backup og meta

ยารักษาหนองใน มีอะไรบ้าง และการดูแลตัวเองเมื่อเป็นหนองใน

ยารักษาหนองใน มีอะไรบ้าง และการดูแลตัวเองเมื่อเป็นหนองใน

ยารักษาหนองใน เป็นยาปฏิชีวนะที่มีทั้งรูปแบบยารับประทานและฉีดเข้าเส้นเลือดดำ โดยยาจะออกฤทธิ์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ช่วยรักษาการอักเสบและอาการอื่น ๆ ของโรคหนองใน สำหรับระยะเวลาและขนาดยาในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการพิจารณาของคุณหมอ จึงควรเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่องและป้องกันภาวะดื้อยาที่อาจทำให้โรคหนองในหายยากขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

หนองใน คืออะไร

หนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrhoeae) มักแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ป้องกันทั้งทางช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ทวารหนักและปาก รวมถึงการใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่นโดยไม่ล้างอุปกรณ์ให้สะอาด หรือหุ้มด้วยถุงยางอนามัยก่อนใช้งาน ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ มีหนองออกจากปลายองคชาต ปวดและบวมที่ลูกอัณฑะ ตกขาวเพิ่มขึ้น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องหรือปวดอุ้งเชิงกราน

นอกจากนี้ ทารกในครรภ์อาจติดเชื้อหนองในจากคุณแม่ที่ติดเชื้อได้ในระหว่างการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ดวงตาของทารกเกิดความผิดปกติได้

ยารักษาหนองใน มีอะไรบ้าง

ยารักษาโรคหนองในเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในผู้ใหญ่และทารก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ โดยยารักษาโรคหนองในอาจมีดังนี้

ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)

เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำเพื่อใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาเซฟไตรอะโซนต้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอเท่านั้น โดยคุณหมออาจฉีดยาวันละ 1 หรือ 2 ครั้ง ซึ่งปริมาณของยาขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของอาการ แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับทารกแรกเกิดและทารกคลอดก่อนกำหนด เพราะอาจเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการบวม แดง ปวดบริเวณที่ฉีด หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรืออาการแย่ลง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

ยาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin)

เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น หลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งวิธีการใช้ยาอะซิโทรมัยซินอาจทำได้ดังนี้

  • การใช้ยาอะซิโทรมัยซิน ต้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอเท่านั้น เป็นยาที่มีทั้งรูปแบบเม็ดและน้ำสำหรับรับประทาน โดยรับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1-5 วัน โดยปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและการพิจารณาของคุณหมอ
  • สำหรับยาชนิดน้ำ ควรเขย่าก่อนรับประทานและใช้ช้อน กระบอกฉีดยาหรือถ้วยตวงเพื่อวัดปริมาณยาที่ถูกต้องตามที่คุณหมอกำหนด
  • อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว ปวดท้อง แน่นท้อง หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม ลมพิษ มีหนอง แผลพุพอง เสียงแหบ เหนื่อยง่าย ปัสสาวะสีเข้ม หายใจหรือกลืนลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที

ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)

เป็นยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนัง แบคทีเรียที่ดื้อยา และการติดเชื้ออื่น ๆ ในร่างกาย โดยการใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน ต้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอเท่านั้น ซึ่งปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและการพิจารณาของคุณหมอ ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่คุณหมอแนะนำ เพื่อให้เชื้อถูกกำจัดจนหมดและป้องกันภาวะดื้อยา อย่างไรก็ตาม การใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย แน่นท้อง ผื่นลมพิษ บวม หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรืออาการแย่ลง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

ยาเจมิฟลอกซาซิน (Gemifloxacin)

เป็นยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ และอาจมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซึ่งการใช้ยาเจมิฟลอกซาซินต้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอเท่านั้น โดยรับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน 7 วัน หรืออาจนานกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อและต้องรับประทานในเวลาเดียวกันเป็นประจำทุกวัน อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาเจมิฟลอกซาซิน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เหนื่อยง่าย ปวดท้อง หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น ผื่น ผิวลอก คัน ลมพิษ บวมที่ตา ใบหน้า ลิ้น ลำคอ ริมฝีปาก หายใจหรือกลืนลำบาก เสียงแหบ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin)

เป็นยาปฏิชีวนะใช้รักษาโรคร้ายแรงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอมักให้ยาชนิดนี้ในการรักษาโรคหนองในหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน โดยคุณหมอจะฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้ออย่างช้า ๆ ในช่วง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ในทุก ๆ 6 หรือ 8 ชั่วโมง สำหรับระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยาเจนตามัยซินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ความอยากอาหารลดลง ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดหัว มีไข้ ปวดข้อ เหนื่อยง่าย หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่น ผิวลอก คัน ลมพิษ บวมที่ตา ใบหน้า ลิ้น ลำคอ ริมฝีปาก หายใจหรือกลืนลำบาก เสียงแหบ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)

เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น มีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย สำหรับระยะเวลาและปริมาณของยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการพิจารณาของคุณหมอ สำหรับยารับประทาน คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น สำหรับยาแบบฉีด คุณหมอจะฉีดยาไซโปรฟลอกซาซินเข้าทางหลอดเลือดดำ ใช้เวลาประมาณ 60 นาที ในทุก ๆ 8 หรือ 12 ชั่วโมง ซึ่งขนาดยาและระยะเวลาในการรับยาขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ โดยการใช้ยาไซโปรฟลอกซาซินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ มึนงง ปวดหัว หรือนอนไม่หลับ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรืออาการแย่ลง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

ในระหว่างการรักษาโรคหนองในควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาเสร็จสิ้น และหลังการรักษาควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน ก่อนกลับมามีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง

ในบางกรณีเชื้อแบคทีเรียอาจมีภาวะดื้อยาทำให้การรักษาในครั้งแรกไม่เป็นผลสำเร็จ คุณหมอจึงอาจทำการรักษาเพิ่มเติมเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียทั้งหมด โดยเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิดอาจเกิดภาวะดื้อยาไซโปรฟลอกซาซินได้มากขึ้น คุณหมอจึงอาจฉีดยาเซฟไตรอะโซนร่วมกับยาอะซิโทรมัยซิน เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา และไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจทำให้เกิดภาวะดื้อยาที่รุนแรงขึ้นได้

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นหนองใน

การปรับพฤติกรรมเพื่อดูแลตัวเองในขณะที่เป็นหนองใน อาจทำได้ดังนี้

  • หากพบว่าตัวเองมีอาการเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ มีหนองออกจากปลายองคชาต ปวดและบวมที่ลูกอัณฑะ ตกขาวเพิ่มขึ้น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องหรือปวดอุ้งเชิงกราน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพทางเพศทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยาและทำให้รักษาให้หายยากขึ้น
  • งดการมีเพศสัมพันธ์หรือการช่วยตัวเองในระหว่างการรักษาโรคหนองใน เพื่อป้องกันการอักเสบและการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ให้คู่นอนเข้ารับการตรวจโรคหนองในและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงทีและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนและน้ำเปล่า เพื่อขจัดการสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค จากนั้นควรซับอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการอับชื้นที่อาจเป็นที่อยู่ของเชื้อโรค
  • ไม่ควรใช้หรือแบ่งปันของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น โดยเฉพาะในขณะที่เป็นโรคหนองใน เพราะอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้
  • ไม่ควรรีดหนองในด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อลุกลาม อาการบวมแดง เจ็บปวดมากขึ้น
  • ใช้ยาตามนำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การรักษาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

“หนองใน” ดื้อยารักษาไม่หายด้วย “ซิโปรฟล็อกซาซิน”. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99-%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AB/. Accessed June 20, 2022

Gonorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gonorrhea/diagnosis-treatment/drc-20351780#:~:text=Adults%20with%20gonorrhea%20are%20treated,with%20oral%20azithromycin%20(Zithromax). Accessed June 20, 2022

Gonorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gonorrhea/symptoms-causes/syc-20351774. Accessed June 20, 2022

What’s the Treatment for Gonorrhea?. https://www.webmd.com/sexual-conditions/gonorrhea-treatment. Accessed June 20, 2022

Ciprofloxacin Tablet – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-7748/ciprofloxacin-oral/details. Accessed June 20, 2022

Gentamicin Injection. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682275.html. Accessed June 20, 2022

Gemifloxacin. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a604014.html/. Accessed June 20, 2022

Cephalosporins. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551517/#:~:text=Cephalosporins%20are%20beta%2Dlactam%20antimicrobials,%2C%20meningitis%2C%20and%20other%20infections. Accessed June 20, 2022

Azithromycin. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a697037.html. Accessed June 20, 2022

Ceftriaxone Vial – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-7013/ceftriaxone-injection/details. Accessed June 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/02/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีรักษาหนองใน กับสิ่งที่ควรรู้

หนองในแท้ อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา