกำเนิด เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ใช้ใส่ในโพรงมดลูกเพื่อช่วยคุมกำเนิด โดยอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องเมนส์เล็กน้อยโดยเฉพาะช่วงแรกของการใส่

วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน

วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน อาจทำได้ดังนี้

  • ประคบร้อน ใช้ถุงน้ำร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนและห่อด้วยผ้า วางไว้บนหน้าท้องส่วนล่าง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
  • ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen sodium) ใช้เพื่อช่วยลดระดับของสารพรอสตาแกลนดินส์ ที่เป็นสาเหตุทำให้มดลูกบีบตัวจนนำไปสู่อาการปวดท้องประจำเดือน ที่สามารถรับประทานจนกว่าอาการจะหายไปหรือตามคำแนะนำของคุณหมอ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและไต ควรรับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อป้องกันอาการปวดท้อง
  • ออกกำลังกาย เช่น การเดินช้า ๆ โยคะ โดยเฉพาะก่อนประจำเดือนมา เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้
  • นวดหน้าท้อง การนวดรอบ ๆ หน้าท้องส่วนล่างเบา ๆ อาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้
  • พักผ่อน ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง นอนหลับ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและช่วยให้สบายตัวจากอาการปวดท้องประจำเดือน
  • หยุดสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนแย่ลงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งปอด ตับแข็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดบวม โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เปลี่ยนรูปแบบการคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องประจำเดือน เนื่องจากการใส่อุปกรณ์คุมกำเนิดในช่องคลอด อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเกิดรูปแบบอื่น เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุมแบบรับประทาน ยาคุมแบบฉีดและแผ่นแปะคุมกำเนิด

หากอาการปวดประจำเดือนไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว โดยคุณหมออาจทำการรักษาด้วย การฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนในขณะนั้น รวมถึงป้องกันการกลับมาปวดประจำเดือนซ้ำโดยแนะนำให้กินยาคุมหรือฉีดยาคุมเพื่อลดอาการปวดประจำเดือน การฝังเข็มหรือการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ที่จะแปะแผ่นขั้วไฟฟ้าบริเวณหน้าท้องและส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

อาการผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ

สำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีอาการไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะใช้วิธีแก้ปวดท้องประจำเดือนเบื้องต้น รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดเมื่อยตัวร่วมด้วยจนรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและการนอนหลับ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสุขภาพร้ายแรง เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก ซีสต์ในรังไข่และการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานที่นำไปสู่อุ้งเชิงกรานอักเสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Period pain. https://www.nhs.uk/conditions/period-pain/.Accessed January 23, 2023

Period Pain. https://medlineplus.gov/periodpain.html.Accessed January 23, 2023

Period Pain: Could It Be Endometriosis?. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/period-pain-could-it-be-endometriosis.Accessed January 23, 2023

Menstrual cramps. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menstrual-cramps/symptoms-causes/syc-20374938.Accessed January 23, 2023

Menstrual Pain. https://www.webmd.com/women/guide/menstrual-pain.Accessed January 23, 2023

Dysmenorrhea: Painful Periods. https://www.acog.org/womens-health/faqs/dysmenorrhea-painful-periods.Accessed January 23, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้ทับระดู อาการป่วยเมื่อเป็นประจำเดือนที่ควรรู้

ประจําเดือนไม่มากี่วันท้อง และควรทำอย่างไรหากประจำเดือนไม่มา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา